จดทะเบียนบริษัท สามารถใช้ที่อยู่เดิมได้หรือไม่!

จดทะเบียนบริษัท สามารถใช้ที่อยู่เดิมได้หรือไม่!

ไขข้อข้องใจ กรณีจดทะเบียนบริษัท เคยใช้ที่อยู่หนึ่งแล้ว ถ้าเปิดบริษัทเพิ่ม สามารถใช้ที่อยู่ซ้ำกับบริษัทที่เปิดไปแล้วได้หรือไม่ และมีเงื่อนไขอย่างไร

ปัญหาใหญ่ของบุคคลธรรมดาที่ทำธุรกิจ คือเรื่องของการเสียภาษีอัตราสูง และยิ่งถ้าหากขาดการวางแผนที่ดี ในเรื่องของรายได้ที่ได้รับกับรายจ่ายที่จ่ายออกไป ก็จะส่งผลให้เสียภาษีเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาให้ผู้มีรายได้เหล่านี้เลือกจดทะเบียนบริษัท แต่ก็มักเกิดปัญหาว่า "สถานที่แจ้งจดทะเบียนบริษัท" สามารถใช้ที่ใดได้บ้าง และใช้จดหลายบริษัทได้หรือไม่

เพราะโดยทั่วไปจะนิยมใช้บ้าน ที่พักอาศัยของตนเองแจ้งเป็นสถานที่จดทะเบียนบริษัท เนื่องจากสะดวกและจัดการง่าย แต่เมื่อใดที่ต้องมีการเปิดบริษัทเพิ่ม จะยังสามารถใช้บ้าน ที่พักอาศัยที่เคยแจ้งจดบริษัทไปแล้วได้หรือไม่ เพื่อให้สะดวกต่อการปฏิบัติงาน และไม่ต้องวุ่นวายเร่งรีบเพื่อหาสถานที่แจ้งจดบริษัทใหม่

ซึ่งมีหลายกรณีที่สามารถใช้ที่อยู่เดิมในการจดบริษัท โดยมีตัวอย่างการใช้สถานที่เดิมแจ้งจดทะเบียนบริษัทที่แตกต่างกันไป ดังนี้

ที่อยู่อาศัยของคุณใช้จดบริษัทได้มากว่า 1 บริษัท หรือไม่

การนำที่อยู่อาศัยมาใช้เพื่อจดทะเบียนบริษัท ในทางกฎหมายไม่ได้มีข้อกำหนดว่าห้ามนำที่อยู่อาศัยที่ใช้จดบริษัท แล้วมาจดบริษัทเพิ่มเติมอีก หรือผิดกฎหมายแต่อย่างใด

ดังนั้น สามารถนำที่อยู่อาศัยที่จดบริษัทไปแล้วมาจดบริษัทเพิ่มได้ ซึ่งในกรณีที่นำบ้าน สถานที่อยู่อาศัยของตนเองไปจดบริษัท รวมถึงเคยใช้จดบริษัทไปแล้วมาใช้จดบริษัทเพิ่มเติม

สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กรณี คือ

1. ผู้ประกอบกิจการ "เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย" ที่นำมาจดบริษัท

กรณีแรกสำหรับเจ้าของกิจการที่ต้องการนำบ้านของตนเองไปขอจดทะเบียนบริษัท ซึ่งสามารถทำได้ โดยกิจการจะต้องทำการลงบันทึกบัญชีเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการด้วย และจะมีภาษีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

2. ผู้ประกอบกิจการ "เช่าบ้าน" เพื่อใช้นำมาจดทะเบียนบริษัท

กรณีที่ 2 หากเจ้าของกิจการเลือกเช่าบ้านเพื่อนำมาใช้จดทะเบียนบริษัท จะสามารถทำได้ 2 แบบ ประกอบด้วย

2.1 บ้านที่เช่านั้นเป็นบ้านของตนเอง กล่าวคือเจ้าของกิจการผู้จดทะเบียนบริษัทไม่ได้เป็นเจ้าของบ้าน แต่บ้านนั้นเป็นของพ่อแม่หรือญาติพี่น้องโดยตรง กรณีนี้ต้องมีการพูดคุยและตกลงกันภายในก่อน และเมื่อเจ้าของกิจการนำบ้านไปจดทะเบียนบริษัทเรียบร้อยแล้ว จะมีค่าใช้จ่ายเป็นค่าเช่าให้กับเจ้าของบ้าน โดยต้องหัก ณ ที่จ่าย 5% เพื่อนำส่งสรรพากร

และพ่อแม่หรือญาติพี่น้องที่เป็นเจ้าของบ้าน เมื่อได้รับค่าเช่าถือเป็นรายได้ส่วนตัว ต้องนำยื่นภาษีบุคคลธรรมดามาตรา 40(5) ด้วย ที่สำคัญอย่าลืมจัดทำหนังสือยินยอม และเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ของคนที่เป็นเจ้าของบ้าน ซึ่งเอกสารที่ต้องใช้ประกอบด้วย

- บัตรประจำตัวประชาชนผู้ยินยอมที่เป็นเจ้าของบ้าน
- ทะเบียนบ้าน
- หนังสือสัญญาเช่า

2.2 บ้านที่เช่านั้นเป็นบ้านของคนอื่น กล่าวคือ เจ้าของกิจการได้นำบ้านของคนอื่นที่ไม่ใช่ของตนเอง หรือของญาติพี่น้องพ่อแม่ หรือเป็นบ้านที่ประกาศให้เช่ามาจดทะเบียนบริษัท สามารถทำได้และนำมาจดบริษัทได้มากกว่า 1 บริษัทด้วย ไม่ถือว่าเป็นการทำผิดกฎหมาย

แต่ทั้งนี้ ระหว่างการทำสัญญาเช่า เจ้าของบ้านผู้ให้เช่าจะต้องยินยอมให้ผู้เช่าใช้พื้นที่ประกอบกิจการ ทางผู้เช่าหรือเจ้าของกิจการจึงจะสามารถดำเนินเรื่องของเอกสารเพื่อขอจดทะเบียนบริษัทได้

โดยหลังจากมีการเช่าบ้านและเจ้าของกิจการได้จ่ายค่าเช่า ทางผู้เช่าจะออกใบสำคัญจ่ายพร้อมกับแนบหลักฐานการโอนเงิน (กรณีโอนเงิน) และแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนเจ้าของบ้าน (ผู้ให้เช่า)

รวมถึงกิจการจะทำการหักภาษี ณ ที่จ่าย 5% ทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินค่าเช่า พร้อมกับออกหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่ายให้กับผู้ให้เช่า และลงบันทึกบัญชีเป็นค่าใช้จ่ายเช่าบริษัท จากนั้นต้องนำส่งแบบ ภ.ง.ด.3 ด้วย ฃ

ตัวอย่างการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย

ค่าเช่าเดือนละ 20,000 บาท จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 5% = 1,000 บาท ซึ่งหลังจากผู้เช่าชำระค่าเช่าแล้ว จะจัดทำหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่ายให้กับผู้ให้เช่า และผู้ให้เช่าต้องนำไปยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มาตรา 40(5)

ขั้นตอนการจดบริษัท โดยใช้บ้านหลังเดียวกัน

เมื่อบ้านของตนเองที่ใช้จดทะเบียนบริษัท สามารถนำไปจดบริษัทได้หลายบริษัท รวมถึงบ้านบ้านเช่าก็สามารถจดบริษัทได้หลายบริษัทเช่นกัน ซึ่งขั้นตอนการขอจดทะเบียนบริษัททั้งบ้านของตนเองและบ้านเช่าจะมีขั้นตอนเหมือนกัน โดยสามารถอธิบายได้ดังนี้

- เซ็นชื่อยินยอมให้ใช้สถานที่จดทะเบียนบริษัท

- มีเอกสารของผู้ให้เช่าบ้าน ซึ่งได้แก่ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน และหนังสือสัญญาเช่า

นอกจากนี้สิ่การขอจดทะเบียนบริษัทต้องมีผู้ก่อตั้งขั้นต่ำ 2 คนขึ้นไป โดยต้องเตรียมเอกสารการจดทะเบียนบริษัทดังนี้

1.คำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัด (แบบ บอจ.1)

2.แบบคำรับรองการจดทะเบียนบริษัทจำกัด

3.รายการจดทะเบียนจัดตั้ง (แบบ บอจ.3)

4.รายละเอียดกรรมการ (แบบ ก.)

5.บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5)

6.สำเนารายงานการประชุมตั้งบริษัท

7.สำเนาหนังสือนัดประชุมตั้งบริษัท

8.หลักฐานการชำระค่าหุ้นที่บริษัทออกให้แก่ผู้ถือหุ้น

9.สำเนาข้อบังคับ ผนึกอากร 200 บาท (ถ้ามี)

10.แผนที่แสดงที่ตั้งสำนักงานและสถานที่สำคัญบริเวณใกล้เคียง

สรุป...บ้านของเจ้าของกิจการ บ้านเช่า สามารถจดบริษัทได้หลายบริษัท

ดังนั้น อาจสรุปได้ว่า เมื่อบุคคลธรรมดาตัดสินใจจดทะเบียนบริษัท สามารถใช้บ้านของตนเอง หรือบ้านเช่าในการยื่นขอจดบริษัทได้ ตลอดจนเมื่อมีการเปิดบริษัทเพิ่ม ก็ยังสามารถใช้บ้านหรือบ้านเช่าดังกล่าวที่ใช้จดบริษัทไปแล้ว มายื่นขอจดบริษัทได้อีก โดยไม่ถือว่าผิดกฎหมายแต่อย่างใด

แต่ส่วนใหญ่บริษัทจะไม่ค่อยนิยมใช้บ้าน 1 หลัง จดทะเบียนบริษัทหลายบริษัท เนื่องจากมีโอกาสเกิดปัญหาในอนาคตได้ อย่างเช่นการขอจด VAT การแบ่งสัดส่วนค่าใช้จ่าย ด้วยเหตุนี้การเลือกที่อยู่อาศัยเพื่อใช้เป็นสถานที่ในการจดทะเบียนบริษัท อาจต้องคำนวณผลดีและผลเสียที่ตามมาให้ดีก่อนใช้สถานที่นั้นๆ จดบริษัท

 

อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting