แบงก์ชาติ เปิดหนี้เสีย ‘ธุรกิจ-รายย่อย’ทะลัก กลุ่มเปราะบางค้างชำระพุ่ง

แบงก์ชาติ เปิดหนี้เสีย ‘ธุรกิจ-รายย่อย’ทะลัก กลุ่มเปราะบางค้างชำระพุ่ง

“แบงก์ชาติ” เปิดภาพรวมผลประกอบการ “ธนาคารพาณิชย์” พบไตรมาสแรก “หนี้เสีย” ทะยาน ทั้ง “ธุรกิจ-รายย่อย” ขยับขึ้นทุกกลุ่ม ดันหนี้เสียทะลุ 5 แสนล้านบาท ชี้มาจาก “กลุ่มเปราะบาง” โดยเฉพาะรายได้ไม่เกิน 1.5-2 หมื่นบาทต่อเดือน เผยค้างชำระหนี้พุ่ง

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สำหรับภาพรวมธนาคารพาณิชย์ไตรมาสแรก ปี 2567 สินเชื่อโดยรวม พบว่า กลับมาขยายตัว 0.7% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากก่อนหน้าที่ติดลบ โดยหลักๆ มาจากสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ ในภาคอุตสาหกรรมที่ยังเติบโตได้

โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร ปิโตรเลียม และเคมีภัณฑ์ ขณะที่สินเชื่อธุรกิจพบว่าธุรกิจที่มียอดขายต่ำกว่า 500 ล้านบาท ยอดสินเชื่อติดลบต่อเนื่องที่ 5.10%

หากดูภาพหนี้เสีย หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปรับขึ้นทุกพอร์ตสินเชื่อ ทั้งสินเชื่อรวม สินเชื่อธุรกิจ และสินเชื่ออุปโภคบริโภค

โดยเอ็นพีแอลโดยรวมของธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 5.02 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 2.74% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องราว 9,800 ล้านบาท จากไตร สิ้นปี 2566 ที่หนี้เสียโดยรวมอยู่ที่ 4.92 แสนล้านบาท หรือ 2.66%

โดยหนี้เสียที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น หลักๆ มาจากการจัดชั้นเชิงคุณภาพจากสินเชื่อธุรกิจที่มีทิศทางด้อยลง และสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่หนี้เสียปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งหากดูหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มขึ้นทุกพอร์ต โดยหนี้เสียรายใหญ่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.14% จากไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 1.09% หลักๆ มาจากการจัดชั้นลูกหนี้ในต่างประเทศ ส่วนเอสเอ็มอีอยู่ที่ 6.86% จาก 6.72%

“สินเชื่อรายใหญ่ที่สินเชื่อด้อยลงมากจากการจัดชั้นเชิงคุณภาพ ซึ่งมาจากการที่สถาบันการเงินเห็นว่า ผู้ประกอบการ มีผลการดำเนินงานที่เริ่มแย่ลง หรือขาดทุน จึงจัดชั้นให้อยู่ในกลุ่มลูกหนี้ Stage3 ส่วนเอสเอ็มอีหนี้ที่ด้อยลงมาจาก ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งเป็นหลัก”

ด้านหนี้เสีย สินเชื่ออุปโภคบริโภค หรือสินเชื่อรายย่อย ทั้งสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล พบว่าปรับเพิ่มขึ้นทุกสินเชื่อ โดยรถยนต์อยู่ที่ 2.14% จาก 2.13% สินเชื่อบัตรเครดิต 4.13% สินเชื่อบ้านอยู่ที่ 3.49% ขยับจาก 3.34% และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ 2.54% จาก 2.48%

โดยหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Stage 2 หรือ SM) ที่ล่าสุดปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.12 ล้านล้านบาท หรือ 6.13% เพิ่มขึ้น 3.4 หมื่นล้านบาท จากไตรมาสก่อนที่อยู่ 5.88% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นทุกพอร์ตเช่นเดียวกัน โดยสินเชื่อธุรกิจอยู่ที่ 5.74% จาก 5.45% และสินเชื่ออุปโภคบริโภค 7.04% จาก 6.89% ทั้งจากสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อรถยนต์ ที่อยู่อาศัย และสินเชื่อส่วนบุคคล

กลุ่มเปราะบาง-รายได้ไม่เกิน2หมื่นหนี้พุ่ง

โดยพบว่า กลุ่มที่มีปัญหาการชำระหนี้มากขึ้น ทั้งกลุ่มที่เป็นหนี้เสีย และกลุ่มลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหา หรือค้างชำระ หลักๆ มาจากกลุ่มเปราะบางที่เพิ่มสูงขึ้น จากรายได้ที่ยังไม่กลับมาฟื้นตัว โดยเฉพาะผู้มีรายได้ ไม่เกิน 1.5-2 หมื่นบาทต่อเดือน

“กลุ่มเปราะบางยังเป็นกลุ่มที่มียอดค้างชำระเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะรายได้ยังไม่กลับมา หรือรายได้ฟื้นตัวช้า ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ที่มีปัญหา เช่นกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.5-2 หมื่นบาท และเป็นกลุ่มซื้อบ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท และเป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อย”

ขั้นต่ำบัตรเครดิต 8% ทำหนี้เสียขยับ 

อย่างไรก็ตามยอมรับ หนี้เสียบัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการปรับอัตราการชำระขั้นต่ำบัตรเครดิต (Min Pay) จาก 5% เป็น 8% มีส่วนทำให้เกิดหนี้เสียหรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ในสินเชื่อบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น

แต่การปรับการผ่อนขั้นต่ำไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้หนี้เสียบัตรเพิ่มขึ้น แต่หนี้เสียที่เพิ่มขึ้น มาจากกลุ่มเปราะบางเป็นหลัก ที่ยังมาสามารถกลับมาฟื้นได้ตัว

ทั้งนี้ พบว่าลูกหนี้ส่วนใหญ่ที่เป็นหนี้เสีย และค้างชำระ เกินครึ่งหรือกว่า 50% มีการถือบัตรเครดิตตั้งแต่ 2-5 ดังนั้น ส่วนนี้ ธปท.จะมีการมอนิเตอร์อย่างใกล้ชิด และพิจารณามาตรการ ก่อนที่จะการปรับอัตราจ่ายขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเป็น 10% ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม หนี้เสียและยอดค้างชำระหนี้ หรือกลุ่ม SM ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ถือเป็นสิ่งที่ ธปท. เห็นและส่งสัญญาณมาก่อนหน้านี้แล้ว ว่าจะค่อยๆ เห็นหนี้เสียปรับตัวเพิ่มขึ้น และหากมองไปข้างหน้ายังคงติดตามคุณภาพ และความสามารถชำระหนี้ของลูกหนี้ทุกกลุ่ม

โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้ธุรกิจ และกลุ่มลูกหนี้เอสเอ็มอีขนาดเล็ก และครัวเรือนบางกลุ่ม ที่ยังมีฐานะการเงินเปราะบางมาจากรายได้ที่ฟื้นตัวล่าช้า ดังนั้น อาจเห็นหนี้เสียทยอยปรับเพิ่มขึ้นต่อได้ แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ และยังไม่เกิดการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดของ NPL Cliff

หนี้ครัวเรือนไตรมาสแรกลดลง 

ส่วน หนี้ครัวเรือนในไตรมาสแรก คาดว่ามีแนวโน้มลดลง หากเทียบกับไตรมาส 4 ที่ผ่านมา ที่ 91% หลักๆ มาจากการขยายตัวของจีดีพี ในไตรมาสแรกปรับตัวดีกว่าคาด ทำให้ตัวเลขหนี้ครัวเรือนโดยรวมน่าจะออกมาลดลง 

สำหรับ ความคืบหน้าของมาตรการการช่วยเหลือลูกหนี้ของลูกหนี้สถาบันการเงิน ตามมาตรการ Responsible Lending นับตั้งแต่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา พบว่า มียอดปรับโครงสร้างหนี้สะสมของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสแรกที่ 3.17 ล้านบัญชี โดยหลักๆ เป็นลูกหนี้เกษตรกรของธนาคารรัฐ ที่ 3.10 ล้านบัญชี และเป็นลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์ และนอนแบงก์ อีก 6.1 แสนบัญชี โดยคิดเป็นยอดหนี้โดยรวมที่ได้รับความช่วยเหลือ 9.2 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นยอดหนี้ของธนาคารพาณิชย์ และนอนแบงก์ 2.6 แสนล้านบาท และแบงก์รัฐอีก 6.6 แสนล้านบาท