เปิดคลินิกเสริมความงาม ทำลักษณะไหนได้ยกเว้น VAT
ทำธุรกิจเสริมความงาม เช่นการนวดหน้า นวดตัว ดูแลผิวพรรณ โบท็อกซ์ ร้อยไหม เมื่อรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แต่การคำนวณว่าเกิน 1.8 ล้านบาทหรือไม่ มีวิธีคำนวณที่ต้องรู้ เพราะรายได้บางอย่างอาจได้ยกเว้น แต่อีกหลายรายการอาจต้องนำมาคำนวณ VAT
ธุรกิจด้านเสริมความงาม อย่างเช่นการนวดหน้า นวดตัว ดูแลผิวพรรณ โบท็อกซ์ ร้อยไหม ถือเป็นธุรกิจที่ได้รับความสนใจจากหนุ่มสาวที่รักความสวยความงาม มักนิยมเข้าใช้บริการ ด้วยเหตุนี้เจ้าของธุรกิจความสวยความงาม จึงจำเป็นต้องจัดตั้งร้านเปิดให้เป็นทางการ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้เข้าใช้บริการ รวมถึงเสียภาษีจากรายได้ที่เกิดขึ้นด้วย
และรายได้จากการประกอบธุรกิจเสริมความงามนี้ หากเกิน 1.8 ล้านบาท ก็มีหน้าที่ต้องขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ให้ถูกต้อง
แต่การคำนวณผลประกอบการจากการทำคลินิกเสริมความงาม ว่าเกิน 1.8 ล้านบาทหรือไม่นั้น จะมีรายละเอียดอยู่พอสมควร ซึ่งรายได้บางอย่างอาจได้ยกเว้นไม่ต้องนำมารวมเพื่อคำนวณภาษี VAT แต่อีกหลายๆ รายการอาจต้องนำมามารวมเพื่อคำนวณ VAT ว่าเกิน 1.8 ล้านบาทหรือยัง
วันนี้เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับรายรับของคลินิกเสริมความงาม หรือ ร้านเสริมความงาม ว่าลักษณะใดต้องนำมารวมคำนวณ VAT และลักษณะใดไม่ต้องนำมาคำนวณ VAT หรือไม่เสีย VAT ดังนี้
รายได้ใดของคลินิกเสริมความงาม ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
เนื่องจากคลินิกเสริมความงาม หรือร้านเสริมความงาม มีทั้งงานบริการและขายสินค้า จึงทำให้มีรายได้เข้ามาทั้งในกลุ่มของบริการและขายสินค้า ซึ่งสามารถแยก "ประเภทของรายได้" ที่เข้ามาได้ 2 รูปแบบ ที่นำมาคำนวณเพื่อภาษีตามหลักการของภาษีมูลค่าเพิ่มได้ดังนี้
- รายได้จากการประกอบธุรกิจเสริมความงาม หากรายได้เข้าลักษณะเป็น "สถานพยาบาล" ซึ่งผู้ประกอบการต้องได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล โดยได้ให้บริการแก่ผู้ป่วย ณ สถานประกอบการตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล เช่น การทำศัลยกรรม ฉีดสิว
หากเข้าลักษณะนี้จะถือเป็นการให้บริการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล และจะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่ต้องนำรายได้ในส่วนนี้มารวมคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
- รายได้อื่นๆ ของคลินิกเสริมความงาม ที่ได้รับมาโดยไม่ต้องมีข้อแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อย่างเช่น การขายครีมบำรุง ขายอาหารเสริม หรือหากผู้ประกอบการไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล การให้บริการดังที่กล่าวมานี้ จะไม่เข้าลักษณะเป็นการให้บริการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล
ดังนั้น จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเท่ากับว่าผู้ประกอบการมีการประกอบกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อมีรายได้เหล่านี้เกิน 1.8 ล้านบาทขึ้นไปต่อปี ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และคิด VAT 7% กับผู้ซื้อ พร้อมกับออกใบกำกับภาษีทุกครั้งที่ได้รับเงินจากลูกค้า
เช็กรูปแบบคลินิกเสริมความงานให้ดี แบบไหนยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
หลักการแยกประเภทธุรกิจของคลินิกเสริมความงาม เพื่อจัดกลุ่มว่าลักษณะใดได้ยกเว้นภาษี นอกเหนือจากการวิเคราะห์ตามประเภทของรายได้ดังที่กล่าวไปแล้ว จะสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1.ประกอบธุรกิจเสริมความงามในนามบุคคลธรรมดา
