แบงก์ รับ ‘หนี้เสีย‘ บัตรเครดิตพุ่ง จ่ายขั้นต่ำ8% ไม่ไหว
“เครดิตบูโร” เปิดพอร์ตสินเชื่อบัตรเครดิตไตรมาส 1 ปี 67 พบเป็น “หนี้เสีย” แล้ว 1 ล้านใบ และมีหนี้ค้างชำระอีกเกือบ 2 แสนใบ เพิ่มขึ้น 32% หลังขยับขั้นต่ำจ่ายบัตรเครดิตเป็น 8% “คาร์ด เอกซ์“ รับหนี้เสีย-ยอดค้างชำระพุ่ง ลูกหนี้เปราะบางเพิ่ม “เคทีซี- อิออน” ทรงตัว บริหารได้
หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการปรับการดำเนินนโยบายเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น เพราะประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ ส่งผลให้ต้องประกาศสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือทางการเงินหลายมาตรการ เพื่อให้สถานการณ์ไปสู่ระดับปกติมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือ การขยับการจ่ายขั้นต่ำของบัตรเครดิตเพิ่มเป็นขั้นบันได โดยปีนี้ เพิ่มเป็น 8% จาก 5% ในปี 2566 หลังปรับการจ่ายขั้นต่ำผ่านบัตรฯลงจากระดับ 10% เพื่อลดภาระทางการเงินในช่วงโควิด-19 และคาดว่าปี 68 เป็นต้นไปการจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตจะเข้าสู่ภาวะปกติสู่ 10% เช่นอดีตที่ผ่านมา
หลังจากการขยับจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นเป็น 8% โดยมีผลบังคับใช้มาแล้ว 3 เดือน หรือไตรมาสแรกที่ผ่านมา “เครดิตบูโร” พบว่า คุณภาพลูกหนี้น่าเป็นห่วงมากขึ้น
ลูกหนี้บัตรเป็นหนี้เสียเพิ่ม 1 ล้านใบ
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) กล่าวว่า ด้านคุณภาพหนี้บัตรเครดิตไทย ในไตรมาสแรกที่ผ่านมา พบว่าน่าห่วง โดยเฉพาะสินเชื่อบัตรเครดิตที่เป็นหนี้เสีย หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ มีจำนวนกว่า 1 ล้านบัตร คิดเป็นยอดเงิน 6.4 หมื่นล้านบาท เติบโต 14.6% จากปีก่อน
แต่ที่น่าห่วงกว่านั้นคือ หนี้ค้างชำระ หรือกลุ่มลูกหนี้ SM ที่ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน หรือหนี้ที่กำลังจะเสียพบว่ามีจำนวนบัตรที่ชำระหนี้ได้แบบตะกุกตะกักติดๆ ขัดๆ มีราว 1.9 แสนบัตร คิดเป็นจำนวนเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท เติบโต 32.4% จากปีก่อน ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 20.6% จากไตรมาสก่อนหน้า ดังนั้น ข้างหน้าต้องระวังหนี้ค้างชำระจะไหลเพิ่มขึ้น และแรงกว่าเดิมหรือไม่
Gen Y ค้างหนี้พุ่ง
ในไส้ในยังพบว่า กลุ่มที่ค้างชำระหนี้เกือบ 2แสนใบ เป็นบัตรที่เปิดมาแล้ว ไม่เกิน 2 ปี มีจำนวน 3.6 หมื่นบัตร อยู่ในมือคน Gen Y 2.3 หมื่นบัตร และเปิดมามากกว่า 2 ปี แต่ไม่เกิน 4 ปี มีจำนวน 3.9 หมื่นบัตร อยู่ในมือ Gen Y 2.7 หมื่นบัตร Gen X 9.2 พันบัตร เปิดมามากกว่า 4 ปี แต่ไม่เกิน 6 ปี 4.5 หมื่นบัตร อยู่ในมือคน Gen Y 3 หมื่นบัตร Gen X 1.2 หมื่นบัตร
“คำถามตัวโตๆ คือ SM จะไหลต่อเป็น NPLs อีกเท่าใดการกำหนดให้ชำระหนี้ขั้นต่ำเพิ่มขึ้นจาก 5%เป็น 8% และ 10%ตามลำดับมันช่วยแก้ปัญหาหนี้ได้จริงๆหรือไม่ ความจริงคนเรามีบัตรเครดิตได้หลายใบการเพิ่มอีก 3%ของยอดหนี้ในแต่ละใบคนไม่เคยเป็นหนี้อาจนึกไม่ออกว่าจะหมุนหาจากไหนไปจ่ายได้ เพราะหากดูแค่ 3เดือนกลิ่นมันแรงแบบโตขึ้น32.4%จากปีก่อน และเพิ่มขึ้น 20%จากไตรมาสก่อนหน้า มันไม่ธรรมดา”
นายสุรพล กล่าวว่า เหตุผลที่ลูกหนี้ค้างชำระหนี้มากขึ้น โดยเฉพาะลูกหนี้ในกลุ่ม SM ที่มีปัญหา ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่ามาจากการขยับการจ่ายขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเป็น 8% เพราะอย่าลืมว่า การที่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 3% นั่นอาจหมายถึงภาระหนี้ของลูกหนี้มหาศาล โดยเฉพาะลูกหนี้ที่ถือบัตรเครดิตหลายใบ ที่อาจต้องเผชิญกับภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นมาก จนมีผลกระทบต่อการชำระหนี้ตามมา
ดังนั้นข้อมูลไตรมาสแรก ของผู้ให้บริการบัตรเครดิต อาจเห็นหนี้เสีย และหนี้ค้างชำระยังคงไหลเพิ่มขึ้น เพราะลูกหนี้ยังเปราะบาง จากเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวสู่ระดับปกติ
ลูกหนี้บัตรกว่า 10 ล้านบัญชี จ่ายได้แค่ขั้นต่ำ
ด้านแหล่งข่าวจากคณะกรรมการแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชนรายย่อย มีการหยิบยกสภาพหนี้ของกลุ่มลูกหนี้บัตรเครดิตไทยเพื่อให้เห็นถึงสถานการณ์หนี้ที่น่าห่วง โดยระบุว่า ณ สิ้นไตรมาส 3 มีข้อมูลบัญชีบัตรเครดิตที่ 23.8 ล้านบัญชี คิดเป็นมูลหนี้ 5.46 แสนล้านบาท ซึ่งในนี้เป็นกลุ่มลูกหนี้ที่ชำระขั้นต่ำบัตรเครดิต หรือ Min Pay มากถึง 50% ของลูกหนี้ทั้งหมด หรือคิดเป็นกว่า 10 ล้านบัญชี ที่มีความสามารถในการจ่ายหนี้บัตรเครดิตระดับขั้นต่ำเท่านั้น
ส่วนหนึ่ง ลูกหนี้ไม่ทราบว่า การจ่ายขั้นต่ำ อาจต้องใช้เวลายาวนานในการชำระหนี้ ซึ่งอาจยาวไปถึง 20 ปี ซึ่งในต่างประเทศ
เช่น ประเทศอังกฤษ มีการออกเกณฑ์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อไม่ให้ตกอยู่ในวังวนของปัญหาหนี้บัตร โดยการปรับเป็นสินเชื่อ Term loan ที่มีระยะเวลาผ่อนชำระเพียง 3-4 ปี โดยการลดดอกเบี้ยลง เช่นเดียวกับสิงคโปร์ที่มีการให้เจ้าหนี้แปลงหนี้บัตรเป็น Term loan และลดดอกเบี้ยลงเหลือไม่เกิน 8% ต่อปี ซึ่งถือเป็นการช่วยอย่างแท้จริง และไม่สร้างภาระดอกเบี้ยเพิ่มเติมในภายหลัง
สำหรับลูกหนี้บัตรของไทย ที่ต้องเผชิญปัจจุบัน เมื่อเป็นกลุ่มหนี้เสีย บัตรเครดิตของไทย เมื่อลูกหนี้เป็นหนี้เสียแล้ว นอกจากปรับวงเงินบัตรเป็น Term loan แล้วยังควรปรับลดดอกเบี้ยลงมาแทนที่จะปล่อยให้ดอกเบี้ยทบต้นดอก จนสร้างภาระจำนวนมากให้ลูกหนี้ ส่งผลให้ช่วงที่ผ่านมา มีลูกหนี้บัตรเครดิตของไทย ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจำนวนมาก โดยหากดูเฉพาะหนี้ที่มีหมายการบังคับคดี แต่ยังไม่บังคับคดี
ล่าสุด เป็นบัตรเครดิตมีราว 2.99 แสนคดี วงเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท และหนี้ที่อยู่ระหว่างบังคับคดี ที่เป็นเฉพาะบัตรเครดิตอีก 7.9 หมื่นคดี คิดเป็นวงเงินรวมกว่า 7.5 พันล้านบาท
คาร์ด เอกซ์ รับหนี้เสีย-หนี้ค้างบัตรเครดิตพุ่ง
