นายกสมาคมค้าทองคำ ชี้ราคาทอง พุ่งขึ้นแตะ 45,000 บาท คาดยังเห็นในไตรมาส 3 นี้
ราคาทองเด้งรอบนี้ รับอานิสงส์อื้อ นายกสมาคมค้าทองคำ คาดในไตรมาส 3 นี้ ยังเห็นปรับขึ้นแตะ 45,000 บาท จากแนวโน้มเฟดเริ่มลดดบ.ครั้งแรกได้ ตามที่ตลาดคาด ลุ้นทยอยแถลงปธ.เฟด หากทองนอกยืนเหนือ 2,445 ดอลลาร์ ได้ ขณะที่เงินบาทชะลอการแข็งค่า หนุนราคาทองไทยขยับขึ้นต่อ
วันนี้ (20 พ.ค.) มีหลายสถานการณ์เข้ามา หนุน ราคาทองคำ พุ่งแรง ทั้งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนและความหวังครั้งใหม่ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ตลาดคาด 2 ครั้งในปีนี้
ที่สำคัญ นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย จากความตึงเครียดในตะวันออกกลางหลังมีรายงานว่านายอิบราฮิม ไรซี ประธานาธิบดีอิหร่าน เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตก
นับตั้งแต่เปิดตลาดเช้าจนถึงช่วงบ่ายวันนี้ (ณ 14.00 น.) ราคาทองคำ Spot ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากสุดสัปดาห์สู่บริเวณแถวๆ 2,445.40 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จากราคาเปิด 2,421.70 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ระหว่างวัน สูงสุด 2,454.10 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และต่ำสุด 2,421.10 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ช่วยหนุน “ราคาทองไทย” เปิดตลาด พุ่งพรวดเดียว 350 บาท แตะระดับสูงสุดครั้งใหม่ของเดือนพ.ค. บริเวณ 41,550 บาท หลังจากประกาศราคาซื้อขายครั้งเดียวประจำวันเสาร์ที่ผ่านมาก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นแรงเท่ากัน 350 บาท โดยระหว่างวัน ยังเคลื่อนไหวผันผวนขึ้นลง 11 ครั้ง รวมปรับขึ้น 250 บาท ปรับขึ้น5 ครั้งและปรับลง 6 ครั้ง ระหว่างวันยังทรงตัวในระดับสูงที่ ราคาสูงสุด 41,550 บาท และปรับลงที่ระดับต่ำสุด 41,400 บาท
กูรูทองคำ ชี้เห็นที่ 45,000 บาท ในไตรมาส 3 นี้
อย่างไรก็ตาม ตลาดยังให้ความสำคัญกับสัญญาณเพิ่มเติมของเฟด หลังจากรายงานเงินเฟ้อสหรัฐที่อ่อนตัวในเดือนเม.ย. ทำให้เกิดความหวังว่าเฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยภายในเดือนก.ย. นี้
สอดรับกับ นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ มองว่า เราต้องรอความชัดเจนสัญญาณเฟดเพิ่มในวันพรุ่งนี้ หาก ราคาทองนอก ยืนเหนือแนวต้าน 2,445 บาทติดอลลาร์ ได้ต่อเนื่องก่อน มีโอกาศเห็นนิวไฮใหม่แน่นอน จากปัจจัยหนุนที่มีอยู่ ยังมีแนวโน้มเป็นขาขึ้นต่อในปีนี้ แต่ระยะสั้นราคาทองคำจะยังผันผวนเช่นนี้ จากในวันนี้ที่ราคายังผันผวนปรับขึ้น ทะลุไฮเดิมแล้วแต่ยังมีจังหวะย่อลงมา
ด้านราคาทองไทย นั้นจากที่เงินบาท ขยับแข็งค่าขึ้น ยังกดดันราคาทองไทยยังขึ้นได้ไม่แรงเท่าราคาทองนอก ซึ่ฃหากเงินบาทอ่อนค่า ในสถานการณ์เช่นนี้ ราคาทองไทย จะทะลุ 42,000 บาท แน่นอน
แม้ระยะสั้น ราคาทองคำไทย ยังผันผวน โดยทิศทางค่าเงินบาทเป็นตัวกำหนด ทว่าราคาทองไทย ยังมีปัจจัยหนุนทยอยปรับขึ้นต่อได้ คาดว่า ช่วงไตรมาส 3 นี้ ยังได้เห็นราคาทองไทย ปรับขึ้นแตะที่ 45,000 บาท จากเฟดมีโอกาสเริ่มลดดอกเบี้ยได้ในช่วงนี้จากจำนวน 2ครั้งในปีนี้
แนะกลยุทธ์การลงทุนทองคำระยะสั้น ถือรอความชัดเจนในวันพรุ่งนี้ หากเริ่มยืนเหนือระดับ 2,454 บาทต่อดอลลาร์ ได้ต่อเนื่อง เริ่มทยอยแบ่งไม้ขายทำกำไร
ราคาทองคำทยอยปรับตัวขึ้น ตลาดคลายกังวลแนวโน้มดบ.เฟด
ไฮไลท์สำคัญ : ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะประธานเฟด Jerome Powell
นักวิเคราะห์ทองคำในตลาด ต่างคงมุมมองเดิมว่า แนวโน้มราคาทองคำจะขึ้นกับ ทิศทางเงินดอลลาร์ และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จากปัจจัยแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด โดยในสัปดาห์นี้ ควรระวัง!! ความผันผวนของราคาทองคำ ในช่วงตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่าง ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด
"เรามองว่า การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำทะลุโซน 2,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อาจเปิดความเสี่ยงที่ราคาทองคำจะย่อตัวลงได้ โดยเฉพาะหากตลาดกลับมากังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดมากขึ้น"
ในเชิงเทคนิคัลรายวัน พบว่า ราคาทองคำมีโอกาสลุ้นปรับตัวขึ้นต่อได้ แต่มีแนวโน้มแกว่งตัว sideways อาจยังติดแถวแนวต้าน 2,450 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ แกว่งตัว sideways โดยเริ่มเห็นความเสี่ยงที่ราคาทองคำอาจย่อตัวลงได้ เช่นกัน
เงินบาทแข็งเริ่มชะลอลง หนุนทองไทยปรับขึ้นต่อ
ส่วนทางด้านเงินบาทในเชิงเทคนิคัลรายวัน ชี้ว่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นบ้าง หรือ อาจแกว่งตัว sideways โดยมีแนวรับหลักแถว 36.00 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับถัดไป 35.80-35.85 บาทต่อดอลลาร์) ส่วนแนวต้านจะอยู่แถว 36.35 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านถัดไป 36.50 บาทต่อดอลลาร์) ส่วนสัญญาณจาก Stochastic ชี้ว่า เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงได้ จากโซนแนวรับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์
หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมาและวันนี้ (20 พ.ค.) เงินบาท "แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง" หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด จากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ที่ชะลอลงตามคาด นอกจากนี้ เงินบาทก็ได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากทั้งแรงซื้อสินทรัพย์ไทย และโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำทยอยปรับตัวขึ้น
นักวิเคราะห์ตลาดการเงินธนาคารพาณิชย์ ต่างมองว่า โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา อาจชะลอลงได้บ้าง โดยเฉพาะในกรณีที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ (ดัชนี PMI) ออกมาดีกว่าคาด
นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งส่วนใหญ่อาจย้ำจุดยืนไม่รีบปรับลดดอกเบี้ยได้
และนอกจากปัจจัยแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักอื่นๆ โดยเฉพาะ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ผ่านรายงานดัชนี PMI, อัตราเงินเฟ้อ CPI และยอดค้าปลีก เป็นต้น
ส่วนในฝั่งของ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา รายงานดัชนี PMI และอัตราเงินเฟ้อ CPI เช่นกัน ซึ่งหากออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจกดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าทะลุโซน 156 เยนต่อดอลลาร์ได้
สำหรับในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงาน GDP ไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งหากออกมาแย่กว่าคาด หรือ “ติดลบ” อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มเชื่อว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจพิจารณาลดดอกเบี้ยได้ในปีนี้ กดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้
สำหรับ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ เรามองว่า นักลงทุนต่างชาติมีโอกาสขายสุทธิสินทรัพย์ไทยได้ หากบรรยากาศในตลาดกลับมาปิดรับความเสี่ยง โดยเฉพาะในจังหวะที่ ดัชนี SET ก็เข้าใกล้โซนแนวต้าน ส่วนเงินบาทก็ติดอยู่แถวแนวรับหลัก (และมีโอกาสรีบาวด์ขึ้น)
นอกจากนี้ ตลอดทั้งสัปดาห์อาจมีโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติราว 1.3 หมื่นล้านบาท ที่อาจกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้