10 กองทุนหุ้นญี่ปุ่น ครึ่งปี 67 พุ่งสูงสุด 28% Nikkei 225 YTD บวก 17% สวนทางจีดีพีต่ำคาด
10 กองทุนหุ้นญี่ปุ่น ครึ่งปี 67 พุ่งสูงสุด 28% Nikkei 225 YTD บวก 17% สวนทางจีดีพีต่ำคาด กองทุนเปิดแอสเซทพลัสนิปปอนโกรท หรือ ASP-NGF ผลตอบแทนนับตั้งแต่ต้นปีโดดเด่นที่สุดในกลุ่มพุ่ง 28.33%
แม้ว่า นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของโลก จะปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจญี่ปุ่น โดยระบุว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มหดตัวในปี 2567 ซึ่งจะเป็นการหดตัวรายปีเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่โรคโควิด-19 แพร่ระบาดในปี 2563 ขณะที่จีดีพีไตรมาส 1/67 ออกมาต่ำกว่าคาดที่ 2.9% จากเดิมที่ 1.8% รวมถึงค่าเงินเยนอ่อนค่าต่ำสุดในรอบ 38 ปี
แต่ทว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นกลับดูสดใสมีความน่าสนใจ ยังคงมีความน่าสนใจ ดูได้จากช่วงที่ผ่านมาดัชนี Nikkei 225 ปรับตัวเพิ่มขึ้น เหนือระดับ 40,000 จุด ครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่ม Technology หลัง Nasdaq ขึ้นทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในวันก่อนหน้า ขณะที่กลุ่ม Financials ปรับตัวขึ้นเช่นกัน ได้ปัจจัยบวกจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ดีดตัวขึ้น
ทั้งนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” ได้สำรวจกองทุนหุ้นญี่ปุ่นในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ซึ่งผลงานออกมาเป็นที่น่าสนใจให้ผลตอบสูงสุดกว่า 28%
1.กองทุนเปิดแอสเซทพลัสนิปปอนโกรท หรือ ASP-NGF ผลตอบแทนนับตั้งแต่ต้นปี 28.33% มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 555.77 ล้านบาท ราคา 23.19 บาท ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน Nippon Growth (UCITS) Fund จดทะเบียนในไอร์แลนด์ ซึ่งบริหารและจัดการโดย E.I. Sturdza Strategic Management Limited - กองทุนมีนโยบายเน้นลงทุนในต่างประเทศ จึงอาจจะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนบริษัทจัดการอาจพิจารณาจัดให้มีการประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ หรืออัตราดอกเบี้ย หรือความเสี่ยงจากการลงทุนในต่างประเทศ ให้เหมาะสมกับสภาวการณ์แต่ละขณะ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.ประกาศกำหนด
2.กองทุนเปิดกรุงศรีเจแปนอิควิตี้อินเด็กซ์เฮดจ์เอฟเอ็กซ์-ผู้ลงทุนสถาบัน KFJPINDX-I ผลตอบแทนนับตั้งแต่ต้นปี 24.94% มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 15.93 ล้านบาท ราคา 25.00 บาท เข้าไปลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศชื่อ NEXT FUNDS Nikkei 225 Exchange Traded Fund (กองทุนหลัก) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV โดยกองทุนหลักเน้นลงทุนในหุ้นที่เป็นส่วนประกอบของดัชนี Nikkei 225 (แจ้งเปลี่ยนแปลงกองทุนหลักจากเดิม Nikkei 225 Exchange Traded Fund มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2563)
3.กองทุนเปิดเค ดัชนีหุ้นญี่ปุ่น-C ชนิดสะสมมูลค่า K-JPX-C(A) ผลตอบแทนนับตั้งแต่ต้นปี 22.75% มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 706.56 ล้านบาท ราคา 22.34 บาท ลงทุนในกองทุน NEXT FUNDS TOPIX Exchange Traded Fund (กองทุนหลัก) เป็นกองทุนอีทีเอฟที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว และมีนโยบายการลงทุนให้มีผลตอบแทนตามดัชนีตลาดหุ้นญี่ปุ่น TOPIX กองทุนป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่น้อยกว่า 75% ของมูลค่าเงินลงทุนต่างประเทศ
4.กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นญี่ปุ่น (ชนิดช่องทางอิเล็กทรอนิกส์) SCBNK225E ผลตอบแทนนับตั้งแต่ต้นปี 20.55% มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 57.65 ล้านบาท ราคา 30.79 บาท ลงทุนในกองทุน Nikkei 225 Exchange Traded Fund ที่บริหารงานภายใต้ความดูแลของ Nomura Asset Management Co.,Ltd. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมููลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยกองทุนหลักมีนโยบายลงทุนในตราสารทุนทั้งหมดที่เป็นส่วนประกอบของดัชนีนิคเคอิ 225
5.กองทุนเปิด ทิสโก้ เจแปน อิควิตี้ TISCOJP ผลตอบแทนนับตั้งแต่ต้นปี 19.30% มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 357.05 ล้านบาท ราคา 27.00 บาท ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน Nomura NIKKEI 225 Exchanged Traded Fund ซึ่งเป็นกองทุน ETF ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว ที่ลงทุนในหุ้นในกลุ่มดัชนี Nikkei 225
6.กองทุนเปิดอีสท์สปริง Japan Equity ES-JE ผลตอบแทนนับตั้งแต่ต้นปี 19.22% มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 310.77 ล้านบาท ราคา 21.63 บาท เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองเดียว (Master Fund) คือ Nikkei 225 Exchange Traded Fund ในอัตราส่วนโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน
7.กองทุนเปิดเคแทม เจแปน อิควิตี้ พาสซีฟ ฟันด์ ชนิดสะสมมูลค่า KT-JPFUND-A ผลตอบแทนนับตั้งแต่ต้นปี 19.17% มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 122.96 ล้านบาท ราคา 17.93 บาท นมีนโยบายเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน iShares Core Nikkei 225 ETF (กองทุนหลัก) เพียงกองเดียว โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม หรือตามอัตราส่วนที่สํานักงาน คณะกรรมการ ก.ล.ต. จะประกาศกําหนด ทั้งนี้ กองทุน iShares Core Nikkei 225 ETF (กองทุนหลัก) ได้จดทะเบียนซื้อ ขายในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว (Tokyo Stock Exchange : TSE) ซี่งบริหารและจัดการโดย BlackRock Japan Co., Ltd. (Management Company)
8.กองทุนเปิดพรินซิเพิล เจแปนนิส อิควิตี้ ชนิดสะสมมูลค่า PRINCIPAL JEQ-A ผลตอบแทนนับตั้งแต่ต้นปี 18.50% มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 88.51 ล้านบาท ราคา 16.23 บาท มีนโยบายการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียวคือ Alma Capital Investment Funds-Alma Eikoh Japan Large Cap Equity Fund (กองทุนหลัก) ชนิดหน่วยลงทุน (Share Class) I JPY C โดย เฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน (Feeder Fund) ซึ่งจดทะเบียนในประเทศลักเซมเบิร์ก และกองทุนหลักจัดตั้งตามเกณฑ์ UCITS โดยกองทุนบริหารและจัดการโดย Alma Capital Investment Management
9.กองทุนเปิด วรรณ อัลติเมท เจแปน อิควิตี้ ONE-UJE-RA ผลตอบแทนนับตั้งแต่ต้นปี 17.51% มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 114.63 ล้านบาท ราคา 13.14 บาท กองทุนจะลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหน่่วย CIS และ/หรือกองทุนรวมอีทีเอฟ(ETF) ที่มีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนในประเทศญี่ปุ่น หรือได้ประโยชน์จากการประกอบธุรกิจในประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก โดยเฉลี่่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยจะลงทุนอย่างน้อย 2 กองทุนในสัดส่วนกองทุนไม่เกินร้อยละ 79 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน
10.กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นญี่ปุ่น แอคทีฟ (ชนิดเพื่อการออมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์) SCBJAPAN(SSFE) ผลตอบแทนนับตั้งแต่ต้นปี 17.11% มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 9.20 ล้านบาท ราคา 13.18 บาท เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน Goldman Sachs Japan Equity Partners Portfolio (กองทุนหลัก) Class I Shares (Acc.) สกุลเงินเยน (JPY) กองทุนหลักลงทุนอย่างน้อย 2 ใน 3 ของ NAV ในตราสารทุนหรือตราสารทุนที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์ที่สามารถเปลี่ยนมือได้ (Transferable Securities) และกองทุน ซึ่งมีการลงทุนในบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศญี่ปุ่นหรือบริษัทที่มีรายได้จากประเทศญี่ปุ่น โดยทั่วไปกองทุนหลักจะลงทุนในบริษัท 25-40 แห่ง
ชยนนท์ รักกาญจนันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) ฟินโนมีนา ให้ข้อมูลกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ค่าเงินเยนอ่อนกลับมาที่ระดับใกล้เคียงกับจุดสูงสุดเดิมแถวบริเวณ 158 - 160 เยนต่อดอลลาร์ ทำให้มองได้ว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ อาจจะอยากเข้ามาแทรกแซงกลไกไม่ให้ค่าเงินเยนอ่อนมากเกินไป ซึ่งเป็นการแทรกแซงให้ค่าเงินไม่อ่อน รวมถึงต้องการ control เงินเฟ้อด้วยหรือไม่ เนื่องจาก BOJ ก่อนหน้านี้มีการแย้มออกมาว่า อาจจะมีการขยับอัตราดอกเบี้ยติดลบยาวนาน
โดยมองว่า ในครึ่งปีหลัง BOJ มีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้ง รวมถึงการ control ค่าเงินเยนไม่ให้เกิน 160 เยน จึงมีโอกาสที่จะทำ แต่อาจจะมีการทำแบบเงียบๆ ที่แบบไม่โจ่งแจ้ง เนื่องจากค่าเงินเยนที่อ่อนค่า บริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้น Nikkei 225 จะได้ประโยชน์ทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ไปด้วยประเด็นดังกล่าวจะทำให้อัพไซด์มีจำนวนจำกัด เพราะนโยบายการเงินกลับมาตรึงตัว และมีการ control ค่าเงินไม่ให้ไหลเหมือนในอดีตที่ผ่านมา
ทั้งนี้ หากดูที่ ตลาดหุ้น Nikkei 225 บริเวณแถว 40,000 - 41,000 จุด คือ High เดิม ที่มีโอกาสทดสอบ ซึ่งไม่น่าแย่ถึงขนาดต้องมีการปรับฐาน แต่หลังจากนี้ไปน่าจะไปได้ ถ้าเทียบกับตลาดหุ้นอื่น น่าจะมีการ Outperform มากกว่า
บดินทร์ พุทธอินทร์ ผู้อำนวยการส่วนกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อีสท์สปริง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ บลจ.อีสท์สปริง (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เศรษฐกิจของญี่ปุ่นออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งการบริโภคในญี่ปุ่นเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างมานานแล้ว เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นสังคมผู้สูงอายุ แม้ญี่ปุ่นจะกระตุ้นเศรษฐกิจสักเท่าไร การจับจ่ายใช้สอยมักไม่ค่อยเยอะ เพราะส่วนใหญ่เป็นคนสูงอายุ ทำให้ดีมานด์ไม่เท่ากับประชากรวัยแรงงาน ขณะที่เงินเฟ้อญี่ปุ่นต่ำกว่า 2% มาตลอด มีในช่วงล่าสุดที่เงินเฟ้อกลับมาแตะที่ 2% ได้ และคาดการณ์กันว่า ในปีนี้เงินเฟ้อน่าจะไปแตะที่่ 2.5%
ขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีความโดดเด่น หรือ Outperform มา 3 ปีติดต่อกันตั้งแต่โควิด เนื่องจาก BOJ หรือธนาคารกลางญี่ปุ่น ใช้นโยบายผ่อนคลายมาโดยตลอด จะเห็นได้ว่า ปี 2022 ที่ธนาคารกลางทั่วโลกมีการเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ญี่่ปุ่นยังคงดอกเบี้ยไว้ ขณะเดียวกันในช่วงปลายปีที่ผ่านมา จนกระทั่งต้นปี ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังไม่ได้มีการใช้นโบายการเงินแบบเข้มงวด
แต่ทว่า สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ในปีที่ผ่านมา BOJ มีการเข้าซื้อสินทรัพย์ทั้ง ETF และพันธบัตร และมาในปีนี้ไตรมาสแรก ยังมีการเข้าซื้อพันธบัตรอยู่ แต่พอเริ่มเข้าสู่เดือนพฤษภาคม - มิถุนายน เริ่มเห็น ว่า BOJ ลดการซื้อพันธบัตรลง ตรงกันข้ามกลับเริ่มมีการทำ QT จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่า ญี่ปุ่นจะกลับเข้ามาทำนโยบายการเงินแบบปกติเมื่อเงินเฟ้อปรับขึ้นมาก็ต้องมีการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งสวนทางกับธนาคารกลางทั่วโลกที่ผ่านจุดนี้ไปแล้ว
โดยในปีนี้ญี่ปุ่นมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยมาแล้ว 1 ครั้ง จากของเดิม 0 ถึง -0.1% กลายเป็น 0 ถึง 0.1% ซึ่งคาดการณ์กันว่าในเดือนก.ค.นี้ หรือไตรมาส 3/67 อาจจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโบายอีกครั้งเป็น 0.15 - 0.25% เนื่องจากเงินเฟ้อเริ่มมีการปรับตัวขึ้น และเป็นไปได้ที่ไตรมาส 4/67 อาจจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง
“ค่าเงินเยนกลับอ่อนค่าตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา 160 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งส่งผลบวกต่อส่งออกและท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นภายในญี่ปุ่นอาจจะยังไม่แข็งแกร่งมากนัก แต่ตลาดหุ้นที่ผ่านมาได้อานิสงส์ที่ค่าเงินเยนอ่อนค่า ประกอบกับ BOJ เข้าซื้อสินทรัพย์ ทั้ง ETF และพันธบัตรในช่วง 1- 2 ปีที่ผ่านมา และช่วง 1 -2 เดือนที่ผ่านมา เริ่มหยุดซื้อพันธบัตรอาจจะทำให้แรงส่งนั้นน้อยลง”
ส่วนในมุมของบริษัทจดทะเบียนในญี่ปุ่น ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีการปรับประมาณ โดยประเมินว่า หุ้นญี่่ปุ่นอาจจะไซด์เวย์ หรือไซด์เวย์อัพ ตามมามาตรการของ BOJ ที่ออกมา แต่โดยเศรษฐกิจยังไม่ถึงเป็นตัวขับเคลื่อนตลาดหุ้นได้ แต่ได้อานิสงส์การเงินที่ผ่อนคลายมาตลอด
ทั้งนี้หากนักลงทุนต้องการที่จะมีหุ้นญี่ปุ่นติดพอร์ตไว้ประมาณ 10% เนืื่องจากหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวเพิ่มขึ้น 3 ปีติดต่อกัน ซึ่ง YTD ปรับเพิ่มขึ้นมา 16 -17%