นักเศรษฐศาสตร์ชี้ เศรษฐกิจไทยฟื้น ท่ามกลางปัจจัยรุมเร้าจาก ‘โลกเดือด’

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ เศรษฐกิจไทยฟื้น ท่ามกลางปัจจัยรุมเร้าจาก ‘โลกเดือด’

นักเศรษฐศาสตร์รับปัญหาโลกเดือด สะเทือนไทย ‘บุรินทร์’ ชี้ เศรษฐกิจไทยอยู่ภายใต้ปัจจัยรุมเร้าค่อนข้างสูงจาก Geopolitics ‘กิริฎา’ ชี้ Trade War หนุนไทย จากการย้ายฐานผลิตเข้าไทย “ฐิติมา“ มองเศรษฐกิจช่วงหลังของปี น่าจะเสี่ยงมากขึ้น

ท่ามกลางหลากหลายปัจจัยที่รุมเร้า จากสถานการณ์ภาวะโลกเดือด ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย และถือเป็นปัจจัยอันดับต้นๆ ที่หลายคนมองว่า เป็นความเสี่ยงที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ทั้งจากปัญหาสงครามการค้า สงครามระหว่างประเทศต่างๆ ที่ล้วนมีผลต่อการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวของประเทศไทยทั้งสิ้น

กรุงเทพธุรกิจ” จัดสัมมนา Investment Forum 2024 เจาะขุมทรัพย์ลงทุนยุคโลกเดือด โดยได้เปิดมุมมองถึง “ภาวะโลกเดือด” รวมถึงภาพรวม หรือผลกระทบที่จะมาสู่เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า

บุรินทร์ อดุลวัฒนะ” กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวในหัวข้อเสวนา “เศรษฐกิจไทยใต้วิกฤติโลกเดือด”​ ยอมรับว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยอยู่ภายใต้ปัจจัยรุมเร้าอยู่ค่อนข้างมาก และหนึ่งในนั้นคือ “ปัจจัยกดดัน” จาก Geopolitics หรือปัญหาจากภูมิรัฐศาสตร์ที่มีแต่เพิ่มสูงขึ้น

ท่ามกลางปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้า ส่งผลให้ปัจจุบันโลกหันข้างไปสู่ สินเชื่อ CleanTech หรือเทคโนโลยีสะอาดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี่ รถไฟฟ้า แผงไฟฟ้า ซึ่งเหล่านี้เป็นสินค้าที่จีนให้ความสำคัญและมาจากจีนทั้งสิ้น ส่งผลให้ การกีดกันทางการค้าจากสหรัฐมีความรุนแรงมากขึ้น ท่ามกลางการขึ้นกำแพงภาษีเพิ่มขึ้น 

ส่งผลทำให้วันนี้จากปัญหา Geopolitics ถูกพัฒนาไปสู่ “สงครามการค้า” และไปสู่ “สงคราม CleanTech” ในที่สุด ปัจจุบันความจำเป็นในการลงทุนด้าน CleanTech ทั่วโลกอยู่ที่ 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ปัจจุบันโลกลงทุนเพียง 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น ยังมีรูมอีกมาก ทำให้ระยะข้างหน้าจะเห็นการกีดกันทางการเงินจากสหรัฐยิ่งมากขึ้น

เหล่านี้เป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับประเทศไทยเช่นเดียวกัน ประเทศไทยจำเป็นต้องเกาะกระแส CleanTech เพราะยังมีหลายธุรกิจที่ต้องการปรับตัว โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับคาร์บอน หรือการต่อยอดจากสิ่งต่างๆ เหล่านี้มากขึ้น

หากกลับมาดูที่ประเทศไทย มองว่าการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับตัว และต้องหาอุตสาหกรรมใหม่เพื่อเสริมศักยภาพมากขึ้น โดยเฉพาะด้านอินโนเวชั่น หรือเครื่องมือแพทย์ต่างๆ รวมถึงมีความจำเป็นต้องลงทุนด้าน R & D รวมถึงการลงทุนด้านพลังงานสะอาด ที่ต้องมีมากขึ้น สุดท้ายแล้ว การเอื้อให้เกิดการลงทุนมากขึ้นเขามองว่า ภาครัฐ-เอกชนต้องทำหน้าที่ในการ “ลดความซับซ้อนของกฎหมาย” ให้ลดลง เพื่อทำให้ประเทศไทยแข่งขันได้ ให้เอื้อต่อการลงทุนมากขึ้น 

สำหรับภาพเศรษฐกิจไทยปีนี้ มองว่า ภาพการเติบโตถือว่าอยู่ในระดับที่ดี โดยเฉพาะหลังจากมีเงินลงทุนจากภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทยมากขึ้น รวมถึงจากปัญหาภายนอกประเทศ และความกังวลว่าทรัมป์จะมา ทำให้ธุรกิจเร่งการผลิต และการส่งออกมากขึ้น ดังนั้นมองว่าส่งออกปีนี้จะเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะครึ่งปีหลัง ทำให้ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้ ที่ 2.6% และประเมินว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)อาจไม่ลดดอกเบี้ยในปีนี้

“เศรษฐกิจไทยวันนี้หากเราเพิ่มรายได้ไม่ได้ เราต้องลดรายจ่ายๆ ปัจจุบันเรามีรถยนต์อยู่ราว 44 ล้านคัน ที่วิ่งอยู่ในประเทศไทย และมีรถไฟฟ้าเพียง 1% แต่ถ้าเราเปลี่ยนทุกคันเป็นรถไฟฟ้าทั้งหมด เราจะประหยัดการนำเข้าพลังงานกว่า 1.2 ล้านล้านบาท คิดเป็นราว 6.6% ของจีดีพีปีก่อน ดังนั้นหากเราสามารถประหยัดได้ แม้รายได้คนไม่เพิ่มขึ้น แต่รายจ่ายลดลง ซึ่งเป็นโจทย์ที่ฝากถึงรัฐบาล”

มอง ‘เทรดวอร์’ ผลบวกต่อไทย

“กิริฎา เภาพิจิตร” ผู้อำนวยการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนาและผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก (TDRI) กล่าวว่า แม้การมาของ “ทรัมป์” อาจมุ่งเน้นในนโยบายให้สหรัฐเป็น “อเมริกาเฟิร์ส” ที่อาจสนใจประเทศอื่นๆ น้อยลง ที่อาจทำให้อิทธิพลของจีนอาจแผ่ขยายวงกว้างมากขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการขึ้นกำแพงภาษียิ่งมีมากขึ้น ไม่เฉพาะจีน แต่อาจขยายการเก็บภาษีนำเข้าจากประเทศอื่นๆ ด้วยเช่น จากจีน 60% ประเทศอื่นๆ รวมถึงไทยอาจเพิ่มขึ้น 10% ดังนั้นเหล่านี้กระทบต่อไทยโดยตรง

แต่การมาของปัญหา Trade War อาจทำให้ประเทศไทยได้รับปัจจัยบวกเช่นเดียวกัน ทั้งจากการที่สหรัฐเข้ามาซื้อของไทยมากขึ้น หรือการย้ายฐานการผลิตของจีนเข้ามาไทย ที่เริ่มเห็นเข้ามามากขึ้น และคาดว่า จะเห็นการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาไทยอีกจำนวนมากในช่วง 12เดือนข้างหน้านี้

โดยเฉพาะจากจีน แต่หากดูการลงทุนในไทยที่ผ่านมา พบว่าอันดับหนึ่งยังมาจาก ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และจีน ฉะนั้นจะเห็นการลงทุนมากขึ้น และจีนอาจแซงเบอร์ 1-2 ได้ โดยอุตสาหกรรมการลงทุนที่ต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนในไทย เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ไฟฟ้า การลงทุนที่เกี่ยวกับอาหาร

“ปัจจุบันไทยพึ่งพาเศรษฐกิจโลกค่อนข้างมาก ทั้งการค้าการลงทุน ดอกเบี้ย หากโครงสร้างไทยไม่แข็งแรง อาจไม่สามารถต้านช็อกที่จะเข้ามาได้ ดังนั้นสิ่งที่ต้องปรับปรุงคือ ด้านการเพิ่มสกิล หรือทักษะคนให้มากขึ้น รวมถึงทำให้เอสเอ็มอีแข็งแกร่งมากขึ้น ฉะนั้นการเอื้อให้มีแหล่งทุนให้สามารถเข้าถึงได้มากขึ้น ทำให้การแข่งขันเป็นธรรมมากขึ้น"

สำหรับมุมมองเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง TDRI มองว่า ครึ่งหลังปี 2567 จะเห็นการฟื้นตัวดีกว่าครึ่งปีแรก โดยทั้งปีจะขยายตัวอยู่ที่ 2.5-2.8% จากแรงส่งจากส่งออก ท่องเที่ยว การลงทุนภาครัฐ และเอกชนที่มากขึ้น 

“แต่โดยรวมยังมองว่า ประเทศไทยเรายังเซ็กซี่ในการดึงดูดการลงทุนต่างประเทศเข้ามาอยู่ เงินเฟ้อไทยก็ต่ำ ดอกเบี้ยก็ไม่ได้สูงหากเทียบกับประเทศอื่นๆ ดังนั้นความมั่นคงทางเศรษฐกิจมหภาคถือว่าแข็งแรงมาก ในด้านทุนสำรองระหว่างประเทศมากที่สุดติดท็อป 15ของโลก ดังนั้นด้านเศรษฐกิจมหาภาคเราไม่ได้เป็นรองใคร”

ส่วน อัตราดอกเบี้ยไทย อาจเห็นการลดลงปลายปีนี้ และปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ปัจจุบันต่ำที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และห่างกับสหรัฐ 3% ดังนั้น หากให้กนง. ลดดอกเบี้ยอาจทำให้ความห่วงดอกเบี้ยสหรัฐและไทยจะยิ่งเพิ่มขึ้น ที่อาจกดดันเงินบาทให้อ่อนค่ามากขึ้น

ดังนั้น โจทย์นี้อาจทำให้กนง.ต้องพิจารณามากขึ้น ดังนั้น หลังจากนี้อาจเห็นกนง. ลดดอกเบี้ยไม่เร็วนัก ดังนั้น การลดดอกเบี้ยของกนง. มีโอกาสเกิดขึ้นได้หลังจากสหรัฐปรับลดดอกเบี้ยแล้วในช่วงปลายปี

ครึ่งปีหลังไทยเสี่ยงมากขึ้น  

“ฐิติมา ชูเชิด” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหาภาค ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ​มองว่าภายใต้ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้น เช่นเดียวกัน เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงด้านต่ำมากกว่าด้านสูง และมองว่าเศรษฐกิจในช่วงหลังของปีน่าจะมีความเสี่ยงมากขึ้น

ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่กนง.มองว่าอาจกดดันเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ความเปราะบางของหนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุด อาจเป็นน้ำหนักที่เพิ่มเข้ามา จากที่กนง.เคยมองว่าเศรษฐกิจจะค่อยๆฟื้นตัว ซึ่งเป็นเฟกเตอร์ที่ทำให้กนง.ลดดอกเบี้ยได้หนึ่งครั้งปีนี้ และปีหน้าหนึ่งครั้ง

หากดูภาคหนี้ครัวเรือนไทยพบว่า เริ่มมีปัญหามากขึ้น โดยเฉพาะด้าน K ขาล่าง หรือลงระดับล่างที่พบว่ารายได้ไม่พอรายจ่ายที่เริ่มมีมากขึ้น และพบว่าเงินเดือนต่ำกว่า 3หมื่นบาท มีรายได้ไม่พอรายจ่ายราว 80% หรือกลุ่มที่มีรายได้ 5 หมื่นบาทที่พบว่า มีพฤติกรรมการจ่ายหนี้แค่ขั้นต่ำ เพราะรายจ่ายมากขึ้น ดังนั้นเหล่านี้เป็นอาการของหนี้ครัวเรือนไทยที่สร้างความเปราะบางสำหรับเศรษฐกิจไทยมากขึ้น

นอกจากนี้ ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะผู้บริโภครายย่อยเท่านั้น แต่ยังขยายวงกว้างไปสู่ธุรกิจรายย่อยมากขึ้น ที่เริ่มเห็นหนี้ภาคธุรกิจสูงขึ้น และมีรายได้ไม่พอรายจ่ายเช่นเดียวกัน ดังนั้นถือเป็นประเด็นที่น่าห่วงแม้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมไปได้ แต่หากดูกลุ่มระดับล่างมีความน่าห่วงมากขึ้น

โดยรวมประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ จะขยายตัวอยู่ที่ 2.5% ภายใต้การเบิกจ่ายภาครัฐที่จะเบิกจ่ายได้มากขึ้น จากตัวเลขส่งออก ท่องเที่ยวมากขึ้น ส่งผลให้ครึ่งปีหลังน่าจะเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยครึ่งปีหลังน่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 2% และครึ่งปีหลัง 3% ส่งผลให้ทั้งปีเศรษฐกิจไทยจะเฉลี่ยอยู่ที่ 2.5% ซึ่งดีกว่าปีก่อนที่ขยายตัว 1.9%

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์