‘อิออน‘เปิดประมูลหนี้เสีย เปิดทางหน้าใหม่แข่งขัน-เพิ่มมาร์จิ้น
“อิออน” ออกประกาศเปิดให้ “ธุรกิจเอเอ็มซี” หน้าใหม่ เข้าประมูล “ซื้อหนี้” รายย่อยบริษัท หวังระบาย “เอ็นพีแอล” เร็วขึ้น ชี้อุตสาหกรรมแข่งขันสูง มีโอกาสได้ราคาดี-สกัดการกดราคาขายหนี้ เผยปัจจุบันมีหนี้เสียระดับ 5% ชี้ไตรมาส 2 ปี 67 พบสัญญาณลูกค้ากลับมาผ่อนชำระดีขึ้น
ภาพรวมธุรกิจบริหารสินทรัพย์ หรือ AMC ในปัจจุบัน ถือว่าเป็นธุรกิจที่คึกคักอย่างมาก ภายใต้หนี้เสีย หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระบบ ที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจังหวะนี้นับเป็นโอกาสของเอเอ็มซี ที่จะเข้าไปรับซื้อหนี้เสียมาบริหารมากขึ้น
หากดูข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปัจจุบันมีผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้สามารถทำธุรกิจเอเอ็มซีได้ ล่าสุดอยู่ที่ 81 ราย แม้จะมีจำนวนบริษัทค่อนข้างมาก แต่หากดูบริษัทที่ประกอบธุรกิจแล้วในปัจจุบันถือว่า มีไม่มากนัก เพราะบริษัทบางแห่งเปิดไว้เพื่อรอโอกาสในการทำธุรกิจในอนาคตเท่านั้น แต่ยังไม่ได้เริ่มลงสนามจริง
ดังนั้น เอเอ็มซีที่รับซื้อหนี้เสียมาบริหารในปัจจุบันที่มีชื่อคุ้นเคยกลับมาไม่มีบริษัทเท่านั้น ซึ่งเหล่านี้ก็อาจเป็นช่องทางให้บริษัทเอเอ็มซีที่มีอยู่ มีอำนาจต่อรองในการเข้าประมูลหนี้เสีย หรือการแข่งขันด้านราคามากขึ้น
ล่าสุด บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS ได้ออกประกาศเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจเข้าร่วมประมูลหนี้สินรายย่อยประเภทบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลแบบไม่มีหลักประกันของบริษัท โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่ปัจจุบันจนถึง 21 มิ.ย.นี้
นายนันทวัฒน์ โชติวิจิตร กรรมการบริหาร ฝ่ายการตลาด AEONTS กล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการเปิดรับสมัครบริษัทที่มีประสบการณ์ในธุรกิจเอเอ็มซีเข้ามาประมูลหนี้สินรายย่อย และบัตรเครดิตรวมถึงสินเชื่อส่วนบุคคลของบริษัท หลักๆ ก็เพื่อให้บริษัทมีทางเลือกในการบริหารหนี้ หรือขายหนี้รายย่อยมากขึ้น
ทั้งนี้ มองว่าการเปิดให้บริษัทใหม่ๆ เข้ามา ประมูลหนี้ของบริษัทจะเป็นการเปิดโอกาสให้ทั้งบริษัท และกับธุรกิจเอเอ็มซีมากขึ้น โดยในส่วนบริษัทจะมีทางเลือกในการขายหนี้เสียมากขึ้น ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารหนี้ด้อยคุณภาพในอนาคต
อีกทั้งมองว่า การมีเอเอ็มซีหน้าใหม่เข้ามาแข่งประมูลหนี้ด้อยคุณภาพ ยังมีโอกาสทำให้ราคาขายสินทรัพย์อยู่ในระดับที่ดีขึ้นด้วย ลดโอกาสกดราคาในอนาคต และยังมีโอกาสระบายหนี้ด้อยคุณภาพได้มากขึ้น จากเดิมที่มีเฉพาะเอเอ็มซีบริษัทเดิมที่รับบริหารหนี้ด้อยคุณภาพในปัจจุบัน ทำให้การเกิดแข่งขันประมูลหนี้ต่างๆ ไม่ได้มีมากนัก
“เราหวังว่า การเปิดให้บริษัทที่มีประสบการณ์ในการบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ เข้ามาแข่งขันมากขึ้น โดยเฉพาะหน้าใหม่ๆ ที่อยู่ในระบบ ที่วันนี้ยังมีอีกมาก ที่ไม่ได้มีโอกาสเข้ามาประมูลหนี้ส่วนนี้ ทำให้พลาดโอกาสในการเข้ามารับบริหารหนี้ส่วนนี้ จะมีเฉพาะรายเดิมๆ ที่แข่งขันในปัจจุบันไม่กี่เจ้า ดังนั้น หวังว่าเมื่อมีเจ้าใหม่ๆ มาแข่งขันมากขึ้น การบริหารหนี้จะเกิดประสิทธิภาพขึ้น และราคาจะดีขึ้นด้วย และด้วยกลยุทธ์เรา บริษัทไม่อยากถือสินทรัพย์ด้อยคุณภาพนานเกินไป ดังนั้นการเร่งระบายออกก็เป็นสิ่งที่ดีกับบริษัท”
อย่างไรก็ตาม การเปิดให้ประมูลสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของบริษัทครั้งนี้ ถือเป็นการกลับาขายหนี้ในรอบกว่า 1 ปี หลังจากปีก่อนบริษัทที่บริษัทไม่ได้ตัดขายหนี้ ส่วนหนึ่งมาจากเกณฑ์ของธปท. ที่มีการให้บริษัท และธนาคาร ต้องปรับโครงสร้างหนี้ลูกหนี้ก่อน 2 ครั้งก่อนมีการขายหนี้ออกมา โดยครั้งแรกบริษัทต้องยื่นข้อเสนอปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ก่อน 1 ครั้งก่อนเป็นหนี้เสีย และอีก 1 ครั้งก่อนมีการขายหนี้เสียทอดตลาด ส่งผลให้บริษัทต้องปรับกระบวนการขายหนี้เสียในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้ หากดูหนี้ด้อยคุณภาพในปัจจุบันของบริษัทถือว่ามีพอสมควร ที่มีแผนที่จะเปิดให้ประมูลหนี้ในระยะข้างหน้า ดังนั้น คาดว่าหากสามารถขายออกได้ โอกาสที่คุณภาพหนี้ด้อยคุณภาพ หรือหนี้เสียของบริษัทปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะบัตรเครดิต ที่ปัจจุบันหนี้เสียโดยรวมอยู่ที่ระดับ 5% ขยับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยหากเทียบกับปลายปี
โดยคาดว่าระยะข้างหน้า หนี้เสียโดยรวมของบริษัทในไตรมาส 2 จะปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากมีบางกลุ่มลูกหนี้ที่เคยค้างชำระหนี้ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา เนื่องจากไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตเป็น 8% จาก 5% ดังนั้น กลุ่มนี้น่าจะกลับมาชำระหนี้ได้ปกติมากขึ้น