รวม "Prompt..." Digital Payment ที่ต้องมี
Digital Payment หรือระบบการชำระเงินดิจิทัล เป็นกลไกสำคัญที่แบงก์ชาติตั้งใจพัฒนามาโดยตลอด เพื่อประโยชน์แก่ผู้ใช้บริการในวงกว้าง ตามแนวคิด “ถูก และ ดี” โดยเริ่มต้นจาก PromptPay ในปี 2559 พัฒนาสู่ Cross Border QR Payment และ PromptBiz ในปัจจุบัน
PromptPay คืออะไร และมีดีอย่างไร
PromptPay คือจุดเริ่มต้นของโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินแบบดิจิทัล ช่วยเพิ่มทางเลือกให้ผู้ใช้บริการสามารถโอนเงิน โดยใช้เลขประจำตัวประชาชน หรือหมายเลขโทรศัพท์มือถือ เพิ่มเติมจากเลขบัญชีธนาคาร เพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และยังมีการต่อยอดไปยังบริการอื่นเพิ่มเติม
เช่น การจ่ายเงินสวัสดิการภาครัฐไปสู่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้ตรง การคืนภาษีให้ประชาชนและภาคธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว การบริจาคแบบ e-Donation เพิ่มความสะดวกให้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษี โดยไม่จำเป็นต้องเก็บหลักฐานการบริจาคเอง
ปัจจุบัน คนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการสแกนชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ Thai QR Payment ซึ่งแบงก์ชาติผลักดันให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน จึงสามารถจ่ายค่าสินค้าและบริการได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง ไม่เว้นแม้แต่พ่อค้าแม่ค้ารายย่อย หาบเร่ แผงลอย ตลอดจนวินมอเตอร์ไซค์ ยังได้รับความสะดวกกันถ้วนหน้า เพื่อรับการโอนเงินค่าสินค้าและบริการเข้าบัญชีเงินฝากได้ทันที
นับตั้งแต่เปิดให้บริการปี 2559 มีคนลงทะเบียน PromptPay รวมแล้ว 77 ล้านหมายเลข ปริมาณการโอนเงินราว 61 ล้านรายการต่อวัน (โดยมีสถิติการใช้งานต่อวันสูงสุดอยู่ที่ 76 ล้านรายการเมื่อเดือน ธ.ค.ปีก่อน) สะท้อนถึงความนิยมเป็นวงกว้างจากประชาชน รวมถึงภาคธุรกิจ ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ ที่ได้รับประโยชน์จากการใช้บริการ
Cross Border QR Payment คืออะไร และมีดีอย่างไร
จากผลตอบรับที่ดีจากการใช้บริการ Thai QR Payment ภายในประเทศ แบงก์ชาติไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาต่อยอดบริการ PromptPay ให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างขึ้น ด้วยการเชื่อมโยงการโอนเงินบนระบบ PromptPay และชำระเงินด้วย QR Code กับต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีการแลกเปลี่ยนแรงงาน หรือการท่องเที่ยวระหว่างกันเป็นจำนวนมาก
ปัจจุบันไทยมีการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินกับ 8 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง และลาว
ผู้ใช้บริการที่เดินทางไป 8 ประเทศดังกล่าว สามารถใช้ Mobile Application ของธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) ที่เข้าร่วมโครงการ สแกน QR ของประเทศนั้น เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการได้ ด้านวงเงินขึ้นกับ ธพ.ที่ให้บริการ โดยกรณีลูกค้าไทยใช้จ่ายในต่างประเทศ จะมีวงเงินไม่เกิน 1 แสนบาทต่อรายการ หรือ 5 แสนบาทต่อวัน ซึ่งทางเลือกในการชำระเงินที่สะดวกและรวดเร็วนี้ เป็นประโยชน์แก่นักท่องเที่ยว ตลอดจนร้านค้าจำนวนมาก
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาบริการโอนเงินระหว่างประเทศแบบ Real-time ร่วมกับสิงคโปร์ได้สำเร็จเป็นคู่แรก ผ่าน PromptPay-PayNow เพิ่มด้วยนะคะ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกแก่คนทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะแรงงานที่สามารถโอนเงินโดยใช้ Mobile Application ผ่านหมายเลขโทรศัพท์มือถือไปยังบัญชีในธนาคารที่ร่วมโครงการ โดยผู้ใช้บริการได้รับความสะดวก รวดเร็ว และประหยัดเงิน
