ค่าเงินบาทวันนี้ 23 เม.ย.67 ‘อ่อนค่า‘ กังวลแนวโน้มดบ.เฟด-โฟลว์ซื้อทองคำ

ค่าเงินบาทวันนี้ 23 เม.ย.67 ‘อ่อนค่า‘ กังวลแนวโน้มดบ.เฟด-โฟลว์ซื้อทองคำ

ค่าเงินบาทวันนี้ 23 เม.ย.67 เปิดตลาด “อ่อนค่า“ที่ 37.06 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้ตลาดยังกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด กดดันราคาทองคำปรับตัวลงหนัก และมีแรงกดดันเงินบาทผันผวนอ่อนค่า ตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำจังหวะย่อตัว กรอบเงินบาทวันนี้ 36.95-37.15 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้" ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  37.06 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  37.00 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.95-37.15 บาทต่อดอลลาร์  

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงเล็กน้อย (แกว่งตัวในช่วง 36.98-37.10 บาทต่อดอลลาร์) แม้ว่าโดยรวมเงินดอลลาร์จะแกว่งตัวในกรอบ Sideways ทว่า ความกังวลสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่คลี่คลายลง ขณะที่ตลาดยังคงกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ก็กดดันให้ราคาทองคำปรับฐานลงหนักกว่า -1.2% หรือ เกือบ -30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และการปรับตัวลดลงของราคาทองคำดังกล่าว ก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง ตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว เนื่องจากในช่วงหลังผู้เล่นในตลาดต่างมีมุมมองเชิงบวกต่อทองคำและรอทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว (Buy on Dip) 

ค่าเงินบาทวันนี้ 23 เม.ย.67 ‘อ่อนค่า‘ กังวลแนวโน้มดบ.เฟด-โฟลว์ซื้อทองคำ

ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทยังถูกจำกัดในโซน 37.10 บาทต่อดอลลาร์ ตามแรงขายเงินดอลลาร์รวมถึงการทยอยลดสถานะ Long USD (มองเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น เทียบสกุลเงินหลัก) ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน 

แนวโน้มค่าเงินบาท

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า การอ่อนค่าของเงินบาททะลุโซนแนวต้าน 37.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้เปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถผันผวนอ่อนค่าต่อทดสอบโซนแนวต้านถัดไป 37.10-37.15 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก โดยเฉพาะในช่วงนี้ เงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ ขณะเดียวกัน เงินดอลลาร์ก็ยังมีโอกาสกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด จนทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด หรือ เพิ่มโอกาสที่เฟดอาจไม่ลดดอกเบี้ยได้เลยในปีนี้ นอกจากนี้ การปรับฐานของราคาทองคำในช่วงคืนที่ผ่านมาก็อาจเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาด (ที่ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มราคาทองคำ) ทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง 

ทั้งนี้ เรามองว่า แรงขายเงินดอลลาร์และการทยอยขายทำกำไรสถานะ Long USD (มองเงินดอลลาร์แข็งค่าเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ) ของผู้เล่นในตลาดอาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้างในระยะสั้นนี้ นอกจากนี้ บรรยากาศในตลาดการเงินที่กลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ก็อาจช่วยหนุนให้นักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทยเพิ่มเติมได้บ้าง

อย่างไรก็ตาม เรายังคงมองว่า ผู้เล่นในตลาดยังคงต้องเฝ้าระวังและติดตามความเสี่ยงที่ทางการญี่ปุ่นจะเข้าแทรกแซงตลาดค่าเงิน เพื่อหนุนให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น โดยเฉพาะหากเงินเยนได้อ่อนค่าทะลุโซน 155 เยนต่อดอลลาร์ 

อนึ่ง เรามองว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนสูง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางได้คลี่คลายลง นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างก็ทยอยเข้าซื้อหุ้นเทคฯ ใหญ่ ที่เผชิญแรงเทขายหนักในช่วงที่ผ่านมา อาทิ Nvidia +4.4% ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะยังไม่เพิ่มความเสี่ยงมากนัก เพื่อรอลุ้นรายงานผลประกอบการในไตรมาสที่ 4 และรอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่าง อัตราเงินเฟ้อ PCE ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาดราว +0.87%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้น +0.60% หนุนโดยสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่คลี่คลายลง นอกจากนี้ รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนฝั่งยุโรปส่วนใหญ่ก็ยังคงออกมาสดใสและดีกว่าคาด ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะ กลุ่มธนาคารฝั่งยุโรป และกลุ่มเทคฯ ในสหรัฐฯ ก่อนที่จะปรับสถานะถือครองที่ชัดเจน

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวแถวระดับ 4.60% โดยเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะประกาศในสัปดาห์นี้ อาทิ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ อัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีนี้ และอัตราเงินเฟ้อ PCE ก่อนที่จะตัดสินใจปรับสถานะถือครองบอนด์ที่ชัดเจนต่อไป ทั้งนี้ เราคงมองว่า แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลงมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ (เรายังไม่ได้เชื่อในสมมติฐาน No Landing) ซึ่งจะนำไปสู่การทยอยลดดอกเบี้ยของเฟดราว 3-4 ครั้งได้ ทำให้ เรามองว่า บอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีความน่าสนใจในทุกจังหวะการปรับตัวขึ้น (เน้นกลยุทธ์ทยอย Buy on Dip) โดยมี Risk-Reward ที่คุ้มค่ามากขึ้น นอกจากนี้ จากการศึกษาข้อมูลในอดีตยังพบว่า การทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวในช่วงก่อนเฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยได้จริง สามารถทำผลตอบแทนในช่วงระยะเวลา 1 ปี ได้ดีกว่า การเริ่มซื้อบอนด์เมื่อเฟดเริ่มลดดอกเบี้ยไปแล้วราว +3%

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมเคลื่อนไหวในกรอบ sideways โดยผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ อีกทั้ง ความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่คลี่คลายลง กอปรกับการเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ลดความน่าสนใจในการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังแกว่งตัวแถวโซน 106.1 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 106.0-106.4 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่คลี่คลายลง ได้ลดความน่าสนใจในการถือครองทองคำ นอกจากนี้ ความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดที่ยังคงมีอยู่ ก็ยิ่งกดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ปรับตัวลงแรงกว่า -1.2% สู่โซน 2,340 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งผู้เล่นในตลาดบางส่วนที่ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มราคาทองคำ ต่างก็ทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะปรับฐานดังกล่าว และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (Manufacturing and Services PMIs) ของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก ทั้ง สหรัฐฯ ยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่น เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาค รวมถึงแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลัก 

นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) รวมถึง ธนาคารกลางยุโรป (ECB)