จำนอง Vs ขายฝาก ได้เงินไม่เท่ากัน แต่มีเงื่อนไขและภาษีต้องรู้ก่อนเลือก

จำนอง Vs ขายฝาก ได้เงินไม่เท่ากัน แต่มีเงื่อนไขและภาษีต้องรู้ก่อนเลือก

ทราบหรือไม่ว่า ระหว่าง "จำนอง" และ "ขายฝาก" ได้เงินไม่เท่ากัน โดยส่วนใหญ่ การจำนองจะได้วงเงินประมาณ 10-30% ของราคาประเมิน ส่วนการขายฝาก จะได้วงเงินประมาณ 40-70% แต่จะเลือกแบบไหน ต้องดูเงื่อนไขอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย

เชื่อว่าเป็นที่สงสัยกันมาตลอด หากถึงเวลาที่เราต้องนำทรัพย์สินไปแลกเปลี่ยนเป็นเงิน ควรเลือกวิธี "จำนอง" หรือ "ขายฝาก" ดีกว่ากัน? เพราะต้องยอมรับว่าทั้ง 2 วิธี มีข้อกำหนดและเงื่อนไขค่อนข้างคล้ายกันมาก จนทำให้หลายๆ คนอาจเผลอหรือพลาดเลือกวิธีที่ไม่เอื้อประโยชน์กับตนเองไปโดยไม่รู้ตัว และที่สำคัญยังมีเรื่องของภาษีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ดังนั้น โอกาสผิดพลาดทั้งผู้นำทรัพย์สินไปจำนองหรือขายฝาก และผู้รับจำนองหรือซื้อฝากย่อมมีสูง แถมยังส่งผลถึงเรื่องการเสียภาษีที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ด้วยเหตุนี้เราจึงควรมาทำความเข้าใจกับวิธี "จำนอง" และ "ขายฝาก" รวมถึงภาษีที่เกี่ยวข้องกัน ดังสามารถอธิบายได้ดังนี้

ลักษณะของการ "จำนอง"

จำนอง คือการนำทรัพย์สินมาเป็นประกันในการชำระหนี้เมื่อมีการกู้ยืมเงิน ซึ่งสามารถนำทรัพย์สินประเภทอสังหาริมทรัย์และสังหาริมทรัพย์ ที่มีทะเบียนตามที่กฎหมายกำหนดว่านำมาจำนองได้ เช่น รถยนต์ ที่ดิน บ้าน คอนโด โดยจะต้องนำสัญญาจำนองไปจดทะเบียนด้วย

แต่ผู้จำนองไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินที่จำนอง และมีสิทธิ์ใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินที่จำนองได้ต่อไป แต่หากมีการผิดนัดชำระหนี้ ผู้รับจำนองมีสิทธิฟ้องบังคับชำระหนี้และบังคับคลีกับทรัพย์สินที่จำนองได้ตามกฎหมาย รวมถึงในการจำนองหากมีข้อตกลงจะชำระหนี้จนครบเมื่อถึงกำหนดแต่กลับชำระไม่ครบ ผู้จำนองต้องชำระเงินเพิ่มเติมให้แก่ผู้รับจำนองจนกว่าจะครบ แม้จะถูกบังคับคดียึดทรัพย์สินที่จำนองแล้วก็ตาม

ลักษณะของการ "ขายฝาก"

ขายฝาก คือการนำทรัพย์สินประเภทอสังหาริมทรัพย์ และสังหาริมทรัพย์มาขายให้กับผู้รับซื้อฝาก โดยต้องทำสัญญาเอกสารขายฝาก และมีข้อตกลงว่าผู้ขายฝากสามารถไถ่ทรัพย์สินนั้นคืนได้ตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่ตกลงกัน ซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายฝากจะตกเป็นของผู้รับซื้อฝากทันทีที่ขายฝาก และได้ส่งมอบทรัพย์สินแก่ผู้รับซื้อฝาก

ทั้งนี้ ในกรณีทรัพย์สินที่ขายฝากเป็นอสังหาริมทรัพย์ จะต้องทำสัญญาขายฝากไปจดทะเบียน เช่น ที่ดินจะต้องทำสัญญาขายฝากไปจดทะเบียน ณ สำนักงานที่ดินที่มีเขตอำนาจ การขายฝากจึงจะมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย โดยหากผู้ขายฝากไม่ได้ไถ่ทรัพย์สินคืนตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ ผู้ขายฝากจะหมดสิทธิในการไถ่ทรัพย์สินคืน และผู้รับซื้อฝากไม่ต้องไปฟ้องบังคับตามสัญญาขายฝากอีก

กิจการรับจำนอง & ขายฝาก เข้าข่ายต้องเสียภาษีอะไรบ้าง

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

กรณีบุคคลธรรมดารับจำนองจากนิติบุคคล ผู้จ่ายเงิน (ดอกเบี้ย) ได้หักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้อัตรา 15% ผู้รับดอกเบี้ยจำนองสามารถเลือกไม่นำเงินได้มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีประจำปีได้ แต่ถ้าหากไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% ไว้ จะต้องนำมารวมเป็นเงินได้ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 มาตรา 40(4) กลุ่มของดอกเบี้ย โดยไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้

ส่วนกรณีขายฝาก ค่าสินไถ่ตอนไถ่ถอนได้ถูกเก็บภาษีเเล้ว จึงไม่ต้องนำมารวมเพื่อเสียภาษีอีก

ภาษีเงินได้นิติบุคคล

สำหรับผู้รับจำนอง หากประกอบกิจการให้กู้ยืมเงินในนามนิติบุคคล จะเข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการเยี่ยงธนาคาร กิจการต้องนำรายรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ซึ่งยังไม่ได้รับชำระดอกเบี้ยเงินกู้ มาถือเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อนำไปเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี นับจากวันที่ทำสัญญาจดจำนองที่กรมที่ดิน จนกว่าจะบอกเลิกสัญญากู้ยืมด้วยการบังคับจำนอง

โดยดอกเบี้ยในส่วนที่กิจการยังไม่ได้ชำระทั้งจำนวนนั้น หากมีการยกหนี้ กิจการต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะด้วย เว้นแต่มีเหตุอันสมควร

นอกจากนี้ยังต้องเสียค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนจำนอง ในอัตรา 1% จากวงเงินจำนองสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท ส่วนค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนขายฝาก จะต้องเสียในอัตรา 2% ของราคาประเมิน

อากรแสตมป์

นอกจากนี้ยังต้องเสียค่าอากรแสตมป์ ในกรณีการจำนองเพื่อเป็นประกันในการกู้ยืมเงิน หรือการตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารทุกจำนวนเงิน 2,000 บาท หรือเศษของ 2,000 บาท จะต้องเสียค่าอากรแสตมป์ 1 บาท แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนกรณีขายฝาก จะเสียค่าอากรแสตมป์ในอัตรา 0.5% ของราคาประเมิน หรือราคาขายฝาก แล้วแต่ราคาใดสูงกว่า

ภาษีธุรกิจเฉพาะ

การนำทรัพย์สิน ยกตัวอย่างเช่น ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไปจำนอง หรือขายฝากให้กับบริษัทที่ประกอบกิจการให้กู้ยืมเงิน จะเข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการเยี่ยงธนาคาร ซึ่งบริษัทที่รับจำนองดังกล่าวมีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

โดยรายรับค่าดอกเบี้ยจากการให้กู้ยืมเงินที่เป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ของเดือนภาษีก่อนที่ผู้ประกอบกิจการจะจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ ให้ยื่นแบบ ภ.ธ.40 เป็นรายเดือนภาษี ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ไม่ว่าจะมีรายรับจากการประกอบกิจการหรือไม่ก็ตาม โดยคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตรา 3.3% ของรายรับ พร้อมทั้งเบี้ยปรับอีก 2 เท่าของจำนวนภาษีธุรกิจเฉพาะ หรือเป็นเงิน 1,000 บาท แล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่า แต่ถ้าเสียค่าภาษีธุรกิจเฉพาะแล้ว ไม่ต้องเสียค่าอากรแสตมป์อีก

สรุป...ภาษีที่เกี่ยวกับกิจการที่รับจำนอง & ขายฝาก

โดยทั่วไปการจำนองส่วนใหญ่ ผู้จำนองจะได้วงเงินประมาณ 10-30% ของราคาประเมิน ส่วนการขายฝาก จะได้วงเงินประมาณ 40-70% ของราคาประเมิน ซึ่งจะมากกว่าการจำนอง แต่ต้องประเมินกำลังในการไถ่ถอนทรัพย์สินคืนให้ดี เพราะหากไม่สามารถไถ่ถอนคืนได้ตามเวลากำหนด ผู้ขายฝากจะหมดสิทธิในการไถ่ทรัพย์สินคืนทันที ทรัพย์สินตกเป็นของผู้รับซื้อฝากไปโดยปริยาย

ส่วนผู้ที่ได้รับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากผู้นำทรัพย์สินมาจำนำหรือขายฝากนั้น ก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีที่เกี่ยวข้องตามเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนดด้วย

 

อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่ 
Source : Inflow Accounting