‘ศุภวุฒิ‘ ชี้ ธนาคารกลาง มีความอิสระในการคุม ’เงินเฟ้อ’ ป้องกันถูกแทรกแซง
"ศุภวุฒิ" ชี้ ธปท.อิสระคุม ‘เงินเฟ้อ’ แต่ไม่ใช่องค์กรอิสระ ย้ำยังอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐ ชี้ความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ ตามกรอบกฎหมายไทยยังเขียนอีกว่าให้คำนึงถึงนโยบายของรัฐด้วย
ช่วงหลายวันที่ผ่านมา มีคำถามอย่างหนักจากบทบาทของ “ธนาคารกลาง” หรือ “แบงก์ชาติ” ว่า มีความเป็น “อิสระ” หรือไม่? ในการดำเนินนโยบายการเงินที่ถือเป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจไทยที่สำคัญ
ประเด็นเหล่านี้กลับมาเป็นคำถามมากขึ้น เพื่อหวังลดอำนาจ และความอิสระของแบงก์ชาติให้ลดลง เพื่อให้การดำเนินนโยบายการเงินสามารถทำได้ตอบโจทย์ทันท่วงที และเข้าใจถึงความเดือดร้อนของประชาชนมากขึ้น
“กรุงเทพธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ในหลายแง่มุมเกี่ยวกับบทบาทของธนาคารกลาง โดยเขามองว่า แบงก์ชาติยังคงมีความอิสระอยู่ค่อนข้างมากในปัจจุบัน
และบทบาทหรือหน้าที่ของ ธปท. ถือว่ามี 3 หัวใจหลักคือ การกำหนดอัตราดอกเบี้ย เพื่อที่จะคุมเงินเฟ้อควบคู่กับการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพ และสุดท้ายคือ การดูแลภาคสถาบันการเงิน
รวมถึง มีบทบาทในการตั้งเป้าเงินเฟ้อให้ชัดเจน อันนี้คือ หัวใจสำคัญของคำว่า “อิสระ” อิสระที่จะไปสู่เป้าหมายที่ชัดเจน และเป็นที่รู้กันทั่วไปคือ การดูแลเป้าหมายเงินเฟ้อ สอดคล้องกับธนาคารกลางทั่วโลกที่มีการกำหนด และคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในเป้าหมายอย่างอิสระ และในที่สุดระบบเศรษฐกิจจะปรับตัว และรู้ว่าเอาจริง จะไม่มีใครเข้ามาแทรกแซงได้ ทำให้คุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่ไม่สูงเกินไปได้จริง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ ขับเคลื่อนไปได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้จีดีพีโตได้เต็มศักยภาพ หากสามารถรักษาเสถียรภาพด้านราคาให้อยู่ในระดับที่ต่ำ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวม
ดังนั้น แบงก์ชาติจึงควรมีอิสระในการทำให้เงินเฟ้ออยู่ที่ระดับต่ำ และต่อเนื่องในระยะยาว แต่ไม่ใช่อิสระ โดยขาดการกำกับดูแล เพราะกฎหมายแบงก์ชาติเขียนชัดว่า ผู้ที่กำกับดูแลคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เช่นเดียวกับเป้าหมายเงินเฟ้อที่ต้องกำหนดร่วมกันกับกระทรวงการคลัง และต้องส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ และประกาศให้ประชาชนรับรู้
ฉะนั้น กรอบของความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ ตามกรอบกฎหมายไทยยังเขียนอีกว่า ให้คำนึงถึงนโยบายของรัฐด้วย ดังนั้น องค์กรแบงก์ไม่ใช่องค์กรอิสระ แต่มีอิสระในการทำให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายที่ตกลงกับกระทรวงการคลัง หากทำไม่ได้ตามเป้าหมายต้องเขียนจดหมายอธิบายไปพร้อมคำอธิบายว่าจะทำอย่างไรให้ไปสู่เป้าหมายได้
เช่น การกำหนดกรอบเงินเฟ้อทั่วไปที่ 1-3% ที่ตกลงร่วมกันกับกระทรวงการคลัง ที่ครม. รับทราบ หากไม่เป็นไปตามกรอบก็ไม่ได้บอกว่าเป็นความผิดแบงก์ชาติ เพราะหลายสถานการณ์อาจไม่ได้เป็นไปตามคาดหวัง กรณีวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ หรือวิกฤติโควิด-19 ที่ทำให้เงินเฟ้อผิดเป้าหมายได้
แต่หากเป็นสถานการณ์ปกติ แต่เงินเฟ้อไม่เข้าเป้าหมาย แบงก์ชาติอาจต้องอธิบายตัวเอง ต้องอธิบายให้สาธารณชนรับรู้ ดังนั้น จะมีทั้งเรื่องความสามารถในการดำเนินนโยบายเพื่อให้เงินเฟ้อเข้าเป้าหมายอย่างอิสระ
