‘อีวี’ป่วน‘สินเชื่อเช่าซื้อ’ โตต่ำอีก 3 ปี ‘รถยึดเต็มลาน-เทคโนโลยีไม่นิ่ง’

‘อีวี’ป่วน‘สินเชื่อเช่าซื้อ’ โตต่ำอีก 3 ปี ‘รถยึดเต็มลาน-เทคโนโลยีไม่นิ่ง’

ผลพวง “ยอดรถยึด” สูงสุดเป็นประวัติการณ์ กระทบไฟแนนซ์เกิดนิวนอร์มอล หลังเรียกเงินดาวน์เพิ่ม "บล.กสิกรไทย” มองสินเชื่อเช่าซื้อโตต่ำอีก 3 ปี “กรุงศรีออโต้” คาดเข้าภาวะปกติปีหน้า “นอนแบงก์” เข้มปล่อยกู้ หนี้เสียพุ่ง “ประกัน” ยันไม่ผลักภาระเบี้ยอีวี แบกอ่วนสินไหมพุ่ง100%

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์  “ตลาดรถยนต์สาหัส” ด้วยจำนวนรถถูกยึดเข้ามามากเป็นประวัติการณ์ สะท้อนในปี 2566 มีรถยึดเข้าลานประมูล 350,000 คัน จากสถานการณ์ปกติจะอยู่ที่ 250,000 คันต่อปี ส่งผลให้ตลาดรถถยนต์ทั้งมือ 1 และมือ 2 ตกต่ำราคาลดลง 30-40% โดยสร้างผลกระทบต่อมายัง “ธุรกิจสินเชื่อรถยนต์” ที่ต้องแบกรับภาระขาดทุนจากการยึดรถจำนวนมหาศาลในครั้งนี้ และแนวโน้มการเติบโตของตลาดสินเชื่อรถยนต์ในช่วงเวลานี้ ยังคงมี “ความท้าทาย” ขณะเดียวกัน “รถอีวี” ยอดขายลดฮวบอาจทำให้เกิดการหั่นราคากันอย่างรุนแรง ซ้ำเติมอีก   

นายกรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า ยอดรถถูกยึดสูงขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปี 2566 จนปัจจุบัน มีสาเหตุมาจาก 3 ปัจจัย คือ

1.มาตรการช่วยเหลือตั้งแต่ช่วงโควิดที่มีการพักชำระหนี้ และให้ชะลอการยึดรถไป หมดลงตั้งแต่ปี 2566 จึงยังมีรถที่รอยึดคงค้างอยู่ด้วย  

2.ภาวะเศรษฐกิจไทยภาพรวมที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด และหนี้ครัวเรือนอยู่ระดับสูง ทำให้ลูกหนี้บางรายผ่อนไม่ไหว 

3.ราคารถที่ลดลง มาจากปัจจัยแรกด้วยเช่นกัน รวมถึงมาตรการคืนรถจบหนี้ที่อาจทำให้ลูกหนี้บางรายคิดว่าผ่อนไม่คุ้มเลยเลือกเอารถมาคืนสถาบันการเงินแทน 

‘อีวี’ป่วน‘สินเชื่อเช่าซื้อ’ โตต่ำอีก 3 ปี ‘รถยึดเต็มลาน-เทคโนโลยีไม่นิ่ง’

ดังนั้น ปัจจัยกระทบดังกล่าวย่อมส่งผลต่อตลาดธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ หลังจากนี้ประเมินว่า กลุ่มธุรกิจเช่าซื้อ (ไฟแนนซ์) คงต้องมีการเก็บเงินดาวน์มากขึ้น และน่าจะเป็น New Normal ใหม่ของธุรกิจเช่าซื้อ ไม่เหมือนที่ผ่านมาไม่ต้องดาวน์เลย และเป็นผลพวงไปยังยอดสินเชื่อกลุ่มธุรกิจเช่าซื้อน่าจะลดลง หรือเติบโตต่ำไปอีก 2-3 ปี จนกว่าการเปลี่ยนผ่านเรื่องสต็อกรถยึด และเทคโนโลยีเกี่ยวกับรถไฟฟ้า (EV) จะเริ่มนิ่ง     

แน่นอนว่า “กลุ่มไฟแนนซ์และแบงก์” ได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งในส่วนแรกเริ่มเห็นการเติบโตของสินเชื่อที่ชะลอตัวลง โดยภาคธนาคารสินเชื่อปรับตัวลดลงในไตรมาส 1 ปี 2567 ตามยอดขายรถยนต์ที่ลดลง และความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ส่วนหุ้นไฟแนนซ์  

“ถ้าดูเป้าหมายที่แต่ละบริษัทตั้งไว้จะเห็นว่ากรอบการเติบโตลดลงมาอยู่ที่ 10-20% จาก 3 ปีก่อน ที่ตั้งเป้ากันที่ 20-30% ในปีนี้ ส่วนถัดมาจะเห็นในส่วนการตั้งสำรอง และการขาดทุนรถยึดที่อยู่ในระดับสูงถึงสูงขึ้น เพราะมูลค่าหลักประกันลดลง ผนวกกับการยึดรถมาขายทำให้ผลขาดทุนส่วนนี้สูงขึ้นตาม”

กรุงศรีออโต้” คาดรถยึดผ่านจุดสูงสุดแล้ว 

นายคงสิน คงคา ประธานเจ้าหน้าที่ ด้านธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ธนาคารกรุงศรี หรือ กรุงศรีออโต้ เปิดเผยว่า เห็นปริมาณรถยึดในลานประมูลมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพทางเศรษฐกิจที่มีความชะลอตัว และอัตราหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง 

อย่างไรก็ตาม มองว่าสถานการณ์รถที่ถูกยึดและเข้าสู่ลานประมูลขณะนี้ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และกำลังจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น จากการที่สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อมากขึ้น เราคาดว่าในไตรมาส 4 ของปีนี้ จำนวนยอดรถที่ปล่อยไปสู่ลานประมูลจะทยอยปรับลดลงจนเข้าสู่ภาวะปกติใด้ในปี 2568

“กรุงศรี ออโต้ มีอัตราการยึดรถ แนวโน้มในทิศทางเดียวกับกับภาวะตลาด แต่เราได้ให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง เน้นให้คำปรึกษากับลูกค้าเป็นรายบุคคล ตลอดนำเสนอมาตรการความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างเหมาะสมและตรงจุด”

คาดการณ์ตลาดสินเชื่อยานยนต์ในครึ่งหลังน่าจะมีแนวโน้ม “ทรงตัว” มีทั้งปัจจัยบวกจากการกระตุ้น ทางเศรษฐกิจ รวมถึงการใช้งบประมาณของทางภาครัฐ เพื่อเป็นแรงผลักดัน และสร้างความเชื่อมั่นและเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้บริโภค แต่ยังมีความท้าทายทั้งเรื่องค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นและหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง 

ดังนั้น สภาพตลาดสินเชื่อรถยนต์ที่ชะลอตัวลงในครึ่งปีแรก ยอดสินเชื่อใหม่ของกรุงศรี ออโต้ ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน ขณะนี้เรากำลังประเมินสถานการณ์ของตลาดอย่างใกล้ชิด เพื่อสรุปการปรับเป้าหมายใหม่ของกรุงศรีออโต้ในปี 2567  

“อัตราการอนุมัติสินเชื่อในทุกผลิตภัณฑ์ของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของ กรุงศรี ออโต้ และสินเชื่อเพื่อคนมีรถ “คาร์ ฟอร์ แคช” ในช่วงที่ผ่านมา ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญคงระดับการอนุมัติอยู่ที่ราว 80%”

“เมืองไทยแคปปิตอล” รับอยู่โหมดระวังปล่อยกู้เข้ม

นายปริทัศน์ เพชรอำไพ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC เปิดเผยว่า ยอมรับว่าสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน ต้องดำเนินธุรกิจปล่อยสินเชื่อด้วยความระมัดระวัง โดยจำเป็นต้องรอบคอบในการคัดกรองลูกค้าที่เข้ามาขอสินเชื่ออีกทั้งต้องประเมินความสามารถในการผ่อนชำระที่ดีเข้ามามากขึ้น

โดยบริษัทมองว่า ลูกค้าที่มีหลักประกัน จะยังเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ กว่าลูกค้าไม่มีหลักประกัน ทำให้บริษัทปรับสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อ มาเน้นผู้กู้ที่มีหลักประกันมากขึ้น อยู่ที่ 85% เพิ่มขึ้นหากเทียบกับปีก่อน และลูกค้าที่ไม่มีหลักประกันลดเหลือ 15%

ส่วนสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ บริษัทยังปล่อยสินเชื่ออย่างรัดกุม ตามความเสี่ยงที่สูงขึ้น ซึ่งยอมรับว่าด้วยแนวทางดังกล่าว ทำให้ผู้กู้อาจน้อยลง แต่ก็เป็นวิธีที่บริษัทจะไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงมากเกินไปสำหรับตัวเลขหนี้เสียในภาพรวม (NPL) สิ้นไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 3.03% โดยตั้งเป้าทั้งปีคาดไม่ให้เกิน 3.20% สำหรับภาพรวมสินเชื่อปีนี้ตั้งเป้าเติบโตสินเชื่อรวมอยู่ที่ 15-20% จากปี 2566 เติบโต 20%

ลดวงเงินให้กู้-ปล่อยกู้มนุษย์เงินเดือนเกิน 2 ปีขึ้นไป

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทชโยกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO กล่าวว่า ปัจจุบันมีการปล่อยสินเชื่อลดลง จากความเสี่ยงในตลาดสูงขึ้น จากหนี้เสียที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยการปล่อยสินเชื่อยังอยู่ในโหมดของการระมัดระวัง และเข้มงวดมากขึ้น เช่นหากเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกันอาจคิดอัตราส่วนการให้สินเชื่อโดยเทียบกับมูลค่าหลักประกัน(LTV)ลดลง จากเดิมอยู่ที่ 50% เหลือ 45% แต่หากเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน อาจเน้นปล่อยสินเชื่อเฉพาะกลุ่มมนุษย์เงินเดือนที่มีอายุการทำงานเฉลี่ยเกิน 2-3 ปีขึ้นไป จากเดิมที่กำหนด1ปีก็สามารถปล่อยกู้ได้

ดังนั้น คาดว่าการปล่อยสินเชื่อโดยรวมของบริษัทปีนี้ อาจไม่ได้เติบโตตามเป้าหมาย จากเดิมที่ตั้งเป้าเติบโต 60% คาดเหลือเพียง 30% หรือคิดเป็นวงเงินปล่อยสินเชื่อรวมเพียง 300-400 ล้านบาทเท่านั้น

“เฮงลิสซิ่ง” รับเข้มปล่อยกู้ขึ้น

นายวิชัย ศุภสาธิตกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ HENG กล่าวว่า จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนและราคารถที่ปรับลดลงทั้งตลาด ทำให้บริษัทค่อนข้างระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ในช่วงนี้ โดยเน้นไปที่การจัดเก็บหนี้มากกว่า และการปล่อยสินเชื่อแบบรัดกุมมากขึ้นจะเป็นการพิจารณาวงเงินตามความสามารถของลูกค้าและสภาพหลักประกันอย่างเข้มงวดมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากการลดลงของราคารถมือสอง

ส่วนสถานการณ์หนี้เสียสินเชื่อรถยนต์ ปัจจุบันอยู่ในจุดที่ค่อนข้างสูงที่ 4.6% เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ที่อยู่ 4%  อย่างไรก็ตาม ปีนี้คาดจะรักษาการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อรถยนต์ในพอร์ตเดิมที่ 15,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.6% จากปีก่อน

ประกันรถอีวีแบกสินไหมแตะ 100%

นายวาสิต ล่ำซำ ประธานคณะกรรมการประกันภัยยานยนต์ สมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์ตลาดรถอีวีที่แข่งขันราคา ส่งผลต่อราคารถอีวีปรับลงเร็วต่อเนื่องในปัจจุบัน เช่น เดิมราคา 1.2 ล้านบาท เหลือ 9 แสนบาท กระทบต่อทุนประกันลดลง ตามราคารถ ในแง่ของราคาเบี้ยประกันรถอีวียังไม่ถูกปรับลดลงนั้น ขอชี้แจงว่า ในขณะนี้ธุรกิจประกัน ยังต้องแบกรับภาระต้นทุน ทั้งค่าอะไหล่และค่าซ่อมอีวี ยังคงมีราคาแพงกว่ารถสันดาป 50-60% และอัตราเคลมสินไหมเสียหายแตะ 100%

รวมถึงในการรับประกันภัยรถอีวีปีนี้เป็นปีแรก ประกอบกับสถานการณ์ตลาดรถอีวีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สาเหตุจากความผันผวนของราคา และราคาอะไหล่ยังแพง โดยเฉพาะแบตเตอรี่ อีกทั้งขณะนี้ยังไม่เคยมีฐานข้อมูลประกอบเกี่ยวกับรถอีวีในไทย ที่ใช้ประกอบการพิจารณารับประกันภัย เพื่อป้องกันความเสียหายต่อธุรกิจประกันได้อย่างชัดเจน

ดังนั้น ปีแรกของการรับประกันภัยรถอีวีธุรกิจประกันมุ่งเน้นพิจารณาเบี้ยประกันรถอีวี ตามกลไกการบริหารความเสี่ยงของแต่ละบริษัทอย่างระมัดระวังมากขึ้น และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ประกันรถอีวีแบบใหม่ ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) อนุมัติและมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมานี้

โดยบริษัทประกันภัย จะต้องรับประกันภัยแบบระบุชื่อผู้ขับขี่เท่านั้น ด้วยวิธีการคำนวณเบี้ยประกัน บริษัทจะต้องนำพฤติกรรมการขับขี่ของผู้ขับขี่ที่ถูกระบุชื่อแต่ละรายมาเป็นปัจจัยในการคำนวณพร้อมกับ แยกคุ้มครองแบตเตอรี่ตามอายุการใช้งาน หากเกินกว่า 5 ปีขึ้นไป ชดใช้ค่าสินไหม 50% ของราคาแบตเตอรี่

“ประเด็นดังกล่าว คงไม่ใช่การผลักภาระต่อผู้บริโภค แต่นับเป็นความรับผิดชอบของ ธุรกิจประกันแต่ละรายที่จะต้องบริหารจัดการความเสี่ยงภัยการรับประกันภัยรถอีวี ปัจจุบันทั้งระบบมีเพียง 100,000 คัน ไม่ให้เกิดความเสียหายจนส่งผลกระทบต่อตลาดประกันภัยรถสันดาปทั้งระบบที่เป็นตลาดที่ใหญ่มากกว่า 10 ล้านคัน”

แต่เรายังเชื่อว่า แนวโน้มในอนาคต รถอีวีจะมีการที่ใช้งานแพร่หลายมากขึ้น และธุรกิจประกันภัยต้องให้ความสำคัญในการรองรับเรื่องการประกันภัย และให้เตรียมความพร้อมไว้ในเรื่องของฐานข้อมูล การจัดทำกรมธรรม์ และเบี้ยประกันภัย

ผู้ขับขีอีวีประวัติปีหน้าค่าเบี้ยลด 

นายวาสิต กล่าวว่า ปีนี้เป็นการรับประกันภัยรถอีวีปีแรก จริงๆ แล้ว จะไม่มีส่วนลดค่าเบี้ยประกันผู้ขับขี่ประวัติดี แต่ที่พบแคมเปญลดค่าเบี้ยประกันดังกล่าว เป็นการตลาดของบริษัทรถอีวีที่ดูแลลูกค้าเอง ทำให้หากต้องประกันรถปีที่ 2 ในปีหน้าลูกค้าอาจมีความกังวลจ่ายเบี้ยแพงกว่ารถสันดาป

 ประเด็นนี้ขอยืนยันว่า ประกันรถอีวีแบบใหม่ มีความทันสมัยกรมธรรม์นี้มีการระบุชื่อผู้ขับขี่เท่านั้น เป็นเน้นย้ำให้เกิดการใช้งานเรื่องการกำหนดเบี้ยประกันภัยตามพฤติกรรมการขับขี่จริง ๆ ซึ่งเมื่อมีการเก็บข้อมูลประวัติผู้ขับขี่ในปีแรกแล้ว หากเป็นผู้ขับขี่ประวัติดี ในปีหน้ามีโอกาสได้ส่วนลดเบี้ยประกันผู้ขับขี่ประวัติดี 

รวมถึง การพิจารณาเบี้ยประกันภัย ยังขึ้นกับหลายๆ ปัจจัย เช่น โรงงานอะไหล่ที่ส่วนประกอบหลักของรถอีวี 13-15 ชิ้นส่วน และโรงงานแบตเตอรี่อีวี หากเข้ามาสร้างฐานการผลิตในไทยมากขึ้น ทำให้ค่าอะไหล่และแบตตอรี่ มีราคาถูกลงลดลง ค่าซ่อมลดลง แน่นอน ค่าเบี้ยประกันรถอีวีมีโอกาสปรับตัวลงเช่นกัน

“ด้วยสถานการณ์ในตลาดรถอีวีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทางสมาคมประกันวินาศภัยไทย และคปภ. รวมถึงประกันภัยรถยนต์ ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อพิจารณาการรับประกันภัยให้สอดคล้องทันกับสถานการณ์ตลาดที่เปลี่ยนไปมากที่สุด แน่นอนว่า ปีหน้าตลาดรับประกันภัยรถอีวีน่าจะมีความชัดเจนในหลายๆ เรื่องมากขึ้นกว่าปีนี้”

สำหรับ ประกันภัยรถอีวี ค่ายรถยุโรป สหรัฐและจีน ราคาเบี้ยประกันจะสูงกว่ารถสันดาป เฉลี่ยที่ 20% หรืออยู่ในช่วง 15-25% ขึ้นกับยี่ห้อรถและรุ่นของรถอีวี แต่หากเป็นค่ายรถสันดาปที่ขยายไลน์การผลิตรถเป็นไฮบริดจ์และอีวี ราคาเบี้ยประดันจะปรับขึ้นไม่มาก เฉลี่ยที่ 5-10% เท่านั้น