เหลียวมองศก.อินเดีย ในวันที่ ‘The World Turns South’ แล้วการทูตไทยต้องไปทางไหน (?)
อ่านบทสัมภาษณ์ "รศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล" อาจารย์ประจำภาควิชา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจอินเดีย วิธีการบริหารประเทศของนายกฯ นเรนทรา โมดี รวมไปถึงทิศทางนโยบายทางการทูตของไทยในวันที่ทั้งโลกเริ่มให้ความสำคัญกับกลุ่มประเทศเอเชียใต้มากขึ้น
“อินเดีย” เป็นประเทศที่ได้รับการพูดถึงอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาในฐานะประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด จนกระทั่งในปลายปี 2021 ขยายตัวแซงหน้าอดีตเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษและกลายไปเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับห้าของโลกด้วยมูลค่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) 3.417 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2022
เศรษฐกิจอินเดียเติบโตได้ดีถึงขนาดที่ว่านเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียกล่าวอยู่หลายครั้งว่า “อินเดียจะกลายไปเป็นประเทศที่เศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสามของโลก” ในอีกไม่นาน และสิ่งที่น่าทึ่งก็คือประโยคดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่นายกฯ โมดีกล่าวขึ้นมาอย่างลอยๆ เท่านั้นเพราะในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาตัวเลขทางเศรษฐกิจจำนวนมากก็บ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกัน
ไม่ว่าจะเป็น จีดีพีที่ขยายตัวแซงหน้าหลายประเทศ มูลค่าตลาดหุ้นอินเดียที่แซงหน้าตลาดหุ้นฮ่องกง ตลาดหุ้นที่เคยได้ชื่อว่ามีมาตรฐานทางบัญชีที่น่าเชื่อถือจากการวางรากฐานของอังกฤษ รายได้ของประชาชนรายได้ปานกลางไปจนถึงสูงที่ขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ขยายตัวขึ้น รวมไปถึงตัวเลขประชากรอินเดียที่ขยายตัวแซงหน้าจีนกลายไปเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก
ดังนั้นในโอกาสที่การเลือกตั้งทั่วไปของอินเดียที่กินเวลาถึงหนึ่งเดือนเศษเริ่มขึ้น วันนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” ชวนพูดคุยกับ รองศาสตราจารย์ (รศ.) สุรัตน์ โหราชัยกุล อาจารย์ประจำภาควิชา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจอินเดีย วิธีการบริหารประเทศของนายกฯ โมดี รวมไปถึงทิศทางนโยบายทางการทูตของไทยในวันที่ทั้งโลกเริ่มให้ความสำคัญกับกลุ่มประเทศเอเชียใต้มากขึ้น
เปลี่ยนกฎระเบียบให้เอื้อต่อนักลงทุน
อาจารย์สุรัตน์เริ่มต้นเล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านั้นในช่วงปี 2013 เศรษฐกิจอินเดียยังได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มประเทศที่มีความเปราะบางมากที่สุดอันดับต้นๆ ของโลกหรือ “Five Fragile” ทว่าหลังจากช่วงสิบปีที่ผ่านมาภายใต้การบริหารงานของนายกฯ โมดีเศรษฐกิจก็เริ่มปรับตัวดีขึ้น โดย “เคล็ดลับสำคัญ” คือเขามองเห็นว่ากฎกติกาหลายอย่างไม่เอื้ออำนวยให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนหลังจากนั้นจึงเริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจให้ระเบียบต่างๆ ทั้งนิติรัฐและนิติธรรม เที่ยงตรง คาดการณ์ได้ และชัดเจนสำหรับนักลงทุนมากขึ้น
“ผมคิดว่าโมดีพยายามสร้างอาณาจักร (Regime) ขึ้นมาให้เอื้อต่อภาคธุรกิจ ให้นักลงทุนสามารถซื้อที่ดินและเช่าที่ดินได้ ผ่านการออกระเบียบข้อบังคับที่ชัดเจน เพราะเขาต้องการจะสื่อสารว่า ‘Make in India’ ไม่ใช่ Made นะ แต่เป็น ‘Come and Make it in India’ คือเข้ามาตั้งฐานการผลิตในอินเดียได้เลย”
เมื่อถามถึงอีกหนึ่งประโยคที่นายกฯ โมดีมักสื่อสารอยู่บ่อยครั้งคืออินเดียจะกลายไปเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี 2047 หรือ 100 ปีหลังจากได้รับเอกราช อาจารย์สุรัตน์แสดงความคิดเห็นว่า อินเดียมีความมุ่งมั่นที่จะทะยานขึ้นไปถึงจุดนั้นได้อย่างแน่นอนจากการที่เริ่มเปิดเศรษฐกิจเพื่อเอื้อภาคเอกชนมากขึ้น
“นโยบายที่ออกไปทาง ‘สังคมนิยมแบบประยุกต์’ ในยุคสมัยหนึ่งจำเป็นมากอย่างไรก็ตามตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 ซึ่งก็จะประจวบเหมาะกับการยุติของสงครามเย็นพอดี ทุกฝ่ายเริ่มตระหนักแล้วว่า วิถีแบบเดิมมันไปไม่ได้ จำเป็นต้องมีภาคเอกชนเข้ามาจัดการเรื่องเศรษฐกิจเพราะหลายอย่างถ้าปล่อยให้ภาครัฐทำ มันจะออกมาไม่ดี ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีประสิทธิผล ใช้จ่ายค่อนข้างเยอะ”
อาจารย์สุรัตน์เน้นย้ำว่า ระบบการเมืองการปกครองที่นิ่งและคาดการณ์ได้คือสิ่งสำคัญที่ช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในอินเดียให้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและมาอยู่ที่ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2022 “อินเดียมีกฎกติกาในด้านการเมืองการปกครองที่ชัดเจน มีรัฐธรรมนูญที่เริ่มร่างกันตั้งแต่ปี 1946 เสร็จเมื่อ 1949 แล้วจึงนำมาใช้ครั้งแรกเป็นสาธารณรัฐอินเดียในวันที่ 26 ม.ค. ปี 1950”
“นอกจากนี้ ผมคิดว่าเขาจับทางถูกว่าการจะทำให้เศรษฐกิจมีความกระตือรือร้นให้สามารถทำงานได้จริง ระบบทุกอย่างในประเทศต้องเชื่อมโยงกัน ทั้งหมดจึงจะทำให้ต่างชาติต้องการเข้ามาลงทุน”
อินเดียผู้ไม่เกรงกลัวมหาอำนาจหน้าไหน
“เมื่อระบบทุกอย่างเชื่อมต่อกันผนวกกับอินเดียมีปรัชญาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ลึกซึ้งมากที่ว่า อินเดียจะเลือกเดินแบบ ‘Multi Alignment’ คือไม่ต้องการจะไปมีเรื่องกับใคร แต่ขณะเดียวกันก็พยายามวางจุดยืนของตัวเองที่ค่อนข้างชัดเจน ไม่เกรงกลัวใคร จนสามารถที่จะต่อรองกับสหรัฐได้”
“ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ ในปี 2023 อินเดียเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ท่ามกลางความตึงเครียดที่โลกตะวันตกกับรัสเซียแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเรื่องยูเครน ท่ามกลางความตึงเครียดที่โลกตะวันตกกับจีนมีปัญหา อินเดียก็สามารถจัดการสิ่งเหล่านี้ได้ ทั้งหมดเป็นเพราะเขาเริ่มตกผลึก เริ่มมองเห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า ทิศทางที่จะเดินต่อไป มันจะต้องทำอะไร ทำแบบไหน หรือมีองค์ประกอบอะไรบ้าง”
ทุนนิยมกับ ‘กลุ่มทุนใหญ่’ ที่ครอบงำประเทศ
ทั้งนี้ เมื่อถามว่าเมื่อเศรษฐกิจอินเดียเปิดรับภาคเอกชนมากขึ้นจะนำไปสู่การที่กลุ่มบริษัทใดกลุ่มบริษัทหนึ่งมีอำนาจเหนือกลุ่มบริษัทอื่นๆ จากการสานสัมพันธ์กับภาครัฐหรือไม่ อาจารย์สุรัตน์ตอบว่า เกิดขึ้นอย่างแน่นอนและเป็นเรื่องที่น่ากังวลไม่ใช่เพียงในอินเดียแต่สำหรับทุกประเทศที่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม
“ทุนนิยมไม่สมบูรณ์แบบแต่ยังไงก็ตามมันก็แก้ไขตัวมันเองได้ด้วย จุดอ่อนที่ชัดเจนคือภาคเอกชนหรือมหาเศรษฐีเอกชนบางท่านมีอำนาจเยอะมาก บางประเทศสามารถกำหนดชะตากรรมได้เลย ผมคิดว่าปรากฏการณ์แบบนี้เป็นสิ่งที่น่ากังวล แล้วไม่ใช่แค่อินเดีย มันเกิดขึ้นทุกที่ ซึ่งคนที่โจมตีทุนนิยมเขาก็จะบอกว่า นี่คือองค์ประกอบอย่างหนึ่งของลัทธิเสรีนิยมใหม่ ท้ายที่สุดก็อาจจะไปเหยียบคันเร่งความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนให้ถ่างขึ้นไปอีก”
“ผมคิดว่ารัฐบาลหลายประเทศมีแนวโน้มที่จะทำอะไรตรงนี้ไม่ได้มาก เพราะมันมาจากพลังอำนาจแบบล็อบบี้ จากการช่วยลงขันในการเลือกตั้ง ผมว่าอินเดียก็หนีไม่พ้นที่จะมีสิทธิอยู่ในตรงนี้ แต่ในขณะเดียวกันพลังบางอย่างของอินเดียโดยเฉพาะที่มาจากรัฐธรรมนูญซึ่งมาจากระบบศาลที่ค่อนข้างแข็งแกร่งก็จะเข้ามาคานในระดับหนึ่ง
“สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องอาศัยขณะเดียวกันก็ต้องระวังด้วย เพราะโดยนิสัยของภาคเอกชนเขาไม่ได้เกิดมาทำกฐินหลวง เขาเกิดมาทำกำไรสูงสุด (Maximize Profit) มันคือสิ่งที่หนังสือเรียนเศรษฐศาสตร์จุลภาคหน้าแรกบอกไว้เลยว่าต้องเพิ่มพูนกำไร ดังนั้นสิ่งที่ภาครัฐทำได้คือต้องมีกฎกติกา วางเส้น ว่ามันแค่ไหน แบบไหน ถึงทำได้ อันนี้ผมก็ว่ามันเป็นความท้าทายระดับโลกเลยแหละ”
ยุคมืดของสหรัฐและพันธมิตรตะวันตก
เมื่อถามต่อว่า การที่เศรษฐกิจอินเดียเติบโตอย่างก้าวกระโดดและมีกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นมา เป็นหนึ่งปัจจัยสะท้อนถึงระเบียบโลกที่สหรัฐและพันธมิตรตะวันตกเป็นผู้นำกำลังถูกท้าทายหรือไม่ อาจารย์สุรัตน์กล่าวว่า
“ในเชิงสัมพัทธ์บทบาทของสหรัฐอเมริกากับสหภาพยุโรปกำลังตกต่ำ โดยระเบียบแบบเดิมที่สหรัฐเป็นผู้นำตั้งแต่ปี 1945 มันเริ่มที่จะถูกตั้งคำถามและท้าทายมากขึ้น การเลือกตั้งในสหรัฐเป็นอาการหนึ่งที่ฟ้องให้เห็นถึงสิ่งเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย American First หรือการต่อต้านผู้อพยพ”
