สรุปประเด็นประชุมเฟดล่าสุด ‘เจอโรม พาวเวล’ ลั่นยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย
มัดรวมประเด็นสำคัญหลังการประชุมเฟดวันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค.2567 มีมติคงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 6 จับตา “เจอโรม พาวเวล” ยืนกรานไม่ขึ้นดอกเบี้ย เดินหน้าต่อสู้เงินเฟ้อสู่เป้าหมายที่ 2% ก่อนลดดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียวในปีนี้
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) นำโดย “เจอโรม พาวเวล” (Jerome Powell) ประธานเฟดได้แถลงการณ์ โดยมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% ถือเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 6 โดยการประชุมเฟดครั้งล่าสุด พาวเวลเผยว่าเฟดไม่มีท่าทีในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยพร้อมกับบอกเป็นนัยว่า การประชุมเฟดครั้งถัดไป “ก็ไม่น่าจะมี” การขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ส่งผลให้หุ้นพุ่งสูงขึ้นในช่วงระหว่างการซื้อขายก่อนปิดตลาดหลังจบการประชุมตลาด ทั้งดัชนีดาวโจนส์ ดีดตัวขึ้นกว่า 500 จุด หรือ 1.2% ด้านดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้น 0.8% และ ดัชนีแนสแด็กพุ่ง 1%
เฟดยืนกรานไม่ลดดอกเบี้ย
“การประชุมวันนี้หารือเรื่องการคงหรือลดดอกเบี้ยเป็นหลัก ไม่ได้มีการหารือถึงการขึ้นดอกเบี้ย"
"ผมไม่ทราบแน่ชัดว่าจะต้องใช้เวลานานแค่ไหน" ก่อนที่ผมและคณะกรรมการเฟดจะมีความมั่นใจเพียงพอที่จะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ย "ผมยืนยันได้ว่าเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในขอบเขตที่จำกัด และ ผมยังไม่ทราบว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด”
สำนักข่าวบลูมเบิร์กสะท้อนว่า ถ้อยแถลงของพาวเวลล์บ่งชี้ว่า เฟดมีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับสูงเป็นเวลานานขึ้น ซึ่งสื่อถึงการเปลี่ยนแปลงจากแนวคิดเดิมที่คาดการณ์ว่าเฟดจะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ โดยมีการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นจากความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับเงินเฟ้อ ซึ่งพุ่งสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ
เฟดมีเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2%
เฟดให้ความสำคัญกับการควบคุม “เงินเฟ้อ” เป็นอันดับแรก แม้ว่าจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้นก็ตาม โดยข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด ชี้ให้เห็นว่า อัตราเงินเฟ้อ การจ้างงาน และการใช้จ่ายของผู้บริโภค ยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ประกอบกับความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้เฟดมีท่าทีที่เข้มงวดมากขึ้น
ในช่วงแถลงข่าวหลังการประชุมพาวเวลล์กล่าวว่า “แน่นอนว่าเฟดไม่พอใจกับอัตราเงินเฟ้อ 3% และมุ่งมั่นจะนำเงินเฟ้อลง 2% ให้ได้” ก่อนที่จะดำเนินการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ข้อมูลล่าสุดที่ชี้ให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้ออาจหยุดชะงักหรือฟื้นตัว ซึ่งสร้างความกังวลให้กับผู้กำหนดนโยบาย
พร้อมกับพาวเวลล์ยอมรับว่า "ไมล์สุดท้าย" หรือช่วงสุดท้ายของการลดเงินเฟ้ออาจเป็นเรื่องยาก ซึ่งปัจจัยอื่นๆ ที่เฟดใช้พิจารณาในการตัดสินใจนโยบาย ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโดยรวม การเติบโตของราคาสินค้า และตลาดแรงงาน
ลดขนาดงบดุล=ลดเงินเฟ้อ
นอกจากนี้ เฟดยังประกาศชะลอการใช้มาตรการปรับลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) ซึ่งถือเป็นการเพิ่มการผ่อนคลายนโยบายการเงินของเฟด โดยพาเวลชี้แจงว่าการชะลอการลดขนาดงบดุลของเฟดไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อผ่อนคลายหรือกระชับนโยบายการเงินแต่เป้าหมายหลักของเฟดในการลดขนาดงบดุลลงเพื่อหลีกเลี่ยงความผันผวนในตลาดการเงิน
QT คืออะไร? เป็นเครื่องมือที่เฟดใช้เพื่อลดปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ ทำโดยการปล่อยให้พันธบัตรที่เฟดถือครองอยู่ครบกำหนดโดยไม่ซื้อใหม่ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มสูงขึ้น เงินเฟ้อลดลง
เฟดเริ่มใช้ QT ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 สู่เป้าหมายเพื่อลดเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น โดยเริ่มเฟดชะลอ QT ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 ซึ่งเฟดจะลดวงเงินพันธบัตรรัฐบาลที่ปล่อยให้ครบอายุโดยไม่ซื้อใหม่ เหลือ 25,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน จากเดิม 60,000 ล้านดอลลาร์ พร้อมคงวงเงิน MBS (ตราสารหนี้ค้ำประกันด้วยสินเชื่อที่อยู่อาศัย) ที่ 25,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน
ประชุมเฟดครั้งถัดไปไม่น่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ย!
พาวเวล ยืนกรานว่าการประชุมเฟด ในเดือนมิถุนายนมีโอกาสน้อยมากที่จะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย พร้อมอธิบายว่า เฟดจำเป็นต้องเห็นสัญญาณที่ชัดเจนว่านโยบายการเงินปัจจุบันของธนาคารกลางยังไม่เข้มงวดเพียงพอที่จะควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ที่ระดับเป้าหมาย 2%
เนื่องจากยังไม่มีหลักฐาน เพียงพอที่จะสนับสนุนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในตอนนี้ ซึ่งเฟดจะติดตามข้อมูลเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะปรับนโยบาย โดยเป้าหมายหลัก ของเฟด คือ การรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ และควบคุมอัตราเงินเฟ้อ
ปีนี้เฟดลดดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียว?
CME FedWatch คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียวในปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ทำให้นักลงทุนลดการเดิมพัน จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยประมาณ 6 ครั้งในปีนี้ เหลือเพียงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียวเท่านั้น
เคธี่ บอสจันซิช หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ บริษัท เนชั่นไวด์ มิวชวล ประกันภัย จำกัด กล่าวว่า "ปัจจัยพื้นฐานของพาวเวลล์ยังคงให้ความสำคัญกับการลดลงของอัตราเงินเฟ้อ นั่นหมายความว่ายังมีความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ แต่ไม่น่าจะถึง 3 ครั้ง”
พาวเวลไม่กังวลเรื่อง "stagflation" ในสหรัฐ
ทั้งนี้ พาวเวลได้ทลายความกังวลเกี่ยวกับ ภาวะ "stagflation" หรือ เศรษฐกิจชะลอตัว เงินเฟ้อสูง ในสหรัฐ ด้วยการอธิบายว่า ตัวเลข GDP ที่ชะลอตัวในสัปดาห์ที่แล้ว ไม่ได้บ่งบอกถึงภาวะ "stagflation"
เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐยังคงเติบโต ในอัตรา 3% และอัตราเงินเฟ้ออยู่ต่ำกว่า 3% ซึ่งพาวเวลล์ ยืนกรานว่า เฟดมีเครื่องมือเพียงพอ ที่จะควบคุมอัตราเงินเฟ้อโดยไม่ต้องชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจ