ส่อง 5 อันดับกองทุน Global bond ผลตอบแทน Top perform

ส่อง 5 อันดับกองทุน Global bond ผลตอบแทน Top perform

กองทุน Global Bond ในไทยโตพุ่ง รอบ 1 ปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันที่มีมูลค่าตลาดแตะ 8.8 หมื่นล้านบาท เกือบสูงสุด 5 ปีย้อนหลัง “มอร์นิ่งตาร์” พบบลจ.อีสท์สปริง มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด 23% มูลค่า  2 หมื่นล้านบาท และ กองทุน ทิสโก้ ยูเอส ตราสารหนี้ระยะสั้น ผลตอบแทน Top performสุด 10.10%

ขนาดตลาดของ กองทุน Global Bond ในไทยเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ค่อยๆฟื้นตัวในปี 2566 และต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันที่มีมูลค่าตลาดแตะ 8.8 หมื่นล้านบาท นับเป็นระดับที่เกือบสูงที่สุดในรอบ 5 ปีย้อนหลัง "มอร์นิ่งสตาร์ (ประเทศไทย)"  รายงาน

บลจ. 5 อันดับแรกที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิมากที่สุดในกลุ่มกองทุน Global Bond  ดังนี้ 

1 .บลจ.อีสท์สปริง มูลค่า  2 หมื่นล้านบาท ส่วนแบ่งตลาด 23% 

2. บลจ.กรุงศรี มูลค่า 1.9 หมื่นล้านบาท ส่วนแบ่งตลาด 22% 

3. บลจ.ยูโอบี มูลค่า 1.7 หมื่นล้านบาท ส่วนแบ่งตลาด 20% 

4. บลจ.ไทยพาณิชย์ มูลค่า 7 แสนล้านบาท ส่วนแบ่งตลาด  8% 

5. บลจ.บัวหลวง  มูลค่า 6 แสนล้านบาท ส่วนแบ่งตลาด  6% 

ทั้งนี้การฟื้นตัวดังกล่าว เกิดขึ้ยภายหลังจากที่มูลค่าทรัพย์สินสุทธิโดยรวมของกลุ่มไปแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปีในปี 2565ที่ระดับ 5 หมื่นล้านบาท

มีสาเหตุมาจากทั้งการปรับตัวลดลงของผลตอบแทนกว่า 11% (ค่าเฉลี่ยผลตอบแทนในปี 2565 ของกองทุนในกลุ่ม Global Bond) และการไหลออกของยอดเงินลงทุนอีกกว่า 2 หมื่นล้านบาท

 

แต่หากมาพิจารณา"ยอดเงินลงทุนสุทธิ" จะพบว่า  บลจ.กรุงศรี มียอดเงินลงทุนสุทธิในกลุ่มกองทุน Global Bond สูงที่สุดในปี 2567  คิดเป็นยอดเงินลงทุนสุทธิประมาณ 6.3 พันล้านบาท จากยอดเงินลงทุนรวมของทั้งอุตสาหกรรมประมาณ 9.4 พันล้านบาท รองลงมา คือ บลจ.ยูโอบี มี 3 พันล้านบาท , บลจ. บัวหลวง มี 1.4 พันล้านบาท , บลจ.ทิสโก้ มี 929 ล้านบาท และ บลจ.กสิกร มี 751 ล้านบาท ตามลำดับ 

กองทุน Top perform

ปี 2567 เป็นอีกปีที่กองทุน Global Bond สามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยได้เป็นบวก โดยค่าเฉลี่ยผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีของกองทุนในกลุ่มทั้งอุตสาหกรรมอยู่ที่ 0.50% ซึ่งผลตอบแทนอาจดูไม่สูงมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯที่ปัจจุบันอยู่ในระดับสูงถึง 5.25% - 5.50%

โดยสาเหตุหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยกดดันด้านค่าเงิน ซึ่งกองทุนที่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน จะมีต้นทุนสำหรับการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงที่เกือบ 3% ตามส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยนโยบายระหว่างไทยและสหรัฐฯ

นอกจากนี้ หากพิจารณาในรายละเอียดของกองทุนในกลุ่ม จะพบว่าผลตอบแทนระหว่างกองทุนที่สร้างผลตอบแทนได้สูงที่สุดกับกองทุนที่สร้างผลตอบแทนได้ต่ำที่สุด มีส่วนต่างสูงถึง 16.43% โดยกองทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงที่สุด คือ กองทุนเปิด ทิสโก้ ยูเอส ตราสารหนี้ระยะสั้น ซึ่งสามารถสร้างผลตอบแทนได้ 10.10% ในปีนี้

ส่อง 5 อันดับกองทุน Global bond ผลตอบแทน Top perform

และหากพิจารณากองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่ม คือ กองทุนเปิด ยูไนเต็ด โกลบอล อินคัม สตราทีจิค บอนด์ ฟันด์ ของ บลจ.ยูโอบี ซึ่งมีขนาดกองทุนประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท และขนาดกองทุนมีการเติบโตกว่า 35% ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา

 

จากข้อมูลผลตอบแทนข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ท่ามกลางความกังวลของนักลงทุนบางกลุ่มถึงทิศทางนโยบายของธนาคารกลางและอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ในตลาดยังมีโอกาสของการลงทุนอยู่เสมอ


