เตือนรับมือ ‘วิกฤติฐานราก’ หนักกว่า ‘ต้มยำกุ้ง’ ปี 40
ย้อนรอย 27 ปีวิกฤติต้มยำกุ้ง “ศุภวุฒิ” ชี้ปัจจุบันเป็นวิกฤติคนจนแก้ยาก “บรรยง” ห่วงความเหลื่อมล้ำลามเกิดวิกฤติสังคม “วิรไท” ระบุปัจจุบันน่าห่วงกว่าต้มยำกุ้ง “กฤษณ์” ระบุไทยเผชิญปัญหาโตต่ำ ล้าหลัง “ประเสริฐ” ชี้ ปัญหาเศรษฐกิจไทยเป็นวิกฤติแก้ยากกว่าต้มยำกุ้ง
วิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ผ่านมา 27 ปี ยังสร้าง “แผลเป็น” และสร้างบทเรียนครั้งประวัติศาสตร์ให้กับ “เศรษฐกิจไทย” เพื่อไม่ให้เดินหลงกลับไปเผชิญวิกฤติต้มยำกุ้งอีกครั้ง
หากย้อนดูวิกฤติต้มยำกุ้งที่เกิดขึ้นเมื่อ 2 ก.ค.2540 สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยจนลามเป็นวิกฤติการเงินในที่สุด จากการที่ไทยมีหนี้ต่างประเทศจำนวนมาก การเปิดเสรีทางการเงิน การมีนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่คงที่ทำให้ไทยถูกโจมตีค่าเงิน
หรือแม้แต่การลงทุนที่เกินตัวทำให้เกิดฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ หรือจากปัญหาของสถาบันการเงินที่ขาดความรัดกุมในการบริหารจนนำมาสู่การปิดบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ และธนาคารพาณิชย์จำนวนมาก 58 แห่ง
“กรุงเทพธุรกิจ” โดยรายการ Deep Talk ได้สัมภาษณ์ 5 บุคคลสำคัญทั้งนักเศรษฐศาสตร์ และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้บริหารระดับสูงทั้งในวงการอสังหาริมทรัพย์ ผู้บริหารสถาบันการเงินอันดับต้นๆ ของเมืองไทย ที่เป็นบุคคลสำคัญ และอยู่ในสำคัญของปี 2540 ที่จะฉายภาพถึงวิกฤติปี 2540 และภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน
นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เล่าให้ถึง “วิกฤติปี 40” ว่า เศรษฐกิจไทยวันนี้ ต่างกันอย่างกับ “ฟ้ากับดิน” หากเทียบกับ วิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ซึ่งวิกฤติขณะนั้น เป็นวิกฤติที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน เป็นปัญหาจากที่ไทยกู้หนี้ต่างประเทศมากเกินไป โดยเฉพาะคนรวย ดังนั้นวิกฤติปี 40 จึงเป็นวิกฤติของคนรวย ที่กระทบชาวบ้านด้วย แต่คนรวยลำบากรุนแรงที่สุด
ซึ่งหากดูในช่วงวิกฤติปี 40 ในประเทศไทยเอ็นพีแอลขึ้นไปเป็น 42% ส่วนใหญ่มาจากบริษัทขนาดใหญ่ จากปัญหางบดุล และสินทรัพย์ที่มีปัญหา จากเศรษฐกิจตกต่ำทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ซึ่งครั้งนั้นเป็นปัญหาของบริษัทขนาดใหญ่ แบงก์ต้องเพิ่มทุน
วิกฤติปัจจุบันคือ วิกฤติของคนจน
สำหรับวิกฤติต้มยำกุ้งที่ผ่านมา ถือว่าสวนทางกับเศรษฐกิจปัจจุบัน ที่คนที่ลำบากที่สุดคือ “ชาวบ้าน” ไม่ใช่คนรวย รอบนี้ไม่ได้เป็นปัญหาหนี้ของคนรวย หรือหนี้ต่างประเทศ แต่เป็นวิกฤติของคนจนที่ไม่ได้รวย เป็นหนี้ของคนส่วนใหญ่ในประเทศ
ดังนั้นอาจจะเรียกว่าวิกฤติ แต่เป็นวิกฤติที่มาจากการป่วยที่ค่อยๆ ป่วยไปเรื่อยๆ ช้าๆ ต่างกับรอบวิกฤติปี 2540 ที่เป็นการป่วยแบบเฉียบพลัน
ปัจจุบัน ประชาชนกำลังมีรายได้เสื่อมถอยลงไป แม้ครั้งนี้จะไม่ซ้ำรอยกับวิกฤติต้มยำกุ้ง แต่ครั้งนี้คือ วิกฤติคนจน ปัญหาของประชาชนส่วนใหญ่ เห็นได้จากราคารถยนต์ที่ลดลงไปกว่า 30% ราคาบ้านไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทุกอย่างกำลังเสื่อมถอย
ดังนั้นแล้วสุดท้ายหวังว่า ระยะสั้น เศรษฐกิจโลกฟื้นเพราะการพึ่งการฟื้นตัวจากภายในคงทำได้ยากในต่างประเทศวิธีที่จะทำให้หนี้ของคนลดลง คือ การเพิ่มรายได้ให้ประชาชน
“ผมเชื่อว่าเราจะไม่ซ้ำรอยวิกฤติต้มยำกุ้ง รอบที่แล้วบริษัทใหญ่ๆ มีปัญหาไม่กี่บริษัท ไม่กี่สิบราย ซึ่งการจัดการปัญหามันง่ายกว่าปัจจุบันที่เผชิญปัญหาเกือบกว่า 30 ล้านคน ที่ส่วนใหญ่เข้าไปจัดการได้ยากมาก”
ห่วงไทยความเหลื่อมล้ำสูงลามเป็นวิกฤติสังคม
นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคิน ภัทร กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปัจจุบันถือว่าต่างกับเศรษฐกิจตอนต้มยำกุ้งที่เศรษฐกิจไทยเติบโตปีละ 8-9% ต่อเนื่องกันมา 8 ปี ซึ่งโตจาก เงินไหลเข้าประเทศค่อนข้างมาก เพราะเราดำเนินนโยบายการเงินแบบเปิด ที่เอื้อให้เงินไหลเข้าเสรี ขณะเดียวยังมีอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เงินต้นทุนต่ำกว่าจากนอกประเทศ ไหลเข้าสู่ประเทศอย่างมาก และนำไปลงทุน ที่ไม่ก่อให้เกิดผลที่คุ้มค่า สุดท้ายก็เริ่มเกิดฟองสบู่
ทั้งนี้หากถามว่าเศรษฐกิจไทยปัจจุบันจะซ้ำรอยวิกฤติปี 40 หรือไม่ เชื่อว่า ไม่มีทางที่จะเกิดอย่างนั้น แต่การเติบโตจะช้า การไม่มีประสิทธิภาพเป็นต้นทุนใหญ่ของระบบเศรษฐกิจไทย ที่ทำให้กระบวนจัดสรรทรัพยากรในระบบตลาดเงินมีต้นทุนที่สูงมาก
ปัญหาใหญ่ที่สุดของเศรษฐกิจไทย คือ เรื่องความเหลื่อมล้ำ ที่จะทำให้เกิดวิกฤติสังคม ไม่ใช่วิกฤติเศรษฐกิจ ไม่เหมือนปีต้มยำกุ้ง แต่มันจะมาจากสังคม
ซึ่งมันจะมาจากความเหลื่อมล้ำ ทั้งความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ทรัพย์สิน ปัญหาความเหลื่อมล้ำเหล่านี้จึงสำคัญมาก และในเวลาเศรษฐกิจโตช้า ผลกระทบคือ ทำให้คนที่มีโอกาสน้อย จะยิ่งโตช้า หรือติดลบด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นจึงเกิดแรงกดดันทางด้านสังคม ที่เป็นปัญหาที่กังวลมากที่สุด
นายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า วิกฤติต้มยำกุ้ง ถือเป็นบทเรียนที่สำคัญมากๆ ที่ไม่ควรทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจ และสภาวะเศรษฐกิจต้องตกไปอยู่ในสภาวะแบบนั้นอีก ที่การบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาค และระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ทำให้ความสามารถในการบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคมีข้อจำกัดมาก รวมถึงภาคสถาบันการเงินแข่งขันกันสูงมากภายใต้บริษัทเงินทุนเกือบ 100 แห่งที่สร้างความเสี่ยงเกินควร
แต่ปัจจุบัน การบริหารจัดการ การกำกับดูแลของสถาบันการเงินมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก มีความเข้มแข็งขึ้น ทำให้เราสามารถผ่านวิกฤติหลายอย่างได้เช่น วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008-2009 ที่เรียกว่าเป็นวิกฤติการเงินโลก หรือวิกฤติโควิด ที่สามารถผ่านมาได้
เศรษฐกิจไทยปัจจุบันเทียบปี 40 แย่ลง
แต่เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน หากเทียบกับวิกฤติปี 40 เขามองว่า “แย่ลง” หากเทียบกับความท้าทายที่จะต้องเผชิญในอนาคต นอกจากหนี้ภาครัฐอยู่ระดับสูง ในระดับครัวเรือนเองก็มีปัญหา ที่หนี้ครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง คนไทยเป็นหนี้เร็ว หนี้เสียค่อนข้างมาก มีเงินออมต่ำ แสดงว่าภูมิคุ้มกันในระดับครัวเรือนก็อยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงเช่นเดียวกัน
สถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ที่ถือเป็นแรงกระแทกต่อฐานะการเงินของทุกครัวเรือน ที่ได้รับผลกระทบ กิจกรรมทางเศรษฐกิจมันหยุดชะงัก ฐานะการเงินของครัวเรือนก็ถูกกระแทกไปมาก ดังนั้นหากเราไม่มีภูมิคุ้มกันที่ดีในอนาคต ความเสี่ยงเหล่านี้ก็จะมากขึ้นอย่างชัดเจน
ภาคการเงินไทยแข็งแกร่งต่างกับปี 40
นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปัจจุบันถือว่าต่างกับวิกฤติปี 40 หลายด้าน ปัจจุบัน โดยเฉพาะด้านเสถียรภาพระบบการเงิน ที่ ธปท.ถือเป็นเสาหลักในการสร้างเสถียรภาพในระบบการเงินไทย และเป็นองคาพยพที่ทำให้ระบบการเงินเข้มแข็ง ต่างกับ 20 กว่าปีที่ผ่านมา ที่ทำให้ปัจจุบันมีกลไกในการสร้างความเข้มแข็ง ทั้งการตั้งสำรอง เกณฑ์การปล่อยสินเชื่อที่มีความรัดกุมค่อนข้างมาก
ซึ่งต่างกับวิกฤติปี 40 ที่เป็นวิกฤติจากการเติบโตไม่หยุดหย่อนของเศรษฐกิจ จนทำให้เกิดฟองสบู่แตก จากการมองภาพการลงทุนดีเกินไป การกู้เงินต่างประเทศเข้ามาจำนวนมาก เพราะหวังรวยขึ้น แต่ปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยไม่ได้มีปัญหาในด้านการเติบโตมาก แต่การเติบโตเริ่มห่าง และล้าหลังหากเทียบกับเพื่อนบ้านค่อนข้างมาก
“เชื่อว่าเราจะไม่ซ้ำรอยวิกฤติปี 40 เราไม่ได้อยู่ในโหมดของการเติบโตสูง แต่อยู่ในโจทย์ที่ทำอย่างไรให้เรากลับมามีศักยภาพในการเติบโต ที่ห่วงวันนี้คือ การเติบโตในอนาคตที่มีความท้าทายมากขึ้น ดังนั้นการแก้ปัญหาต้องทำทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวเพราะปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการทับซ้อนในหลายมิติ”
วิกฤติปี 67กระทบฐานรากต่างจาก ‘ต้มยำกุ้ง’
นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า ปี 2567 ปัญหาเศรษฐกิจต่างจากปี 2540 เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการรายใหญ่ ธนาคารมีกำไร
ขณะที่ประชาชนได้รับผลกระทบมาก โดยเฉพาะตลาดกลางล่าง กลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ซึ่งช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาไม่มีงานทำ เงินเดือนไม่ขึ้น ที่สำคัญใช้เงินออมไปหมดแล้ว มีการกู้หนี้นอกระบบ
อีกปัญหาสำคัญ “ดอกเบี้ยสูง” ขณะที่กำลังซื้อตลาดกลางลงล่างของไทยไม่มีเงินออม ทั้งมีหนี้นอกระบบจำนวนมาก และแบกภาระดอกเบี้ยไม่ไหว ค่าผ่อนบ้านขึ้นมาเกือบเท่าตัวจากปกติดอกเบี้ย 3% ขึ้นมาเป็น 6%
ส่วนยอดการปฏิเสธสินเชื่อ (Rejection Rate) สูงถึง 70% เป็นตัวเลขไม่เคยเห็นมาก่อนตลอดระยะเวลา 30 ปีที่อยู่ในวงการอสังหาริมทรัพย์
“วิกฤติครั้งนี้แก้ยากกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง เพราะเป็นภาคประชาชนทุกภูมิภาคทั่วโลกรวมถึงคนไทยที่ได้รับผลกระทบในภาวะเช่นนี้ เกิดคนไร้บ้าน (homeless) ทั่วโลก ส่วนในไทยกลุ่มคนอยู่ในตลาดกลาง-ล่างมีหนี้นอกระบบไม่สามารถซื้อบ้านใหม่ได้ทำให้ดีมานด์ดิ่งลง"
ขณะที่ ราคาที่ดิน ค่าครองชีพสูงขึ้น ซัพพลายแพงขึ้นจากราคาต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทั้งที่ดิน วัสดุก่อสร้าง ค่าแรง วิ่งสูงขึ้นเป็น “K-Shaped” จึงเป็นเหตุผลที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ถูกปฏิเสธสินเชื่อถึง 70% จากปกติอยู่ที่ระดับ 20-30%
หากสะท้อนจากข้อมูลไตรมาสแรกที่ผ่านมา พบว่าเป็นครั้งแรกที่ตลาดรวม “ติดลบ” ทุกสินค้าและทุกระดับราคายกเว้นบ้านราคาสูงกว่า 50 ล้านบาท และตัวเลขในฝั่งของยอดขายที่เป็นตัวนำไปสู่การโอน ถ้ายอดขายขายติดลบ ยอดโอนจะติดลบตามไปด้วย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์