- หากผู้ประกอบการได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ถือเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 6 มาตรา 40(6) ซึ่งจะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงไม่สามารถยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้
นอกจากนี้ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 60% ของเงินได้
- หากผู้ประกอบการคลินิกเสริมความงามในนามบุคคลธรรมดา ไม่ได้มีการขอใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล จะทำให้รายได้ที่ได้รับทั้งหมดนี้ ถือเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 มาตรา 40(8) ซึ่งเป็นรายได้ที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องนำมาเป็นรายได้เพื่อคำนวณจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 60% หรือหักค่าใช้จ่ายตามจริงและตามสมควร
2.ประกอบธุรกิจเสริมความงามในนามนิติบุคคล
ในกรณีที่คลินิกเสริมความงามได้จดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคล ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ “บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล” หลักการพิจารณาว่าแบบใดได้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม จะเหมือนกับคลินิกเสริมความงามในนามบุคคลธรรมดา
นอกจากนี้หากแพทย์ พนักงานที่ได้รับเงินจากบริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ทำคลินิกเสริมความงาม มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยแยกประเภทรายได้แตกต่างกันดังนี้
- ลูกจ้างได้รับเงินเดือนค่าจ้าง จัดเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 มาตรา 40(1)
- หากได้รับเงินได้ขั้นต่ำ โดยไม่คำนึงว่าจะทำการรักษาพยาบาลหรือไม่ ถือเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2มาตรา 40(2)
- หากแพทย์ได้รับเงินจากการเปิดคลินิกในสถานพยาบาลของตนเอง ถือเป็นเงินได้พึงประเมินประเภททที่ 6 มาตรา 40(6)
- หากเป็นธุรกิจสุขภาพ เช่น ฟิตเนส อาหาเสริม นวดหน้า เครื่องสำอางหรือสมุนไพร ไม่ว่าจะประกอบธุรกิจโดยบุคคลธรรมดา หรือบริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล รายได้ที่ได้รับจากการประกอบกิจการเหล่านี้ ถือเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 40(8) และต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
สรุป...ภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับคลินิกเสริมความงาม
ภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับคลินิกเสริมความงาม สามารถแยกตามประเภทการให้บริการ และการขายสินค้าที่ขายในคลินิกเสริมความงาม เช่น นวดหน้า นวดตัว สปา รักษาสิว ฝ้า กระ โบท็อกซ์ ร้อยไหม ดูแลผิวพรรณ รวมถึงศัลยกรรมตกแต่ง แยกประเภทได้ดังนี้
- รายได้เกี่ยวกับสิว ฉีดสิว ลดรอยสิว แผลเป็นจากสิว และรักษาสิว รอยด่างดำ ฝ้า กระ ครีมบำรุง
- รายได้ค่าขายอาหารเสริม
- รายได้จากการฉีดโบท็อกซ์ ร้อยไหม ฉีดสารเติมเต็ม
- รายได้จากการขายครีมสำหรับทาหลังทำศัลยกรรม
- รายได้จากค่าฉีดบำรุงด้วยวิตามิน ล้างสารพิษ เมโสหน้าใส
รายได้ทั้งหมดนี้ หากเป็นรายได้จากการประกอบกิจการสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล และอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดว่าด้วยสถานพยาบาลกำหนด จะถือว่าเป็นรายได้ของสถานพยาบาลทั้งหมด จึงทำให้คลินิกเสริมความงามได้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม คือไม่ต้องเสียภาษีมูค่าเพิ่ม
ในทางตรงกันข้าม หากกคลินิกเสริมคงามงามไม่ได้ประกอบกิจการภายใต้กฎหมายสถานพยาบาล สินค้าที่ขายอยู่ในคลินิกเสริมความงาม อย่างเช่นขายอาหารเสริมโดยไม่ได้มีข้อแนะนำจากแพทย์ผู้รักษาพยาบาล จะถือเป็นรายได้ที่อยู่ในเงื่อนไขต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มนั่นเอง
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting