ค่าเงินบาทวันนี้ 14 มิ.ย.67 ‘อ่อนค่า‘ จากตลาดกังวลดอกเบี้ยเฟด - แรงซื้อทองคำ

ค่าเงินบาทวันนี้ 14 มิ.ย.67 ‘อ่อนค่า‘ จากตลาดกังวลดอกเบี้ยเฟด - แรงซื้อทองคำ

ค่าเงินบาทวันนี้ 14 มิ.ย.67 เปิดตลาด "อ่อนค่า" ที่ 36.76 บาทต่อดอลลาร์ "กรุงไทย" จากดอลลาร์แข็งค่า หลังตลาดบางส่วนยังคงกังวลต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว มองกรอบเงินบาทวันนี้ 36.65 - 36.90 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้" ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.76 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.65 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.65-36.90 บาทต่อดอลลาร์  

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา ค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 36.60-36.78 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นเร็ว และแรง ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และการพุ่งขึ้นของราคาทองคำ หลังรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ของสหรัฐ ในเดือนพฤษภาคม ได้ชะลอลงสู่ระดับ 2.2% น้อยกว่าที่ตลาดคาด ส่วนยอดผู้ขอรับสวัสดิการ การว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ล่าสุดก็เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 2.42 แสนราย แย่กว่าที่ตลาดคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมามีความหวังว่า เฟดอาจทยอยลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ 

ค่าเงินบาทวันนี้ 14 มิ.ย.67 ‘อ่อนค่า‘ จากตลาดกังวลดอกเบี้ยเฟด - แรงซื้อทองคำ

ทว่า เงินบาทก็พลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ตามการกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ยังได้แรงหนุนจากแรงซื้อของผู้เล่นในตลาด (Buy on Dip) หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ยังคงกังวลต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ขณะเดียวกัน เงินยูโร (EUR) ก็ทยอยอ่อนค่าลงตามตลาดหุ้นยุโรป ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์การเมืองในฝรั่งเศส และยุโรป 

ส่วนเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็ผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง ในช่วงก่อนตลาดรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) นอกจากนี้ เงินบาทยังถูกกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำเผชิญแรงขายต่อเนื่อง และย่อตัวลงกว่า -20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

แนวโน้มค่าเงินบาท

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า ควรระวังความเสี่ยงที่เงินบาทอาจผันผวนอ่อนค่าลงต่อได้ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม BOJ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า BOJ จะส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้น ต่อแนวโน้มการทยอยใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น และอาจมีการประกาศทยอยปรับลดการเข้าซื้อบอนด์ ซึ่งหาก BOJ ไม่ได้ส่งสัญญาณดังกล่าว สวนทางกับความคาดหวังของตลาดก็อาจกดดันให้ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) เสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าลงต่อทดสอบโซนแนวต้านแถว 158 เยนต่อดอลลาร์ ได้อีกครั้ง และการอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่นในช่วงนี้ ที่มาพร้อมกับช่วงเงินยูโร (EUR) ก็เผชิญแรงกดดันจากประเด็นการเมืองยุโรป ก็อาจเป็นปัจจัยที่ยังหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้ในระยะสั้น แม้ว่าผู้เล่นในตลาดจะเริ่มกลับมาเชื่อว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ก็ตาม 

นอกจากนี้ ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ รวมถึงฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่จะเป็นอีกปัจจัยสร้างความผันผวนให้กับเงินบาทในระยะนี้ อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า เงินบาทก็อาจยังไม่สามารถอ่อนค่าไปได้มากนัก และอาจยังติดอยู่ในโซนแนวต้านแถว 36.85-36.90 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านถัดไป 37.00 บาทต่อดอลลาร์) ส่วนการแข็งค่าในช่วงนี้ก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด ทำให้เงินบาทยังมีแนวรับแถวโซน 36.50-36.60 บาทต่อดอลลาร์ 

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือ เช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

ตลาดหุ้นสหรัฐ ยังคงได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ นำโดย Nvidia +3.5% หลังรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ออกมาชะลอลงกว่าคาด ส่วนยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานล่าสุด ก็ออกมาแย่กว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคาดหวังว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.33% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.23%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ดิ่งลงกว่า -1.31% ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์การเมืองในฝรั่งเศส และยุโรป นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากความกังวลว่า ทางการจีนอาจตอบโต้ทางการยุโรป หลังทางการยุโรปได้สั่งเก็บภาษีนำเข้ารอบใหม่กับรถยนต์ EV จากจีน โดยภาพดังกล่าวได้กดดันให้บรรดาหุ้นกลุ่มยานยนต์ต่างปรับตัวลงหนัก เช่น Volkswagen -3.5%, BMW -2.2%

ในส่วนตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ (สวนทางกับคาดการณ์ของเฟดใน Dot Plot ล่าสุด ที่ระบุว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้ง) หลังรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ชะลอลงกว่าคาด ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ ทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4.25% ทั้งนี้ เรามองว่า การปรับตัวลดลงต่อของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ อาจเป็นไปอย่างจำกัดในระยะสั้น จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม และเราคงมุมมองเดิมว่า ในทุกๆ จังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ จะเป็นโอกาสในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวที่น่าสนใจ เนื่องจากแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดในระยะข้างหน้ามีเพียงแค่ “คง” หรือ “ลง” มากกว่าที่เฟดจะทยอยขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ผันผวนแข็งค่าขึ้น แม้เงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงบ้างในช่วงที่ตลาดรับรู้รายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ที่ออกมาต่ำกว่าคาด ทว่า เงินดอลลาร์ก็พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าลงของเงินยูโร (EUR) ที่ยังคงเผชิญปัจจัยกดดันจากสถานการณ์การเมืองในยุโรป และการปรับตัวลงของตลาดหุ้นยุโรป รวมถึงการอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ในช่วงก่อนตลาดรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 105.3 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.7-105.3 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การเคลื่อนไหวของราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนส.ค.) ถือว่าผันผวนสูงพอสมควร โดยมีจังหวะปรับตัวขึ้นแรง จากรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI สหรัฐ ที่ชะลอลงกว่าคาด ก่อนที่จะเผชิญแรงขายเพิ่มเติม และแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ กดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลงสู่โซน 2,318 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้โฟลว์ธุรกรรมทองคำมีทั้งด้านขายทำกำไร และซื้อในจังหวะย่อตัว ส่งผลให้เงินบาทก็ผันผวนไปตามโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวเช่นกัน 

สำหรับวันนี้ ไฮไลต์สำคัญที่อาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินได้พอสมควรคือ การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) โดยผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า ในการประชุมครั้งนี้ แม้ BOJ จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตามเดิม แต่ BOJ อาจจะส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น โดยอาจมีการประกาศทยอยปรับลดการเข้าซื้อบอนด์ญี่ปุ่นลง ซึ่งหาก BOJ มีการส่งสัญญาณดังกล่าวได้จริง อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังต่อการทยอยขึ้นดอกเบี้ยของ BOJ ในปีนี้

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินโอกาสที่ ECB จะทยอยลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่องในปีนี้ 

และในฝั่งสหรัฐ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) โดยเฉพาะในส่วนของรายงานคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะสั้นและระยะยาว

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์