หลักการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย นิติบุคคลทำได้กี่แบบ
นิติบุคคลผู้จ่ายเงิน จำเป็นต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ และออกหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) ให้กับผู้รับเงิน เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการยื่นภาษี แต่มีรายละเอียดต้องทำความเข้าใจ ว่ามีทั้งหมดกี่แบบ และทำอย่างไรบ้าง
ตามหลักการทำบัญชีของนิติบุคคล เมื่อมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น นิติบุคคลผู้จ่ายเงินจำเป็นต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้ตามอัตราภาษีแต่ละประเภทที่กฎหมายกำหนด และออกหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) ให้กับผู้รับเงิน เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการยื่นภาษี
โดยนิติบุคคลผู้จ่ายเงินที่สามารถหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ ประกอบด้วย บริษัท ห้างหุ้นส่วน สมาคม หรือคณะบุคคล ซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมาย จะต้องทำการหักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้ทุกครั้ง และนำเงินที่หักส่งให้กับกรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของทุกเดือน หรือยื่นออนไลน์ถึงวันที่ 15 ของทุกเดือน ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
1.กลุ่มที่นิติบุคคลหักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับเงินเดือน ค่าจ้าง ค่านายหน้า ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มมาตรา 40(1) 40(2) ให้ออกหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่ายภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ของปีถัดไปที่มีการหัก ณ ที่จ่าย หรือภายใน 1 เดือนที่ผู้ถูกหักเงิน ณ ที่จ่าย ออกจากงานในระหว่างปีภาษีนั้นๆ
2.กลุ่มที่นิติบุคคลจ่ายเงินอื่นๆ เช่น ค่าบริการ ขนส่ง ค่าเช่า ค่าโฆษณา ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มมาตรา 40(3) 40(4) 40(5) 40(6) 40(7) และ 40(8) จะต้องออกหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่ายทันทีที่มีการหัก ณ ที่จ่ายไว้ และให้ผู้รับจำนวน 2 ฉบับ โดยต้องให้มีข้อความตรงกัน
ทั้งนี้ ในการออกหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย หรือ 50 ทวิ หลังจากหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้ว จะต้องทำหนังสือออกมาแตกต่างกันตามกรณีการจ่ายเงินหลักๆ 3 แบบ และมีวิธีการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายแตกต่างกันด้วย ซึ่งสามารถอธิบายเพิ่มเติมได้ดังนี้
1. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย
ภาษีที่นิติบุคคลต้องหักไว้ทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าบริการ ตามอัตราภาษีแต่ละประเภท
หลักการคำนวณ คือ ค่าบริการ x อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย ตามประเภทรายจ่าย (5% , 3% , 2% หรือ 1%)
ตัวอย่างเช่น สมมติจ่ายค่าจ้างเหมาทำของ 20,000 บาท หัก ณ ที่ จ่าย 3%
ค่าบริการ 20,000 บาท
หัก ณ ที่จ่าย (ค่าจ้างเหมาทำของ 3%) 600 บาท
เงินที่นิติบุคคลต้องจ่ายทั้งสิ้น 19,400 บาท
2. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ออกให้ตลอดไป
ภาษีหัก ณ ที่จ่ายแบบออกให้ตลอดไป คือ รูปแบบภาษีหัก ณ ที่จ่าย ในกรณีที่นิติบุคคลซึ่งเป็นผู้จ่ายได้ออกเงินหัก ณ ที่จ่ายแทนผู้รับตลอดไป โดยออกให้จำกัดจำนวน หรือออกให้ตลอดไป (ออกให้ทุกทอด) จะใช้กับกรณีที่ผู้รับเงินขอรับเป็นจำนวนเต็มไม่หัก ณ ที่จ่าย นิติบุคคลสามารถออกหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย โดยเป็นผู้จ่ายเอง และลงในหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย ในช่อง “ออกให้ตลอดไป”
โดยหลักการคำนวณภาษีออกให้ตลอดไป คือ ภาษีหัก ณ ที่จ่ายออกให้ตลอดไป = จำนวนเงินได้ที่จ่าย x อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย / (100 – อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย)
ตัวอย่าง สมมุติจ่ายค่าจ้างเหมาทำของ 20,000 บาท หัก ณ ที่ จ่าย 3%
ภาษีหัก ณ ที่จ่ายออกให้ตลอดไป 20,000 x 3 / (100-3) = 618.55 บาท
เงินได้ที่ถือเป็นฐานในการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย20,000 + 618.55= 20,618.55 บาท
คูณอัตราภาษี 3% (ค่าจ้างเหมาทำของ) จะได้ภาษีหัก ณ ที่จ่าย 20,618.55 x 3% = 618.55 บาท
เงินที่ผู้รับจะได้รับ = 20,618.55 – 618.55 = 20,000 ( ผู้รับเงินจะได้รับเต็มจำนวน)
3.ภาษีหัก ณ ที่จ่ายออกให้ครั้งเดียว
ภาษีหัก ณ ที่จ่ายแบบออกให้ครั้งเดียว คือ รูปแบบภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่ใช้ในกรณีที่ทางนิติบุคคล ซึ่งเป็นผู้จ่ายได้ออกเงินหัก ณ ที่จ่ายแทนผู้รับในครั้งแรกเพียงครั้งเดียว
โดยมีสูตรการคำนวณ คือ จำนวนเงินภาษีหัก ณ จ่ายออกให้ครั้งเดียว = (จำนวนเงินได้ที่จ่าย + ภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ออกให้ครั้งเดียว) x อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย
ตัวอย่าง สมมุติจ่ายค่าจ้างเหมาทำของ 20,000 บาท หัก ณ ที่ จ่าย 3%
จำนวนเงินหักภาษี ณ ที่จ่ายแบบออกให้ครั้งเดียว = (20,000 + 600) x 3% = 618 บาท
ทั้งนี้ ให้ลงในหนังสือรับรองภาษีหัก ณ ที่จ่าย เขียนว่า เงินได้ 20,600 บาท เงินหักภาษี ณ ที่จ่าย คือ 618 บาท และเงินที่ผู้รับจะได้จริง คือ 20,600 - 618 = 19,982 บาท
สรุป... ไม่หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ก็ต้องนำส่งกรมสรรพากร
หน้าที่ของนิติบุคคลเมื่อมีการจ่ายเงินค่าบริการ จะต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ แต่ในกรณีที่ไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ หรือผู้รับขอรับเงินเป็นจำนวนเต็มแบบไม่หักเงิน แต่นิติบุคคลผู้จ่ายเงินก็ยังมีหน้าที่ต้องส่งเงินที่หักไว้แก่กรมสรรพากร ไม่จะได้ทำการหักไว้หรือไม่ ตามกฎหมายมาตรา 52
“มาตรา 52 บุคคล ห้างหุ้นส่วน บริษัท สมาคม หรือคณะบุคคลซึ่งมีหน้าที่หักภาษีตามมาตรา 50(1) (2) (3) และ (4) ต้องนำเงินภาษีที่ตนมีหน้าที่ต้องหักไปส่ง ณ ที่ว่าการอำเภอภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่จ่ายเงิน ไม่ว่าตนจะได้หักภาษีไว้แล้วหรือไม่”
ดังนั้น ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย แม้นิติบุคคลจะไม่ได้หักแต่ก็ต้องนำส่งตามมาตรา 52 โดยการนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ผู้จ่ายเงินไม่ได้หักเงินไว้ อาจเลือกปฏิบัติได้ดังนี้
- มีสถานะเป็นเจ้าหนี้ของผู้มีเงินได้
- ตั้งผู้มีเงินได้เป็นลูกหนี้ไว้ แล้วออกใบแจ้งหนี้ พร้อมทั้งหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย ให้แก่ผู้มีเงินได้
- ออกหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่ายให้แก่ผู้มีเงินได้ โดยออกให้จำกัดจำนวน หรือออกให้ตลอดไป (ออกให้ทุกทอด)
- กรณีออกหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย ให้ทุกทอด และอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายคงที่ให้คำนวณโดย
ภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ออกให้ทุกทอด = เงินได้ที่จ่าย x อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย หาร (100 - อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย)
โดยหลักการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ต้องส่งให้กรมสรรพากร นิติบุคคลสามารถนำแนวทางการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย ทั้ง 3 แบบ ไปปรับใช้ให้ตรงกับรายจ่ายที่เกิดขึ้นได้
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting