จำนำรถยนต์ ‘อีวี’ เสี่ยงสูง แบงก์ขอเวลาศึกษา 3 ปี ก่อนปล่อยกู้
“ศรีสวัส์ดิ์” ชี้นอนแบงก์ยังต้องประเมินตลาดรถอีวีอีก 1-3 ปี ก่อนลุยสินเชื่อจำนำทะเบียน รับปรับวงเงินให้สินเชื่อลงมาที่ 30-40% ของราคาตลาด “เฮงลิสซิ่ง” ประเมินหลักประกันเข้ม “ทีทีบี-ทิสโก้-เกียรตินาคินภัทร” รับเข้มปล่อยกู้เพิ่มวางดาวน์15-20%
นางสาวธิดา แก้วบุตตา ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์องค์กร บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์รถยนต์อีวี ที่ถือเป็นเทรนด์ยานยนต์ในอนาคต และเป็นสินค้าใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาด ทำให้ปัจจุบันยังประเมินราคาทั้งราคารถยนต์มือสอง และราคาแบตเตอรี่ต่างๆ ได้ยาก ดังนั้นรถยนต์อีวีในช่วง 3 ปีแรกยังไม่ใช่ลูกค้าของตลาดนอนแบงก์หรือตลาดจำนำทะเบียน
ดังนั้นอาจต้องใช้เวลาศึกษา ทั้งจากเรื่องราคารถยนต์ที่ปรับลดลง รวมถึงเรื่องต่างๆ และขอประเมินตลาดรถยนต์อีวีอีก 1-3 ปี ให้ชัดเจนก่อน เพื่อพิจารณาในการปล่อยสินเชื่อในระยะข้างหน้า เพราะขณะนี้มองว่า ยังเป็นความเสี่ยงต่อการให้สินเชื่อในกลุ่มนอนแบงก์
“วันนี้ตลาดรถยนต์อีวี ใช้บริการไฟแนนซ์กับสถาบันการเงินเป็นหลัก ไม่ใช่กลุ่มลูกค้าหลักของนอนแบงก์ และส่วนใหญ่คนที่มีรถอีวีอยู่แล้วพบว่า หากมีความต้องการใช้เงินก็จะไม่ได้ต้องการบริการเงินด่วนจำนำทะเบียน แต่จะไปขายรถเองโดยตรง และยังพบรถอีวีที่เข้าสู่ลานประมูลน้อยมาก ดังนั้นธุรกิจนอนแบงก์จึงไม่มีความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับตลาดรถอีวีในตอนนี้”
สำหรับการปล่อยสินเชื่อ ปัจจุบันบริษัทไม่ได้เปลี่ยนแปลงเกณฑ์การให้สินเชื่อจำนำทะเบียน โดยมีการคำนวณอัตราส่วนการให้สินเชื่อเทียบกับมูลค่าหลักประกัน(Loan to Vale) ที่ 30-40% ของราคาตลาด จากก่อนหน้านี้ในระดับสูงกว่านี้
ด้านนายวิชัย ศุภสาธิตกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ HENG กล่าวว่า บริษัทลดผลกระทบจากการลดลงของราคารถมือสอง ด้วยการพิจารณาวงเงินตามความสามารถของลูกค้า และสภาพหลักประกันอย่างเข้มงวดมากขึ้น
ด้าน นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ ทีทีบี กล่าวว่า การปล่อยสินเชื่อรถยนต์ในปัจจุบัน ยอมรับว่ามีความท้าทายมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่ราคารถยนต์ปรับลดลง ทั้งรถอีวี และรถยนต์ทั่วไป ทำให้การประเมินหลักประกัน หรือการให้สินเชื่อยากมากขึ้น เนื่องจากต้องประเมินไว้ถึงราคารถยนต์ในอนาคต
โดยเฉพาะการขาดทุนรถยึดในอนาคต โดยเฉพาะตลาดรถยนต์มือสองสำหรับอีวีที่ยังประเมินภาพได้ยาก ดังนั้นอาจต้องศึกษาสถานการณ์ต่างๆ ให้ชัดเจนอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม การปล่อยสินเชื่อจึงต้องเข้มงวดมากขึ้นเพื่อป้องกันความเสี่ยง เช่น การประเมินมูลค่าหลักประกันกับการปล่อยสินเชื่อ หรือแอลทีวี ที่อาจมีการให้วางดาวน์เพิ่มขึ้น เช่น เพิ่มเป็น15-20% หากเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ ที่อาจมีการให้สินเชื่อเต็ม100% หรือวางดาวน์ค่อนข้างต่ำ สำหรับรถยนต์สันดาป
นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้(TISCO) กล่าวว่า ราคารถยนต์ที่ปรับตัวลดลง ถือว่ามีผลต่อการพิจารณาสินเชื่อบ้าง
ดังนั้นในมุมแบงก์มีการเพิ่มการรับความเสี่ยงจากการยึดรถต่างๆ โดยการให้วางเงินดาวน์เพิ่มขึ้น เป็นระดับ 20-25% จากเดิมอยู่ที่ 15% ขณะที่รถยนต์อีวีการปล่อยสินเชื่ออาจให้วางเงินดาวน์เพิ่มขึ้นเป็น 25-30%
นายฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) สถานการณ์สินเชื่อรถยนต์ยังคงชะลอตัว ทั้งรถใหม่ และรถเก่า โดยยอดปล่อยสินเชื่อรถใหม่ก็จะสอดคล้องกับยอดขายรถใหม่ โดยเฉพาะรถกระบะ ที่ยังฉุดยอดขายของตลาด สำหรับสินเชื่อรถมือสอง ราคารถมือสองยังคงผันผวน และอุปสงค์ของการซื้อรถยังคงลดลง ซึ่งทำให้การขอสินเชื่อรถมือสองลดลง และธนาคารยังคงพิจารณาการให้สินเชื่อรถมือสองอย่างรอบคอบ ทั้งด้านคุณสมบัติของลูกค้า และคุณภาพของรถ
ส่วนการพิจารณาสินเชื่อธนาคารยังพิจารณาอนุมัติสินเชื่อตามศักยภาพของลูกค้า โดยในภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งกระทบต่อกำลังซื้อ และความสามารถในการผ่อนชำระ การอนุมัติสินเชื่อจึงเป็นไปโดยระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ลูกค้ามีภาระหนี้ที่เกินความสามารถในการผ่อนชำระ
ซึ่งจะสร้างความเสียหายกับทั้งลูกค้า ธนาคาร และระบบเศรษฐกิจ ทำให้สถานการณ์รถยึดต่างๆ มีจำนวนลดลง จากการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังของธนาคารในช่วงที่ผ่านมา
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์