สมรภูมิ ‘เซมิคอนดักเตอร์’ เดือด! อินทรีย์ VS มังกร ชิงเทรนด์อนาคตโลกดิจิทัล
สมรภูมิ ‘เซมิคอนดักเตอร์’ เดือด! อินทรีย์ VS มังกร ชิงเทรนด์อนาคตโลกดิจิทัล ด้านกองทุนเซมิคอนดักเตอร์ ให้ผลตอบแทน 6 เดือน บวกกว่า 45%
เซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) ถูกคาดหวังว่าจะเป็นเทรนด์แห่งอนาคตโลกดิจิทัล เป็นหัวใจสำคัญของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่จะสูบฉีดผลักดันให้การเติบโตของเศรษฐกิจในหลายประเทศเป็นไปอย่างก้าวกระโดด จึงทำให้รัฐบาลหลายประเทศได้ออกกฎหมายและนโยบายที่มุ่งเสริมศักยภาพการผลิตภายในประเทศ สนับสนุนการวิจัยและพัฒนา เพื่อมุ่งออกแบบและผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ที่ทันสมัย โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่างๆ ประเทศไทยก็เช่นกัน
ล่าสุด พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผยว่า ครม.เศรษฐกิจ ได้หารือแนวทางการตั้งคณะกรรมการเซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติ ขึ้นมาเป็นครั้งแรก ซึ่งแม้ว่าจะตั้งคณะกรรมการระดับชาติช้ากว่าหลายประเทศในภูมิภาคแต่เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการเพื่อสนับสนุนการลงทุนในอนาคต
ขณะที่สหรัฐฯ ยังคงเป็นเจ้าของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งมีซัพพลายเชน ได้กีดกันด้านเทคโนโลยีกับจีน เนื่องจากมองว่าจีนเป็นคู่แข่งทางการค้าคนสำคัญ และอาจเป็นภัยด้านความมั่นคงทางการทหาร โดยในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ลงนามคำสั่งพิเศษจำกัดการลงทุนของบริษัทสหรัฐอเมริกาในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ของจีน
รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ให้ข้อมูลกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า เซมิคอนดักเตอร์มีด้วยกัน 2 แบบ ๆ แรกเป็นแบบไฮเอนด์ ซึ่งมีประเทศยุโรปกับสหรัฐฯ ที่ทำได้ โดยนาโนมิเตอร์ที่ 2 หรือ 3 ส่วนของจีนยังทำไม่ได้ทำได้แค่นาโนมิเตอร์ 7 จึงทำให้เกิดการแข่งขันกับระบบโลก โดยสหรัฐกับยุโรปร่วมกันแซงชั่นจีน เพื่อที่จีนจะได้ไม่สามารถทำนาโนมิเตอร์ของเซมิคอนดักเตอร์ในระดับไฮเอนด์ได้
โดยสหรัฐจะไม่ค้าขายและแซงชั่นจีนในส่วนของสินค้า 3 ประเภท 1.สินค้าประเภทไฮเอนด์ คือเซมิคอนดักเตอร์ไฮเอนด์ 2.นาโนมิเตอร์ และ 3. สินค้าอีวีเป็นสินค้าที่ทำให้หลายคนตกงาน เพราะว่าจีนถูกกล่าวหาว่า มีการอุดหนุนทางการค้า รวมถึงสินค้าที่จีนส่งให้รัสเซีย ซึ่งไม่ใช่อาวุธและนำไปประกอบเป็นอาวุธได้
เพราะฉะนั้นเซมิคอนดักเตอร์จึงมีประเด็นปัญหาการแข่งขันและผลักดันให้จีนไม่สามารถผลิตในส่วนนี้ได้ ขณะเดียวกันสหรัฐฯกับยุโรปได้ใช้วิธีพยายามอยู่ 2 เรื่องคือ เซมิคอนดักเตอร์ไฮเอนด์สหรัฐจะดึงเข้าสู่ประเทศสหรัฐเอง ซึ่งจะเห็นว่ามีการสนับสนุนโดยการออกกฎหมายของ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ที่จะให้มีการพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ ส่วนยุโรปเองก็ได้มีการพัฒนาในส่วนนี้เช่นกันและนอกจากนั้น สหรัฐพยายามดึงพันธมิตรไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมถึงประเทศในอียู เพื่อไม่ให้ร่วมมือกับจีน
“ธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์มีแข่งขันสูงมาก เพราะสามารถนำไปใช้ได้ทุกประเภท และสิ่งหนึ่งที่สหรัฐกลัวในการนำเซมิคอนดักเตอร์ของจีนมาใช้ในเรื่องกองทัพ อาหารได้”
โดยภาพรวมของเซมิคอนดักเตอร์ทั้งระบบเป็น Supply Chain โดยในระดับไฮเอนสหรัฐและยุโรป พยายามอย่างยิ่งที่จะนำไปสู่ประเทศของตัวเองที่จะทำต้องการจะทำเองควบคุมเอง กับอีกส่วนระดับมีเดียม ได้ใช้ประเทศต่างๆ เข้ามาช่วยลงทุน แต่เลือกคัดเลือกกลุ่มประเทศที่เป็นมิตร เช่น เวียดนาม อินเดีย มาเลเซีย และอินโดนีเซียด้วย หากมองว่า ประเด็นใดไม่มีความชัดเจนอาจจะไม่ส่งเสริมในการลงทุน ส่วนประเทศไทยยังไม่ได้ถูกมองว่า เป็นมิตรแต่ไม่ได้ถูกมองว่าไม่เป็นมิตร
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ได้ต้องปรับตัวและต้องระมัดระวังในการขับเคลื่อนเซมิคอนดักเตอร์สู่อนาคตคือ ไทยต้องดำเนินมาตรการทางมหภาค การเมืองให้เกิดความชัดเจนว่า ไทยไม่ได้อยู่ในฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพื่อที่จะสามารถรับงานของ Supply Chain ของเซมิคอนดักเตอร์ ทั้งสหรัฐและยุโรปได้ รวมถึงไทยต้องมีการปรับคุณภาพของบุคลากร เพราะสิ่งสำคัญที่จะนำไปพิจารณามีในส่วนของต้นทุน และคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันไทยยังมีปัญหาเรื่องค่าแรง 400 บาท และปรับคุณภาพของแรงงานสิ่งที่ไทยต้องทำ หากสังเกตดู การลงทุนในประเทศไทยลดน้อยลงไปเยอะ ต้นทุนสูงบวกกับแรงงานคุณภาพไม่ได้ดีขึ้น ไทยจึงเสียเปรียบเวียดนาม และเป็นสิ่งที่ได้ต้องปรับเพื่อให้แข่งขันได้
บดินทร์ พุทธอินทร์ ผู้อำนวยการส่วนกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อีสท์สปริง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ บลจ.อีสท์สปริง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การมาของ Generative AI ในอนาคตมีสเกลที่ใหญ่ขึ้นนั่นหมายความว่า จะมีการประมวลผลในการตอบสนองให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น รวมถึงความอัจฉริยะที่เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นจึงช่วยเสริมดีมานด์ของเซมิคอนดักเตอร์ได้เพิ่มขึ้น
“วันนี้เราจะเห็นได้ว่า เทคโนโลยีหลาย ๆ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับ AI ค่อนข้างจะ perform ทั้งนี้ AI มีการนำมาใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น ทางการแพทย์ การเกษตร รวมถึงการเงินการลงทุน ซึ่งมีการนำเซมิคอนดักเตอร์เข้ามาใช้ ”
ทั้งนี้ เซมิคอนดักเตอร์ถือเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญในการประมวลผล ดังนั้นคุณภาพ และประสิทธิภาพ จึงมีการแข่งขันกันระหว่าง 2 ค่ายระหว่าง สหรัฐฯ และจีน โดยในฝั่งสหรัฐฯ พยายามเบรกชิป หรือเทคโนโลยีขั้นสูงจากจีน ขณะที่จีนแม้จะถูกแบนจากฝั่งสหรัฐ แต่ความต้องการชิปในจีนเองมีค่อนข้างมาก
โดยเซมิคอนดักเตอร์ยังคงมีอนาคตที่จะเติบโตต่อไปได้จากเนื่องจากมี 5G ที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงต้องมีการใช้เซมิคอนดักเตอร์ฝั่งลงไปในอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมด และรถยนต์เองก็มีการนำมาใช้ด้วย
ขณะที่การมาของ Generative AI ช่วยสร้างดีมานด์ให้กับเซมิคอนดักเตอร์มากขึ้น และเมื่อ AI ได้ถูกนำไปฝั่งในหลากหลายอุตสาหกรรมยิ่งทำให้ดีมานด์ของเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มสูงขึ้น
แม้เชื่อว่าในช่วง 1-2 ปีนี้ การมาของ Generative AI จะช่วยสร้างดีมานด์ให้กับเซมิคอนดักเตอร์ที่เติบโตอย่างเนื่อง แต่การลงทุนในธีมดังกล่าวถือว่าเป็นธีมใหญ่ โดยนักลงทุนอาจจะต้องระมัดระวังและเข้าไปลงทุนในรายละเอียดของหุ้นแต่ละตัวให้มากว่า มีหุ้นที่ซ้ำกันแล้วหรือไม่ ซึ่งซับธีมเหล่านั้นเช่น หุ้น APPLE หรือ Microsoft เหล่านี้มีเซมิคอนดักเตอร์อยู่แล้ว แม้ว่าจะมีการกระจายการลงทุนแล้วก็ตาม แต่การลงทุนอาจจะเหมือนกันหรือคล้ายกันได้ จึงทำให้เกิดการกระจุกตัวของบริษัทที่เราไปลงทุนและทำให้เกิดความเสี่ยงได้ เพราะฉะนั้น การจะเข้าไปลงทุนในควรลงทุนไม่เกิน 10 -15% ของพอร์ตการลงทุน เพราะเชื่อว่าซับธีม จะมีหน้าหุ้นที่คล้ายกันจะได้ไม่เกิดการกระจุกตัวเกินไป
ทั้งนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” ได้สำรวจการลงทุนในกองทุนรวม พบว่า กองทุนเซมิคอนดักเตอร์ 4 กองทุน ส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทน 6 เดือน บวกกว่า 45% (ข้อมูล morningstarthailand ณ 12 มิ.ย.2567)
1.บลจ.ไทยพาณิชย์
กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Semiconductor (ชนิดเพื่อการออมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์) SCBSEMI(SSFE) ให้ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี 38.02% ผลตอบแทน 6 เดือน 45.21% ผลตอบแทน 3 เดือน 11.87% ราคาปิดที่ 16.93 บาท มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 43.28 ล้านบาท ความเสี่ยงระดับ 7 จดทะเบียนกองทุน 10 มิ.ย. 2565
2.บลจ.ดาโอ
กองทุนเปิด ดาโอ อีโวลูชั่น ออฟ เซมิคอนดักเตอร์ DAOL-EVOSEMI ให้ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี 30.15% ผลตอบแทน 6 เดือน 36.44% ผลตอบแทน 3 เดือน 8.87% ราคาปิดที่ 14.78 บาท มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 125.07 ล้านบาท ความเสี่ยง 7 จดทะเบียนกองทุน 24 มิ.ย. 2564
3.บลจ. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์
กองทุนเปิด แอล เอช เซมิคอนดักเตอร์ ชนิดจ่ายเงินปันผล ชนิดช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ LHSEMICON-E ให้ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี 28.80% ผลตอบแทน 6 เดือน 36.17% ผลตอบแทน 3 เดือน 8.66% ราคาปิดที่ 14.72 บาท มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 6.75 ล้านบาท ความเสี่ยง 7 จดทะเบียนกองทุน 29 มิ.ย. 2564
4.บลจ.เกียรตินาคินภัทร
กองทุนเปิดเคเคพี เซมิคอนดักเตอร์ เฮดจ์ ชนิดเพื่อการออม KKP SEMICON-H-SSF ให้ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี 27.80% ผลตอบแทน 6 เดือน 35.95% ผลตอบแทน 3 เดือน 8.18% ราคาปิดที่ 15.50 บาท มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 81.90 ล้านบาท ความเสี่ยง 7 จดทะเบียนกองทุน 7 ก.ค. 2564