แบงก์ชาติไม่หยุดนิ่งในการทำเพื่อประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการอย่างทั่วถึงค่ะ โดยจะขยายการเชื่อมโยงไปยังประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่น อินเดีย ในไตรมาส 3 ของปีนี้ เพื่อครอบคลุมการให้บริการแก่ลูกค้ามากที่สุด และสนับสนุนธุรกรรมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว
Promptbiz คืออะไร และมีดีอย่างไร
โครงสร้างพื้นฐานทางการเงินและการชำระเงินกลางสำหรับภาคธุรกิจ ทำให้เกิดการทำธุรกิจแบบดิจิทัลที่สามารถข้ามธนาคารได้อย่างครบวงจร โดยมีการเชื่อมโยงข้อมูลการค้าและการชำระเงิน ตั้งแต่ข้อมูลใบแจ้งหนี้ไปสู่การวางบิล การชำระเงิน จนถึงการออกใบเสร็จได้ รวมทั้งสามารถต่อยอดการใช้ข้อมูลไปยังธุรกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องได้ด้วย เช่น การให้สินเชื่อธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs ที่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูล PromptBiz มาขอสินเชื่อซ้ำ (double financing) ได้
PromptBiz มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจแบบองค์รวมทั้งต่อภาคธุรกิจ ภาคการเงิน และภาครัฐ ดังนี้
ประโยชน์ต่อผู้ประกอบธุรกิจ
1.เพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ พัฒนากระบวนการทำงานให้เร็วขึ้น ลดเวลา ลดข้อผิดพลาดในการดำเนินงาน สามารถตรวจสอบธุรกรรมได้ และปิดข้อจำกัดในการทำธุรกรรมข้ามธนาคาร ซึ่งช่วยเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันของธุรกิจไทย โดยผู้ขายสามารถส่งข้อมูลใบแจ้งหนี้และใบเสร็จรับเงินได้สะดวกขึ้นในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ สามารถจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่จำเป็นต้องมีบัญชีทุกธนาคารตามที่ผู้ซื้อกำหนด
ด้านผู้ซื้อสามารถรับข้อมูลใบแจ้งหนี้ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ มีบริการแจ้งเตือน การชำระเงิน และได้รับใบเสร็จรับเงินโดยไม่ต้องทวงถาม
2.ลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการในรูปแบบเดิม เช่น ค่ากระดาษ ค่าจัดเก็บ ค่าขนส่งเอกสาร ค่าเช็ค ค่าจ้างแรงงาน และ ลดการก่อคาร์บอน (carbon footprint) ด้วย
3.เพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs ช่วยให้มีข้อมูลทางการค้าและการชำระเงินแบบดิจิทัล (digital footprint) ที่เชื่อถือได้ มาขอสินเชื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ประโยชน์ต่อผู้ให้บริการทางการเงิน สามารถให้บริการได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ เช่น มีฐานข้อมูลการค้าและการชำระเงิน มีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น และลดความเสี่ยง การให้สินเชื่อจากข้อมูลที่น่าเชื่อถือ รวมถึงสามารถต่อยอด ขยายการให้บริการ และสร้างนวัตกรรมทางการเงินหรือการชำระเงินใหม่ๆ บนระบบ PromptBiz เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจดิจิทัลในอนาคต เช่น information based lending
ประโยชน์ต่อภาครัฐ
เพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการภาครัฐ และสนับสนุนนโยบาย Digital Government ผ่านการปรับรูปแบบการให้บริการ ภาครัฐไปสู่ระบบดิจิทัลได้รวดเร็วและครอบคลุมยิ่งขึ้น เช่น การจัดจ้างและการชำระเงินของภาครัฐ รวมถึงต่อยอดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลในเชิงนโยบายต่อไป
ทั้งหมดนี้ เป็นสรุปงาน Digital Payment ซึ่งแบงก์ชาติตั้งใจทำมาโดยตลอดและจะยังคงพัฒนาต่อยอด ไม่หยุดนิ่งไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการทุกกลุ่ม ตลอดจนส่งเสริมศักยภาพและการแข่งขันของไทย
บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด