‘เครดิตบูโร’ ชี้ ครัวเรือนไทย เผชิญ ’หนี้ท่วม‘ จ่อถูกบังคับคดีพุ่ง 6.5 แสนคดี
“เครดิตบูโร” เปิดข้อมูลหนี้ครัวเรือนน่าห่วงขึ้นต่อเนื่อง “หนี้เสีย” ทะลัก 1.09 ล้านล้านบาท ไม่รวมหนี้ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน อีก 6.4 แสนล้านบาท สะท้อนลูกหนี้อ่อนแอหนัก ลามถูกฟ้องร้องกำลัง “ถูกบังคับคดี” ในไตรมาสแรกปีนี้อีก 6.5 แสนคดี
หากดูสถานการณ์ “หนี้ครัวเรือนไทย” ในปัจจุบัน ถือว่าน่าห่วงมากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 91.03% หรือคิดเห็นหนี้ครัวเรือนที่ 16.3 ล้านล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ในนี้หากแยกเฉพาะข้อมูลที่อยู่บนระบบของ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือ “เครดิตบูโร”มีอยู่ทั้งสิ้น 13.6 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้นราว 3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน สวนทางกับเศรษฐกิจไทย หรือ “จีดีพีไทย” ที่ขยายตัวต่ำต่อเนื่อง สะท้อนการสร้างหนี้ของครัวเรือนที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งอาจกู้มาเพื่อชดเชยกับสภาพคล่องที่เหือดแห้งลงในช่วงที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ให้มุมมองถึงสถานการณ์หนี้ในปัจจุบัน ว่า สถานการณ์น่าห่วงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะหากดูจากสินเชื่อรวมภายใต้ข้อมูลของเครดิตบูโรใน 13.6 ล้านล้านบาท ในนี้กลายเป็นหนี้เสียไปแล้ว 1.09 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 8% หากเทียบกับหนี้ทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาที่หนี้เสียอยู่เพียง 1.05 ล้านล้านบาทเท่านั้น สะท้อนว่าหนี้เสียยังคงไหลต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ในหนี้เสียจำนวน 1.09 ล้านล้านบาท ที่น่าห่วงคือ หนี้เช่าซื้อรถยนต์ ที่มีหนี้เสียถึง 2.38 แสนล้านบาท เติบโตขึ้นต่อเนื่อง 32% เป็นหนี้ที่อยู่อาศัยอีก 1.99 แสนล้านบาท เติบโตขึ้น 18.2% สินเชื่อบุคคลอีก 2.6 แสนล้านบาท เติบโตขึ้น 12% และบัตรเครดิต 6.3 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้น 14.6% ขณะที่หนี้ที่กำลังจะเสีย แต่ไม่เกิน 90 วัน หรือกลุ่ม SM เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.4 แสนล้านบาท เติบโตด้วยความเร็วราว 7% ไม่มาก
อย่างไรก็ตาม หากดูไส้ในเป็นยอดค้างชำระหนี้ 1.86 แสนล้านบาท เติบโตขึ้น 15% สินเชื่อรถยนต์ค้างชำระ 2 แสนล้านบาท หรือ 7% และที่น่าห่วงคือ สินเชื่อบัตรเครดิตมาอยู่ที่ 1.1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 32%
โดยเฉพาะบัตรเครดิตที่มียอดหนี้เสีย และหนี้ค้างชำระมากขึ้น หลังเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นมา หลังมีการปรับเกณฑ์การผ่อนชำระขั้นต่ำเป็น 8% จาก 5% การที่หนี้ที่กำลังจะเสียของบัตรเครดิตเติบโตขึ้น 32% สะท้อนความอ่อนแอ และความความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้มีสูงขึ้น
ปัจจุบันมีบัตรเครดิตที่เป็นหนี้เสียแล้วไตรมาสแรก 1 ล้านสัญญา มีสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ 5 ล้านสัญญา ดังนั้น หากบอกว่าปัญหาไม่ได้ร้ายแรงไม่น่าใช่ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท มีปัญหาและกำลังอยู่ในภาวะที่หนี้สินรุมเร้ามากขึ้น และหากยังเดินแบบนี้ปัญหาคดีความจะตามมาอีกมากในระยะข้างหน้า
“เฉพาะหนี้เสียบัตรเครดิต เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.3 หมื่นล้าบาท จาก 6.1 หมื่นล้านบาท โดยหนี้เสียวิ่งด้วยความเร็วประมาณ 15% หากเทียบกับปีก่อน การที่หนี้เสียวิ่งขนาดนี้ แล้วทุกตัว ไม่ว่า บ้าน บัตรเครดิต รถ สินเชื่อส่วนบุคคล สะท้อนว่าศักยภาพในการชำระหนี้ของลูกหนี้ยอมแล้ว ไม่ไหวแล้ว โดยเฉพาะรถยนต์หนี้เสีย 2.3 แสนล้าน โต 32% บัตรเครดิตค้างชำระหนี้เพิ่มขึ้น 32% เป็นอะไรที่น่ากังวลมาก ซึ่งสภาพนี้ต้องกังวล ไม่ธรรมดาแน่นอน สะท้อนความอ่อนแอมันมีมากขึ้น”
ด้านหนี้เสียบัตรเครดิต และยอดค้างชำระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น มาจากการปรับเพิ่มการจ่ายบัตรเครดิตที่ 8% หรือไม่นั้น เชื่อว่าทุกมาตรการที่ออกมา ผู้กำกับนโยบายก็ หวังผลสำเร็จ โดยหากให้ลูกหนี้ไม่อยากจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย เพื่อปิดเงินต้นเร็วขึ้น
แต่อย่าลืมว่า การจ่ายหนี้มากขึ้น จะต้องมาจากรายได้เพิ่มขึ้น จากธุรกิจฟื้นตัวเร็ว แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่ถึง2% ดังนั้นผลของการปรับมาตรการขั้นต่ำเป็น 8% จึงมีผลกระทบกับลูกหนี้บางกลุ่ม เพราะภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น 3% เป็นภาระที่หนักขึ้นสำหรับลูกหนี้ โดยเฉพาะผู้ที่มีภาระผ่อนหลายใบ
เป็นผลให้ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) บังคับให้แบงก์ปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ก่อนเป็นหนี้เสียก่อน 1ครั้ง เพื่อหยุดน้ำที่จะไหลเข้ามาต่อเนื่อง แต่เหล่านี้ยังมีเงื่อนไขของการปรับโครงสร้างหนี้ว่าต้องพิสูจน์ว่า รายได้มีความมั่นคงแน่นอนสม่ำเสมอ จะสามารถจ่ายหนี้ตามสัญญาใหม่ได้หรือไม่ แต่ถ้าลูกหนี้ได้รับผลกระทบเช่นถูกเลิกจ้าง ลูกหนี้จะเข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้ได้หรือไม่
ดังนั้น ต้องพิจารณาว่า “เบาะรอง” ให้คนที่กำลังทรุดตัวลงไป จะมีมาตรการอื่นๆเข้ามาเสริมหรือไม่? ซึ่งหากไม่รีบกลับมาดู หรือทบทวนด้วยความรวดเร็ว อาจจะสายเกินไป ดังนั้นหน้าที่ของคนที่มีข้อมูล จะต้องทบทวนนโยบายหรือมาตรการว่าควรปรับเปลี่ยนหรือไม่
“การผ่อนขั้นต่ำเป็น 10% เป็นสิ่งที่กังวลเยอะๆ เพราะลองคิดภาพแค่จ่ายขั้นต่ำที่ 5% ตึงมือ พอมาเป็น 8% หนี้เสียไหล 10% ยิ่งแย่ เหมือนบังคับคนผ่าไส้ติ่งให้รีบเดิน แต่ผมยังเป็นเบาหวานอยู่แผลยังไม่หายสนิทเร็ว ดังนั้นความหวังดีตรงนี้จะทำให้ท้ายที่สุด จะทำให้ต้องกลับเข้าโรงหมอด้วยอาการสาหัสมากขึ้นหรือไม่ อันนี้อาการมันออก แค่3เดือนหนี้กระโดดขึ้นมาที่ 32%”
กลุ่มที่น่าห่วง และมีโอกาสไหลเข้ามาเป็นหนี้เสียมากขึ้นในระยะข้างหน้า คือบัตรเครดิต และสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ โดยเฉพาะสินเชื่อบ้านที่มีราคาบ้านต่ำกว่า 3 ล้านบาทลงมา กลุ่มนี้มีรายได้ไม่มากนัก
ขณะเดียวกันที่น่ากังวลอีกด้าน คือจากข้อมูลของ คณะทำงานในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชน พบว่า ไตรมาสแรกปี 2567 มีคดีที่ถูกฟ้องแพ่ง 458,005 คดี คดีส่วนอาญา มี 1.84 แสนคดี คดีคดีส่วนอาญา มี 1.84 แสนคดี คดีปรับพินัย 123 คดี รวมทั้งสิ้นมีคดีที่เข้าสู่การฟ้องร้องและการพิจารณาของศาลรวม 643,632 คดี
โดยใน 5 อันดับแรก คือ ที่เป็นคดีผู้บริโภค พบว่า เป็นคดีที่มาจากการกู้ยืม 5.2 หมื่นข้อหา คดีบัตรเครดิต 4.4 หมื่นข้อหา สินเชื่อบุคคล 4.2 หมื่นข้อหา สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 2.9 หมื่นข้อหา และค้ำประกันอีก 1.1 หมื่นข้อหา
หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2566 พบว่า มียอดฟ้องลูกหนี้ทั้งสิ้น 1.89 ล้านคดี เป็นคดีแพ่งมากถึง 1.34 ล้านคดี โดยเป็นคดีผู้บริโภคมากที่สุด 7 แสนคดี ที่กระทบต่อความเป็นอยู่ของลูกหนี้หลายครัวเรือนให้ได้รับผลกระทบ เพราะมีลูกหนี้เป็นเดิมพัน ต่างกับปี 40 เป็นการฟ้องร้องนิติบุคคลที่ไม่มีชีวิต แต่ปีนี้ เป็นการฟ้องคนที่มีชีวิต ดังนั้น การแก้ไขปัญหาหนี้ครั้งนี้ถือว่ายากมากขึ้น
ไม่เฉพาะลูกหนี้เสีย ที่อาจได้รับผลกระทบจากการฟ้องร้องยึดทรัพย์ตามมา แต่ลูกหนี้กลุ่ม SM ก็เช่นเดียวกัน ที่หากไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ และไหลไปเป็นหนี้เสีย และไม่สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ เหล่านี้ท้ายที่สุดก็จะเข้าสู่การดำเนินคดีทางกฎหมายเช่นเดียวกัน ดังนั้นน่าห่วง เพราะแนวโน้มการฟ้องร้องคดีต่างๆมีแนวโน้มยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่าปีนี้จะเห็นไม่ต่ำกว่า 1ล้านคดี
“ตอนนี้เห็นแผ่นดินไหวตรงบัตรเครดิต เมื่อเทียบกับไตรมาส4 เราเห็นแผ่นดินไหวที่สินเชื่อรถยนต์ เราเห็นอาฟเตอร์ช็อกที่หนี้บ้าน และไตรมาสแรกปีนี้แผ่นดินไหวที่บัตรเครดิต เมื่อไหร่ก็ตามที่ 4 หนี้เกิดแผ่นดินไหวพร้อมๆกัน สึนามิจะมา ผมถึงบอกว่าหากถึงวันนั้น สึนามิไหลบ่าเข้ามาในแผ่นดิน มันคือความเสียหาย และสิ่งที่ส่งสัญญาณมาแล้วคือการยื่นฟ้องเมื่อปีก่อน1.3ล้านคดีที่เป็นคดีแพ่ง วนเวียนอยู่ที่สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครติต และปีนี้มีอีก4.5แสนคดีที่เป็นคดีแพ่ง ที่เป็นภาพที่เราเห็นในวันนี้”
สุดท้ายแล้ว ไม่มีใครอยากเห็นสถาบันการเงินไม่เข้มแข็ง แต่คำถามคือ หากคุณภาพลูกหนี้อ่อนด้อยลง สถาบันการเงินก็ไม่มีทางเข้มแข็งไปมากกว่าคุณภาพลูกหนี้ ดังนั้นต้องชั่งใจว่า จะเก็บลูกหนี้ไว้ หรือขายทิ้งลูกหนี้ หรือปล่อยให้เข้าสู่กระบวนการฟ้องร้อง เป็นเรื่องที่สถาบันการเงินต้องชั่งน้ำหนักมากขึ้น!
รับชมคลิปเต็มได้ที่นี่ https://youtu.be/weA6HAMdIxQ?si=-r1f9aqAp2-vcM_3