ราคาทองวันนี้ (23 เม.ย.) ปิดตลาด ร่วงหนัก 1,050 บาท แรงเทขายคลายกังวลสงคราม
ราคาทองวันนี้ (23 เม.ย.) ปิดตลาด ร่วงหนัก 1,050 บาท จากแรงเทขายสินทรัพย์ปลอดภัย ทำกำไร หลังตลาดคลายกังวลสงครามตะวันออกกลาง ระหว่างวันผันผวน 17 ครั้ง ทองแท่งขายออก 40,350 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 40,850 บาท ด้าน YLG มองผันผวนระยะสั้น แนะขาย พร้อมหาจังหวะเก็บรับเทรนด์ขาขึ้น 2-3 ปี
ราคาทองวันนี้ (23 เม.ย.) สมาคมค้าทองคำ ประกาศปิดตลาด ปรับตัวลงถึง 1,050 บาท ราคาทองคำแท่ง ขายออก 40,350 บาท และ ราคาทองรูปพรรณ ขายออก 40,850 บาท ระหว่างวันเคลื่อนไหวปรับขึ้นลงทั้งหมด 17 ครั้ง ปรับขึ้น 6 ครั้ง ปรับลง 11 ครั้ง ต่ำสุด 40,350 บาท และสูงสุด 40,550 บาท
เนื่องมาจากได้รับแรงกดดันจากแรงเทขายทองคำสินทรัพย์ที่ปลอดภัยหลังคลายความกังวลเกี่ยวกับการสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน
นางสาวฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG) กล่าวว่า เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (22 เม.ย.) ราคาทองคำในตลาดโลกได้ปรับตัวลงอย่างรวดเร็วกว่า 60 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยในวันนี้ (อังคาร 23 เม.ย.) ทำระดับต่ำสุดที่ 2,295 ดอลลาร์ต่อออนซ์
โดยราคามีความผันผวนหลังเกิดแรงขายทางเทคนิค จากช่วงก่อนหน้านี้ปรับตัวขึ้นไปทำนิวไฮต่อเนื่อง ด้วยความกังวลเหตุปะทะอิสราเอล - อิหร่าน ล่าสุดสถานการณ์ไม่ได้มีสัญญาณการตอบโต้กลับ ทำให้นักลงทุนคลายความกังวล ส่งผลให้เกิดแรงเทขายทำกำไร ทำให้ราคาทองคำปรับตัวลดลง
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยกดดันจากกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐยังส่งสัญญาณตรึงอัตราดอกเบี้ยสูงไว้ และมีโอกาสที่จะเหลือการลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้เพียง 1 ครั้ง
สำหรับคำแนะนำนักลงทุนในวันนี้ ระยะสั้นแนะนำเปิดสถานะขาย หากราคาปรับตัวขึ้นไม่สามารถยืนเหนือโซนแนวต้าน 2,324-2,345 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และตั้งจุดตัดขาดทุน หากราคาผ่านแนวต้านบริเวณ 2,345 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และพิจารณาทยอยปิดสถานะขายเพื่อทำกำไร หากราคาย่อตัวลงไม่หลุดแนวรับบริเวณ 2,286-2,267 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ขณะที่ราคาทองคำในประเทศ 96.5% ประเมินแนวต้านไว้ที่โซน 40,750-41,150 บาทต่อบาททองคำ และแนวรับประเมินที่โซน 40,100-39,750 บาทต่อบาททองคำ
อย่างไรก็ตาม ความผันผวนของราคาทองคำมองว่าจะเกิดขึ้นแค่ในระยะสั้นเท่านั้น ภาพรวมทั้งปี วายแอลจี ยังคงเป้าหมายราคาทองคำในปีนี้ที่ 2,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนทองคำที่แข็งแกร่ง แม้ว่าจะไม่มีเหตุการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะความต้องการทองคำในระยะยาวที่มั่นคงของธนาคารกลางทั่วโลกกว่า 1,000 ตันต่อปีเป็นแรงหนุนสำคัญ และกระแสการลดอำนาจสกุลเงินดอลลาร์ (De-Dollarization) ก็สนับสนุนให้เกิดแรงซื้อทองคำสะสมของธนาคารกลางอย่างต่อเนื่อง ส่วนระยะยาว 2 – 3 ปี ยังมองเป็นขาขึ้นอย่างชัดเจน เนื่องจากแม้ปีนี้เฟดจะมีการยืดระยะเวลาการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายออกไป แต่ในระยะ 2 – 3 ปี อัตราดอกเบี้ยต้องปรับลดลงเพราะการคงอัตราดอกเบี้ยสูงไว้ในระยะยาวอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้มากเช่นกัน