“เพราะฉะนั้นระบบระหว่างประเทศ ตีเป็นร่มเงาใหญ่ก็คือองค์การสหประชาชาติ ที่ประกอบด้วยองค์การการค้าโลก (WTO) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และอื่นๆ ซึ่งสมัยหนึ่งสุดยอดมาก เป็นแนวคิดที่เหมาะกับศตวรรษที่ 20 แต่ไม่น่าจะเหมาะกับศตวรรษที่ 21 ดังนั้นเลยมีแนวคิดแบบ BRIC หรือวิถีคิดแบบ G20 ขึ้นมา ว่าโลกทั้งผองพี่น้องกัน ประเทศแอฟริกา ประเทศยากจน หรือ Global South ทั้งหลายไม่ได้รับความเป็นธรรมจากระบบระหว่างประเทศแบบเดิม ทั้งหมดก็เป็นสิ่งที่สะท้อนความเป็นจริงในระดับหนึ่งเลย”
“ในขณะเดียวกันไม่ว่าจะอินเดียหรือจีน เขาก็มองเห็นอย่างชัดเจนว่า การมีเพื่อนเป็นประเทศกลุ่ม Global South เหล่านี้ มันเสริมพลังให้เขาเช่นกัน เพราะฉะนั้นอันนี้มันก็เป็นประเด็นที่ผมคิดว่า มันคือความเปลี่ยนแปลงของโลกที่มันเกิดขึ้น อีกอย่างตัวเลขเศรษฐกิจทั้งหลายก็มากระจุกอยู่ละแวกเอเชียอยู่ไม่น้อยเลยและประเทศหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้เลยคือบังกลาเทศ”
เมื่อถามต่อว่า แล้วทิศทางนโยบายทางการทูตไทยควรปรับตัวเพื่อตอบรับเทรนด์ดังกล่าวให้มากขึ้นหรือไม่ อาจารย์สุรัตน์กล่าวว่า ควรอย่างยิ่งทว่าปัจจุบันการทำงานของข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศของไทยเป็นการทำงานแบบป้องปราม (Defensive) คือไม่มีเจ้าภาพในการจัดการและไม่มีเป้าหมายทางยุทธศาสตร์อย่างชัดเจนในการผลักดันเรื่องดังกล่าว
“ข้าราชการหลายส่วนจะรอให้คนมาเคาะประตูไม่ได้แล้ว ต้องไม่ใช่ Defensive แต่ควรเป็นแบบ Proactive หรือทำงานเชิงรุกมากขึ้น ต้องมองเห็น ผมไม่ได้หมายความว่าข้าราชการไทยขี้เกียจ แต่มันเหมือนว่าต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างใช้บุคลิกภาพของตน ใช้ความสามารถของตน ซึ่งผมมองว่ามันน่าจะต้องเป็นผู้ใหญ่ (Mature) กว่านี้เพื่อที่จะเดินไปข้างหน้าได้”
อาจารย์สุรัตน์เสนอว่า “ข้าราชการไทยต้องมองอินเดียไปไกลกว่าว่าเขามาเที่ยวบ้านเราแล้วใช้เงินเยอะสุดต่อหัวต่อวันกี่พันบาท ผมคิดว่านั้นเป็นสิ่งดี เป็นผลประโยชน์ของคนไทย แต่คนที่คิดอะไรในเชิงยุทธศาสตร์เขาต้องไปไกลกว่านั้น มันต้องหมายความว่าการลงทุนของเราจะเป็นอย่างไรในอนาคต เราจะไปลงทุนในที่นั้นอย่างไร เขาจะมาลงทุนกับเราอย่างไร เราจะคิดแบบเดิมไม่ได้แล้ว”
“ยกตัวอย่างให้เห็นภาพที่สุดคือหลังจากการประชุม G20 ที่ผ่านมา กลุ่มผู้นำคุยกันเรื่องระเบียงเศรษฐกิจอินเดีย-ตะวันออกกลาง-ยุโรป (IMEEC) ซึ่งเกี่ยวข้องกับอิสราเอล ซาอุดีอาระเบีย ยูไนเต็ดอาหรับเอมิเรตส์ แล้วก็ไปเชื่อมต่อกับยุโรปในเรื่องพลังงานและดิจิทัล ดังนั้นคำถามหนึ่งที่ข้าราชการไทยต้องถามคือว่า แล้วเราจะอยู่ตรงไหน เราจะทำอะไรได้มากกว่านั้นไหม”
หมายเหตุ: การเลือกตั้งทั่วไปของอินเดียเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 19 เม.ย. ที่ผ่านมา จนไปสิ้นสุดวันที่ 1 มิ.ย. (6 สัปดาห์) ในทั้งหมด 28 รัฐและ 8 ดินแดนในอาณัติ ซึ่งถือเป็นการเลือกตั้งครั้งใหญ่ที่สุดในโลกด้วยจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง 986 ล้านคน โดยทางการจะประกาศผลการเลือกตั้งวันที่ 4 มิ.ย.