นับถอยหลังสู่ “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” เตรียมตัวอย่างไรให้มีสุข

นับถอยหลังสู่ “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” เตรียมตัวอย่างไรให้มีสุข

สิ่งที่ต้องคำนึงเป็นอันดับแรกก็คือ ควรรีบทำประกันสุขภาพในขณะที่สุขภาพยังแข็งแรง เพื่อให้บริษัทประกันภัยรับประกันได้โดยไม่มีเงื่อนไข หรือข้อยกเว้นความคุ้มครองใด ๆ

ทุกวันนี้เราคงคุ้นหูกับคำว่า “สังคมสูงวัย” กันแล้ว เนื่องจากประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยมาเป็นเวลาเกือบ 20 ปีแล้ว พร้อมกันนั้น ยังได้เข้าสู่ “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” มาตั้งแต่ปี 2565[1] ยิ่งไปกว่านั้น ในอีก 6 ปีข้างหน้าหรือปี 2573 ก็จะเข้าสู่ “สังคมผู้สูงวัยระดับสุดยอด” ที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปคิดเป็น 28% ของประชากรทั้งหมด [2] นอกเหนือจากจำนวนผู้สูงวัยจะมากขึ้น ยังมีแนวโน้มที่จะอายุยืนอีกด้วย ผลที่ตามก็คือ ภาระค่าครองชีพและค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว รวมถึงยังต้องการคนดูแลมากขึ้นอีกด้วย จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่คนวัยก่อนเกษียณต้องตระหนักว่า เราเตรียมความพร้อมรับมือกันแล้วหรือยัง และเพียงพอแค่ไหน เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตจนถึงบั้นปลายได้อย่างมีความสุขและมีคุณภาพ ดังนั้น จึงต้องเตรียมพร้อมในด้านต่าง ๆ ดังนี้ 

  • ความมั่นคงทางการเงิน จากการศึกษาของกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ในปี 2564 พบว่า โดยเฉลี่ยผู้สูงอายุของไทย (อายุ 60-80 ปี) มีค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคต่อคนอยู่ที่ปีละประมาณ 1.54 แสนบาท [3] หรือตกเดือนละ 13,000 บาท หากลองคิดคร่าวๆ ว่า ตอนนี้เราอายุ 40 ปี จะเกษียณตอน 60 ปีและคาดว่าจะอายุยืนจนถึง 80 ปี หากเราต้องการมีเงินใช้จ่ายหลังเกษียณไม่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย จะต้องเตรียมเงินไว้อย่างน้อย 4.6 ล้านบาท ในกรณีที่อัตราเงินเฟ้อเท่ากับ 2% ต่อปี อย่างไรก็ตาม ขณะเกษียณ เราอาจจะได้รับเงินสวัสดิการจากภาครัฐไม่ว่าจะเป็นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เงินบำเหน็จบำนาญจากประกันสังคมหรือข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ สวัสดิการเหล่านี้อาจช่วยแบ่งเบาภาระในการเตรียมตัวของเราได้บ้างแต่ไม่ใช่ทั้งหมด ดังนั้น เพื่อให้เรามั่นใจว่า จะมีเงินเพียงพอหลังเกษียณ จึงจำเป็นที่จะต้องมีตัวช่วยอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วยไม่ว่าจะเป็น
  • การทำประกันชีวิตเช่น ประกันสะสมทรัพย์ ประกันบำนาญ หรือประกันชีวิตควบการลงทุน
  • การลงทุนในกองทุนต่าง ๆ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อการออมระยะยาว (LTF SSF หรือ Thai ESG) หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนอสังหาริมทรัพย์
  • การลงทุนในทรัพย์สินอื่น ๆ เช่น หุ้น ตราสารหนี้ ที่ดิน อาคาร หรือทองคำ เป็นต้น

ตัวช่วยเหล่านี้อาจให้ผลประโยชน์นอกเหนือจากผลตอบแทนเช่น การได้รับเงินก้อนจากการเสียชีวิตในกรณีที่ทำประกันชีวิต การนำค่าใช้จ่ายในการทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพหรือการลงทุนในกองทุน SSF RMF และ Thai ESG ไปหักลดหย่อนภาษี