นายสารัชต์ รัตนาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คาร์ด เอกซ์ จำกัด กล่าวว่า ยอมรับว่า ด้านคุณภาพหนี้ของลูกหนี้บัตรเครดิต ในไตรมาสแรกที่ผ่านมา ด้อยคุณภาพลง ทั้งเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น และค้างชำระหนี้มากขึ้น หลักๆ มาจากเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ มาจากผลกระทบการขยับขั้นต่ำบัตรเครดิตเป็น 8% ทำให้ลูกหนี้บางส่วนไม่สามารถชำระหนี้ขั้นต่ำตามเกณฑ์ได้
สำหรับธนาคาร ปัจจุบันมีลูกหนี้ที่จ่ายขั้นต่ำ 5% จากสิ้นปี 2566 ไม่ถึง 10% ดังนั้น เมื่อขยับการผ่อนชำระเพิ่มขึ้นในกลุ่มนี้ เห็นความสามารถการชำระหนี้ลดลงได้ ซึ่งหากมองไปข้างหน้า มองว่าด้านหนี้เสีย และการค้างชำระหนี้ ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง เพราะลูกค้าโดยรวม ทั้งอุตสาหกรรมมีความเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะรายได้น้อย และกลุ่มรายได้ปานกลาง
“ลูกหนี้เราบางส่วนก็มีปัญหาชำระหนี้มากขึ้น จากการจ่ายขั้นต่ำไม่ได้ และบางส่วนลูกหนี้จ่ายได้ แต่จ่ายขั้นต่ำที่อื่นๆไม่ได้ เพราะมีหลายใบ จนสุดท้ายพอจ่ายไม่ได้ทั้งหมด ก็เลยลามมีปัญหาทั้งกลุ่ม ดังนั้น เวลานี้ลูกหนี้มีความเปราะบางมาก เป็นทั้งระบบ จากภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูงขึ้นมาก ดังนั้นในมุมของบริษัทต้องติดตามใกล้ชิดและให้ความช่วยเหลือเป็นกรณีๆไปตามมาตรการต่างๆที่มีอยู่”
“อิออน” พบหนี้เสียเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่มีนัยสำคัญ
นายนันทวัฒน์ โชติวิจิตร กรรมการบริหาร ฝ่ายการตลาด บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจากเริ่มใช้มาตรการดังกล่าวช่วง 2 เดือนแรก (งบไตรมาส 4 ของบริษัท) พบว่า หนี้เสียปรับเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ยังไม่มีนัยสำคัญ เนื่องจากมีเฉพาะลูกค้าบางรายที่ลืมว่า ต้องจ่ายขั้นต่ำจาก 5% เป็น8% แล้วทำให้ไม่ได้เตรียมเงินไว้ให้พอแต่หลังจากนั้นลูกค้าปรับตัวได้และหนี้เสียบัตรเครดิตของอิออน กลับมาทรงตัวในระดับปกติ จนถึงปัจจุบัน
“เคทีซี” ยังคุมคุณภาพหนี้และบริหารได้
นางประณยา นิถานานนท์ ผู้บริหารสูงสุด สายงานการตลาดบัตรเครดิต บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)หรือ KTC กล่าวว่า เคทีซี ยังสามารถควบคุมคุณภาพหนี้และบริหารจัดการลูกหนี้ก่อนเป็นหนี้เสียได้ดีแม้เริ่มใช้มาตรการจ่ายเพิ่มขั้นต่ำที่ 8% โดยหนี้เสียบัตรเครดิตของเคทีซี ไตรมาส 1 ปีนี้อยู่ที่ 1.2% ถือว่ายังทรงตัวเท่ากับช่วงเดียวกันปีก่อนและยังอยู่ต่ำกว่าหนี้เสียบัตรเครดิตทั้งระบบ
เนื่องจากลูกค้าบัตรเครดิตของเคทีซีสัดส่วน 70% จะชำระเต็มจำนวน ขณะที่สัดส่วนอีก 30% เป็นลูกค้าที่การชำระขั้นต่ำ แต่ส่วนใหญ่จะชำระเกิน 8% และหากเริ่มมีปัญหาชำระขั้นต่ำ เรายังสนับสนุนการช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ผ่านมาตรการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม เช่น เข้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ได้ 1 ครั้งก่อนเป็นหนี้เสีย เป็นต้น
รวมถึงมีการสื่อสารไปยังลูกค้าบัตรเครดิตของเคทีซี ไม่ให้ใช้จ่ายก่อหนี้เกินตัวรักษาความสามารถในการชำระเต็มจำนวนรวมถึงกระตุ้นการใช้ผ่านบัตรฯ เน้นการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆมากกว่า