หากพูดถึงความเป็นอิสระ ในการดำเนินนโยบายการเงิน ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกัน เข้ามาแทรกแซงทางการเมือง เช่น กรณีต่างประเทศ ที่ให้การดำเนินนโยบายการเงินเป็นอิสระโดยธนาคารกลาง เพื่อป้องกันกรณีที่ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซง โดยเฉพาะใกล้เวลาเลือกตั้ง จากการที่นักการเมืองอาจมีความต้องการให้เศรษฐกิจพลิกฟื้นในระยะสั้น จึงอาจเข้าไปกดดันให้แบงก์ชาติ ลดดอกเบี้ยได้ ซึ่งแม้มีผลดีต่อระยะสั้น แต่จะทำให้เงินเฟ้อโตขึ้นไปเรื่อยๆ และเมื่อขึ้นไปแล้วลงยาก
ฉะนั้น เวลาพูดถึงการถูกการเมืองเข้ามาแทรกแซง ก็เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตเร็วกว่าที่คิด และเร็วกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งหากเงินเฟ้อจะลงยาก นั้นคือ เงื่อนไขหลักที่กลัวเมื่อพูดถึง การถูกการเมืองเข้ามาแทรกแซง
แต่กรณีประเทศไทย ในความรู้สึกของตนไม่ได้พูดถึง นักการเมือง แต่พูดในฐานะองค์กรของรัฐคือ กระทรวงการคลังที่ออกมาติง ธปท. ว่าดอกเบี้ยนโยบายสูงเกินไปหรือไม่ ซึ่งต้องตีความว่าเป็นการแทรกแซงของการเมือง หรือเป็นหน้าที่ขององค์กรของรัฐ ที่มีหน้าที่กำกับแบงก์ชาติ และสามารถแสดงความเห็นต่างได้ ดังนั้น ความเห็นตนมองว่าควรกลับมาตั้งคำถามว่า สถานการณ์ดอกเบี้ยปัจจุบันเหมาะสมหรือไม่ ที่จะเป็นประโยชน์กับประเทศมากกว่า
เพราะเศรษฐกิจปัจจุบันไม่ได้อยู่ในภาวะที่กำลังเลือกตั้ง หรือเศรษฐกิจเติบโตร้อนแรง เพราะหากมองภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน จากไตรมาส 3 ปีก่อน เติบโตได้ 1.5% ไตรมาส 4 โตเพียง 1.7% และไตรมาสแรกที่จะออกมาอาจออกมาไม่ดีเท่าที่ควร เช่นเดียวกับเงินเฟ้อที่ติดลบต่อเนื่อง และเพิ่งกลับมาได้เล็กน้อย และหากดูเป้าเงินเฟ้อตั้งเป้าที่ 1-3% ตอนนี้ยังห่างเป้าค่อนข้างมาก โดยเฉพาะไตรมาสแรกที่เงินเฟ้อติดลบ 0.8%
ดังนั้นแปลว่า เศรษฐกิจไทยไม่ได้มีปัญหาเงินเฟ้อ แต่มีปัญหาเงินฝืดหรือไม่? และจีดีพีไม่ได้โตร้อนแรง ดังนั้น การถกเถียงดอกเบี้ยว่า ดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% สูงเกินไปหรือไม่ ส่วนตัวมองว่า สูงเกินไปเพราะก่อนโควิด-19 เฉลี่ย 4-5 ปีก่อน ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.5-1.75% ขณะที่เงินเฟ้อเป็นบวกที่ 0.7% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงอยู่ไม่ถึง 1%
แต่วันนี้ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.5% ดังนั้นเป็นประเด็นที่น่ากลัวหรือไม่ว่า ดอกเบี้ยจะเป็นปัญหาที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจไม่ให้ฟื้นตัว ส่งผลที่ต้องตั้งคำถามคือ อัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันส่งเสริมให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจริงหรือไม่
“สิ่งที่แบงก์ชาติทำแน่นอนต้องการให้เศรษฐกิจฟื้นตัว และมองแนวโน้มเศรษฐกิจข้างหน้า โดยมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันเหมาะสม ดังนั้น คำถามผมไม่ใช่ดอกเบี้ยนโยบายที่ถูกต้อง ต้องอยู่ตรงไหน แต่มองว่าประเด็นนี้ต้องดีเบตได้คุยกันได้เพื่อถกเถียงกันว่าจริงหรือไม่”
ส่วนกรณีที่มีการพูดถึงการแก้กฎหมาย ธปท.เพื่อลดอำนาจของ ธปท. ลง ในหลักการมองว่า การแก้กฎหมายสามารถทำได้ เช่นเดียวกับกฎหมายอื่นๆ แต่ส่วนตัวมองว่า กฎหมายปัจจุบันของ ธปท. ถูกต้องดีแล้ว ส่วนบางความเห็นที่ต้องการให้แยกการกำกับสถาบันการเงินออกมาจาก การกำกับนโยบายการเงินนั้น มองว่าไม่ใช่เรื่องแปลก ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐ ก็มีการแยกการกำกับสถาบันการเงินออกมา จากการดำเนินนโยบายการเงิน และในอดีต ก็มีการเสนอให้การกำกับสถาบันการเงินออกมาแล้ว แต่จะต้องมีองค์กรที่จะมาดูแลเสถียรภาพสถาบันการเงินอย่างมีเสถียรภาพ
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์