จีนเจอปัญหาเงินทุนไหลออกอื้อ ทำหยวนร่วงแรง! แม้ดอลลาร์อ่อนยวบ

จีนเจอปัญหาเงินทุนไหลออกอื้อ ทำหยวนร่วงแรง! แม้ดอลลาร์อ่อนยวบ

“เงินหยวน” ร่วงหนักในเดือนพ.ค. แม้ว่าค่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลง ซึ่งนับเป็นสัญญาณเตือนว่าปักกิ่งกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายจากการไหลออกของเงินทุนจากประเทศอย่างต่อเนื่อง

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานวันนี้ (30 พ.ค.) ว่า เดือนพ.ค.ถือเป็นเดือนที่เงินหยวนมีผลการดำเนินงานที่แย่ที่สุดครั้งหนึ่งในปีนี้ เนื่องจากไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ แม้ว่าค่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณเตือนว่านักลงทุนยังคงมีมุมมองเชิงลบต่อสกุลเงินหยวนอย่างต่อเนื่อง

ในเดือนพ.ค. ค่าเงินหยวนลดลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักเกือบทั้งหมด และใกล้ถึงขีดจำกัดของช่วงการซื้อขายที่กำหนดไว้กับดอลลาร์อีกครั้ง สาเหตุของการอ่อนค่าลงของเงินหยวนในเดือน พ.ค. เพราะนักลงทุนคาดว่าจะมีการขายสินทรัพย์จีนออกไปอย่างต่อเนื่องเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่าในประเทศอื่น และความกังวลว่าเศรษฐกิจภายในประเทศจะยังคงอ่อนแอ

จีนเจอปัญหาเงินทุนไหลออกอื้อ ทำหยวนร่วงแรง! แม้ดอลลาร์อ่อนยวบ ค่าเงินดอลลาร์ต่อสกุลเงินหยวนวันนี้ (30 พ.ค. 67)

บทวิเคราะห์ของบลูมเบิร์กเผยว่า การอ่อนแอของค่าเงินหยวนถือเป็นสิ่งที่น่าวิตก แม้ว่าจะเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่ถูกโจมตีอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากนี่อาจเป็นเดือนแรกในปีนี้ที่เงินหยวนลดลง แม้ว่าดอลลาร์จะอ่อนค่าลงก็ตาม ซึ่งบ่งชี้ว่าแรงกดดันในปัจจุบันมาจากความท้าทายของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของจีน ดังนั้นการที่ดอลลาร์อ่อนค่าลงอาจจะไม่ช่วยให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นมากนัก

แม้ว่าการลดลงของค่าเงินหยวนอาจนำไปสู่การตอบโต้จากทางการ แต่ก็จะมีเสียงเรียกร้องให้ปักกิ่งยอมรับสถานการณ์ครั้งนี้ เนื่องจากจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อภาคการส่งออกจีนที่ซบเซา ทว่าบทวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก ระบุว่า ในความเป็นจริงนโยบายของรัฐบาลอาจเป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว เพราะธนาคารกลางประชาชนจีน (PBOC) พยายามทำให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงผ่านอัตราอ้างอิงประจำวัน

ด้าน ชิดู นาราหยานัน หัวหน้ากลยุทธ์ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของเวลล์ฟาร์โก (Wells Fargo & Co.) กล่าวว่า

"แนวโน้มของดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ความอ่อนแอภายในประเทศของจีนที่ยังคงอยู่ และความเสี่ยงเงินเฟ้อติดลบ ทั้งหมดล้วนมีแนวโน้มที่จะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์ต่อหยวนแข็งค่าขึ้น และอัตราอ้างอิงดอลลาร์ต่อหยวนจะค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้นในสภาพแวดล้อมนี้"

ทั้งนี้ เงินหยวนเริ่มต้นเดือนพ.ค.ด้วยความแข็งแกร่ง จากการคาดการณ์ว่าสหรัฐอาจเข้าสู่วงจรการลดอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม ความหวังดังกล่าวถูกกลบด้วยความกังวลเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนที่ไม่น่าประทับใจ สัญญาณของกระแสเงินทุนไหลออกจากจีนอย่างต่อเนื่อง และความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสองประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของโลก

ขณะที่ข้อมูลที่รวบรวมโดยบลูมเบิร์ก พบว่า จนถึงขณะนี้ในเดือนพ.ค. เงินหยวนลดลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญทั้งหมด 31 สกุล ยกเว้นเปโซของอาร์เจนตินา ซึ่งเป็นการปิดรายเดือนที่แย่ที่สุดในรอบเกือบหนึ่งปีเมื่อเทียบกับตะกร้าอัตราแลกเปลี่ยนของคู่ค้า 24 ประเทศ

อ้างอิง: Bloomberg