นับถอยหลังสู่ “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” เตรียมตัวอย่างไรให้มีสุข

ทั้งนี้ รูปแบบการออมและลงทุนขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงที่แต่ละคนยอมรับได้ หากเราต้องการบรรลุเป้าหมายทางการเงินโดยเร็ว ก็ควรวางแผนและลงมือทำตั้งแต่เนิ่น ๆ อย่างไรก็ตาม การมีอาชีพเสริมหรืออาชีพรองเพื่อสร้างรายได้หลังเกษียณก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจ

  • สวัสดิการค่ารักษาพยาบาลและการดูแลระยะยาว แน่นอนว่า เมื่ออายุมากขึ้น การบาดเจ็บหรือการเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก การพลัดตกหกล้มถือเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุในผู้สูงอายุ ในปี 2565 ผู้สูงอายุนอนโรงพยาบาลจากการพลัดตกหกล้มถึง 50,000 คนหรือเฉลี่ยวันละ 140 คน รวมถึงการเจ็บป่วยกรณีผู้ป่วยในของผู้สูงอายุก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย โดย 3 โรคแรกที่ทำให้ผู้สูงอายุพักรักษาตัวในโรงพยาบาลคือ ปอดบวม ต้อกระจกและความผิดปกติของเลนส์ตา และไตวาย[4] ไม่เพียงเท่านั้นยังมีโรคร้ายแรงอื่นๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคเบาหวาน ที่ทำให้เกิดภาวะการเจ็บป่วยติดเตียงหรือต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยมีค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากในการรักษาพยาบาล ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน ภาครัฐได้จัดเตรียมสวัสดิการรักษาพยาบาลให้กับคนไทยทุกเพศทุกวัยซึ่งรวมถึงผู้สูงอายุแล้วก็ตาม แต่สิทธิเหล่านี้ก็อาจจะมีข้อจำกัดหรือไม่เพียงพอต่อความต้องการของเรา ดังนั้น การเตรียมความพร้อมโดยการทำ “ประกันสุขภาพและอุบัติเหตุส่วนบุคคล” จะช่วยให้เราสามารถลดภาระค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยได้ พร้อมกันนั้น ยังได้รับความรวดเร็วและสะดวกสบายในการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนอีกด้วย ปัจจุบัน ประกันสุขภาพและอุบัติเหตุนั้นมีหลายแบบที่มีจุดเด่นแตกต่างกันให้เราเลือกสรร

ซึ่งแบบประกันที่กล่าวมานี้สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาล รวมทั้งภาระค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จากการพักรักษาตัวที่บ้านหรือเป็นผู้ป่วยติดเตียงและต้องการการดูแลเป็นพิเศษ หรือแม้กระทั่งคุ้มครองการสูญเสียชีวิตโดยชดเชยให้กับคนในครอบครัว นอกจากนี้ ในปัจจุบันบางบริษัทประกันภัยยังออกแบบประกันอุบัติเหตุสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ซึ่งให้ผลประโยชน์มากกว่าประกันอุบัติเหตุทั่วไป เช่น ผลประโยชน์กระดูกแตกหัก ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ผลประโยชน์ค่าจ้างพยาบาลสำหรับการดูแลพักฟื้นที่บ้าน ค่ารถเข็นผู้ป่วย (Wheel Chair) เป็นต้น โดยส่วนใหญ่ สามารถต่ออายุได้จนถึงอายุ 99 ปี เลยทีเดียว

ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องคำนึงเป็นอันดับแรกก็คือ ควรรีบทำประกันสุขภาพในขณะที่สุขภาพยังแข็งแรง เพื่อให้บริษัทประกันภัยรับประกันได้โดยไม่มีเงื่อนไข หรือข้อยกเว้นความคุ้มครองใด ๆ 

อย่างไรก็ตาม การเตรียมความพร้อมด้านที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิตเมื่อสูงวัย และด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน เพื่อให้เรามีภูมิคุ้มกันและความพร้อมที่จะใช้ชีวิตเมื่อสูงวัยได้อย่างมีความสุขและมีคุณภาพตามที่คาดหวังไว้