โดยกองทุน 4 อันดับแรกที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงสุดนั้นล้วนเป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น ซึ่งได้รับประโยชน์จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ ดังนั้นการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยจึงไม่ได้ส่งผลเชิงลบต่อผลการดำเนินงานของกองทุนตราสารหนี้เสมอไป โดยบางกองทุนอาจมีการกระจายสัดส่วนในตราสารหนี้หลากหลายประเภทที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ดีในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นหรือช่วงที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง เช่น ตราสารหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยลอยตัว หรือ ตราสารหนี้ที่อิงกับอัตราเงินเฟ้อ เป็นต้น

ขณะที่บางกองทุนอาจมีเป้าหมายการสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากกองทุนหลักโดยเห็นโอกาสจากทิศทางค่าเงินที่เกิดขึ้นในตลาด ดังนั้นการคัดเลือกกองทุนที่เหมาะสมกับสภาพตลาดและเป้าหมายการลงทุนจึงล้วนเป็นปัจจัยที่นักลงทุนควรพิจารณาก่อนการตัดสินใจลงทุน

 

บลจ.พาเหรดออกกองทุน Gobal Bond เพียบ

นำโดยบลจ.ยูโอบี เปิดโอกาสการลงทุนในตราสารหนี้ทั่วโลก บลจ.ยูโอบี เสนอขาย กองทุนเปิด ยูไนเต็ด โกลบอล อินคัม สตราทีจิค บอนด์ เอฟเอ็กซ์ ฟันด์ (UGISFX) IPO 27 มิถุนายน – 9 กรกฎาคม 2567  

ผู้จัดกองทุน บลจ.ยูโอบี มองว่า ภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกมีทิศทางที่ชะลอตัวลง นโยบายการเงินทั่วโลกมีแนวโน้มผ่อนคลายลงในช่วงครึ่งปีหลัง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้หลายกลุ่มปรับตัวสูงขึ้นอยู่ในระดับที่น่าสนใจ อายุเฉลี่ยของพอร์ตอยู่ในจุดที่เหมาะสม โดยเฉพาะตราสารหนี้ที่มีอายุปานกลาง ซึ่งมองว่าจะได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับลดลงในระยะถัดไป อีกทั้งตราสารหนี้มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีหลังจบวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ย ภาวะตลาดดังกล่าวจึงเป็นโอกาสเข้าลงทุนในตราสารหนี้ทั่วโลก 

ตามมาด้วย  บลจ.กสิกรไทย เปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนได้เข้าลงทุนกับกองทุนการันตีเงินต้นกองใหม่ “KGSTEPB” ชู 2 ฟีเจอร์เด่นทั้งการรับประกันเงินต้น และการรับผลตอบแทนแบบขั้นบันได (Step-up) เน้นกระจายการลงทุนในหลากหลายประเภทสินทรัพย์ทั่วโลก กองทุนมีอายุโครงการ 5 ปี 2 เดือน พร้อมเปิดขาย IPO ระหว่างวันที่ 28 มิ.ย. – 12 ก.ค. นี้

วจนะ วงศ์ศุภสวัสดิ์ Chief Investment Officer บลจ.กสิกรไทย เปิดเผยว่า จากการเสนอขายกองทุนการันตีเงินต้นในรอบที่ผ่านมา ได้รับความสนใจและการตอบรับจากผู้ลงทุนไทยอย่างท่วมท้น โดยสามารถระดมทุนได้สูงกว่า 4,000 ล้านบาท ขึ้นแท่นครองสถิติกองทุน IPO ที่มียอดขายสูงที่สุดของปี (ไม่นับรวมกองทุน Term Fund) ทั้งนี้ บลจ.กสิกรไทย เปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนที่พลาดโอกาสการลงทุนในรอบที่ผ่านมาได้เข้าลงทุนอีกครั้ง

 บลจ.กสิกรไทย ได้ร่วมมือกับ 2บริษัทยักษ์ใหญ่ในยุโรป ได้แก่ Amundi Asset Management บริษัทจัดการกองทุนที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 ในยุโรป ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการกองทุน (Outsourced Fund Manager) และ Credit Agricoleสถาบันการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 ในยุโรป ทำหน้าที่เป็นผู้ประกันเงินลงทุนของกองทุน (Guarantor) ทั้งนี้ กองทุน KGSTEPB มีอายุโครงการประมาณ 5 ปี 2เดือน และมีนโยบายการลงทุนที่เน้นกระจายลงทุนในหลากหลายประเภทสินทรัพย์ทั่วโลก ทั้งพันธบัตร หุ้นกู้ และหุ้น ซึ่งจะสามารถรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจได้ดีกว่าการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่งเพียงอย่างเดียว ตามแนวคิดที่กล่าวว่าสินทรัพย์แต่ละประเภทจะทำหน้าที่สร้างผลตอบแทนให้ได้ในสภาวะตลาดที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ กองทุนKGSTEPB ยังมาพร้อมกับฟีเจอร์เฉพาะตัวทั้งการรับประกันเงินต้น และการรับผลตอบแทนแบบขั้นบันได (Step-up)