แบงก์เข้มปล่อยกู้พ่นพิษ ฉุดสินเชื่อดิ่ง- หนี้เสียพุ่ง

แบงก์เข้มปล่อยกู้พ่นพิษ ฉุดสินเชื่อดิ่ง- หนี้เสียพุ่ง

เปิดข้อมูล ‘ลูกหนี้’ หลังมาตรการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ธปท.มีผลบังคับใช้ พบส่งผล ‘แบงก์’ เข้มปล่อยกู้กระทบลูกหนี้เข้าถึงสินเชื่อน้อยลง สวนทาง ‘หนี้เสีย’ พุ่งพบยอดปล่อยกู้ต่อเดือน สถิติสูงสุดใหม่รายเดือน พบลูกหนี้ถูกบังคับคดีแล้ว 2 ล้านคดี

นับตั้งแต่ต้นปี 2567 เป็นต้นมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการออกหลายมาตรการทางการเงิน เพื่อดูแลหนี้ครัวเรือนไทย ทั้งการดูแลการก่อหนี้ใหม่ และแก้หนี้เก่า ให้มีคุณภาพขึ้น 

โดยตั้งแต่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมาธปท.ออกมาตรการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ และเป็นธรรม (Responsible lending) : RL มีสาระสำคัญคือ ให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ก่อนและหลังเป็นหนี้เสีย รวมถึงคุ้มครองผู้บริโภค โดยห้ามให้ธนาคารคิดค่าปรับหากชำระหนี้ก่อนกำหนด และช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในการปิดจบหนี้ โดยการเปลี่ยนยอดหนี้คงค้างเป็นสินเชื่อระยะยาว หรือ Installment loans

แต่มีการตั้งคำถามว่า ภายใต้มาตรการดังกล่าวโดยเฉพาะ RL ที่ดูแลลูกหนี้อย่างเป็นธรรมมากขึ้น แต่อีกด้านก็มีการให้แบงก์ปล่อยสินเชื่ออย่างมีคุณภาพเช่นเดียวกัน เช่นดูความสามารถลูกหนี้ในการชำระหนี้ ดูรายได้เทียบกับหนี้ทั้งหมด เพื่อไม่ไปส่งเสริมให้เกิดการก่อหนี้เกินตัว และก่อให้เกิดความเสี่ยงจากการก่อหนี้สูงจนไม่สามารถชำระหนี้ได้

4 เดือนช่วยลูกหนี้8.2แสนรายสู่การปรับโครงสร้าง

ในมุมธนาคารแห่งประเทศไทย มองว่า มาตรการ RL ที่ออกมามีส่วนช่วยลูกหนี้อย่างมาก โดยเฉพาะให้เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ก่อนเป็นหนี้เสียนับตั้งแต่ มี.ค.จนถึงเดือนเม.ย.ปี 2567 พบว่า มีลูกหนี้จากธนาคารพาณิชย์ และผู้ให้บริการการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร หรือนอนแบงก์รวมทั้งสิ้น 35 แห่ง มีการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ก่อนเป็นหนี้เสียแล้วเฉลี่ยเดือนละ 2 แสนราย ทำให้ตลอดทั้ง 4 เดือนที่ผ่านมา มีลูกหนี้เข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้ 8.2 แสนราย คิดเป็นมูลค่า 2.3 แสนล้านบาท

ในทางกลับกัน แม้มาตรการนี้จะมีส่วนช่วยลูกหนี้จำนวนมากไม่ให้ตกเหว หรือเป็นหนี้เสียโดยการปรับโครงสร้างหนี้ แต่ต้องยอมรับว่า ด้วยมาตรการ ธปท.ที่ออกมาครั้งนี้ มีส่วนทำให้การปล่อยสินเชื่อในระบบเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะแบงก์ ที่การยึดเกณฑ์กติกาตามมาตรการ RL เพื่อให้เกิดการปล่อยกู้อย่างระมัดระวัง ทำให้ช่วงที่ผ่านมามีลูกหนี้ใหม่จำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้เช่นเดียวกัน

ไม่เฉพาะลูกค้าใหม่เท่านั้น แต่ลูกค้าเก่าที่มีการขอสินเชื่อเพิ่มเติม ก็มียอดปฏิเสธสินเชื่อสูงขึ้น ส่งผลให้อาจกระทบต่อสภาพคล่อง ที่นำมาใช้หมุนเวียนชำระหนี้หรือใช้ในชีวิตประจำวันจนนำมาสู่ปัญหา “ค้างชำระ” และหนี้เสียในปัจจุบันที่ปรับตัวสูงขึ้น

เกณฑ์ ‘แบงก์ชาติ’ เข้มพ่นพิษฉุดสินเชื่อดิ่ง

แหล่งข่าววงการการเงิน กล่าวว่า จากข้อมูลบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือเครดิตบูโร ล่าสุด พบว่า หลายข้อมูลน่าห่วงมากขึ้น นับตั้งแต่ที่ธปท. ประกาศใช้มาตรการ “ปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม” RL พบว่า ทุกสินเชื่อปรับลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะการอนุมัติสินเชื่อใหม่ นับตั้งแต่ ม.ค.-เม.ย. ที่ผ่านมา สวนทางหนี้เสียที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนความเข้มงวดมาตรการที่ส่งผลกระทบการปล่อยกู้ในระบบที่ลดลง

โดยหากดูเป็นรายสินเชื่อ เริ่มที่สินเชื่อบ้าน นับตั้งแต่ที่มาตรการ RL มีผลบังคับใช้ ส่งผลให้ต่อยอดการอนุมัติสินเชื่อบัญชีใหม่อย่างมาก โดยเฉพาะลูกหนี้แบงก์พาณิชย์ ที่ได้สินเชื่อน้อยลง ต่ำสุดเหลือเพียง 8,927 บัญชีเท่านั้น ลดลง 23.8% หากเทียบกับก่อนหน้า ที่ยอดการอนุมัติเกิน 1 หมื่นสัญญาต่อเนื่อง และแบงก์รัฐ มียอดปล่อยสินเชื่อระดับสูงสุดเพียง 11,032 สัญญา หากเทียบกับระดับสูงสุดของปีที่ผ่านมาที่อยู่ราว 23,012 สัญญา 

เช่นเดียวกันกับสินเชื่อรถยนต์ โดยสินเชื่อที่ได้รับการอนุมัติผ่านระบบแบงก์ลดลงมาเดือน เม.ย.ล่าสุด เพียง 50,351 สัญญา ลดลง 12.5% จากเดือนก่อนหน้า และหากดูการปล่อยสินเชื่อก่อนหน้า พบว่า เฉลี่ยอยู่ที่ 6-8 หมื่นสัญญาต่อเดือนหรือหากดูในด้าน สินเชื่อเครดิตการ์ด เดือนล่าสุด ยอดอนุมัติสินเชื่อเหลือเพียง 93,212 สัญญา ลดลง 23.6% จากเดือนก่อนหน้า และลดลงหากเทียบกับสิ้นปีที่ยอดปล่อยกู้เฉลี่ยอยู่ที่ 1 แสนสัญญา 

และหากดูการปล่อยสินเชื่อเครดิตการ์ดนอนแบงก์ พบว่า สัญญาที่ได้รับการอนุมัติมีเพียง 86,528 สัญญา ลดลง 2.1% ต่อเดือนจากเดือนก่อนหน้า เช่นเดียวกันสินเชื่อบุคคล

ในทางกลับกัน พบว่า หนี้เสียหรือหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ นับตั้งแต่ ม.ค. จนถึง เม.ย.เป็นต้นมา ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังประกาศมาตรการปล่อยสินเชื่อ RL โดยเฉพาะสินเชื่อบ้าน ที่พบว่า ยอดหนี้เสียต่อเดือนของระบบแบงก์ ขึ้นมาอยู่ที่ 86,735 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.55% ซึ่งเป็นหนี้เสียต่อเดือนที่ทำสถิติสูงสุด นับตั้งแต่มีมาในอดีต

เช่นเดียวกันสินเชื่อรถยนต์ ที่หนี้เสียทำสถิติสูงสุดเช่นเดียวกัน เดือน เม.ย. ล่าสุดยอดสะสมขึ้นมาอยู่ที่ 163,690 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.7% จากเดือนก่อนหน้า ส่วนสินเชื่อเครดิตการ์ด ขึ้นสู่ระดับสูงสุดเช่นเดียวกัน ล่าสุดหนี้เสียที่ผ่านระบบแบงก์อยู่ที่ 24,427 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.67% จากเดือนก่อนหน้า เช่นเดียวกัน สินเชื่อบุคคล ที่พบว่า หนี้เสียก้าวกระโดด มาอยู่ที่ 73,626 ล้านบาท เพิ่มขั้น 9.62% จากเดือนก่อนหน้า

เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ภายใต้เกณฑ์ที่เข้มงวดภายใต้ มาตรการการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ ส่งผลให้มีลูกหนี้จำนวนมากที่ไม่สามารถขอสินเชื่อใหม่ได้ ส่งผลให้เห็นจำนวนหนี้เสียต่อเดือนปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำสถิติสูงสุดต่อเดือนในหลายสินเชื่อ

ยอดลูกหนี้ถูกบังคับคดีพุ่ง2ล้านคดี16ล้านล้าน   

อีกตัวเลขที่สะท้อนความน่าห่วงสินเชื่อมากขึ้น คือ สินเชื่อที่อยู่ระหว่างบังคับคดี ณ สิ้นพ.ค. 2567 มีลูกหนี้มีหมายบังคับคดีแล้วแต่ยังไม่บังคับคดีล่าสุดอยู่ที่ 2 ล้านคดี คิดเป็นวงเงินรวมกว่า 16 ล้านล้านบาท 

โดยแบ่งเป็น หนี้ของสถาบันการเงินที่ 1.15 ล้านคดี วงเงิน 15.2ล้านล้านบาท และหนี้บัตรเครดิต 4.88 แสนคดี วงเงินรวม 6.17 แสนล้านบาท และหนี้จากเช่าซื้อ 2.08 แสนคดี วงเงินรวม 7.5 หมื่นล้านบาท 

และเป็นนิติบุคคล 9.2หมื่นคดี วงเงินรวม 2.2 แสนล้านบาท บุคคลธรรมดา 1.22 แสนคดี วงเงิน 1.82 แสนล้านบาท และบุคคลธรรมดาที่สันติฐานว่าเป็นหนี้นอกระบบ 9 พันคดี วงเงินรวม 2.2 ล้านล้านบาท 

และยังมีหนี้ที่อยู่ระหว่างการบังคับคดี อีก 1.89 แสนคดี วงเงินรวม 3.19 แสนล้านบาท โดยเป็นหนี้สถาบันการเงิน 4.1 หมื่นคดี วงเงินรวม 7.7หมื่นล้านบาท บัตรเครดิต 3.7 หมื่นคดี  วงเงิน 3.6 พันล้านบาท หนี้เช่าซื้อ 1.3 มหื่นคดี วงเงิน 5.3พันล้านบาท หนี้ของนิติบุคคลอื่นๆ 8.8 หมื่นคดี วงเงิน 2.18 แสนล้านบาท หนี้บุคคลธรรมดา 7.6 พันคดี วงเงินรวม 1.4 หมื่นล้านบาท และหนี้ที่สันนิษฐานว่าเป็นหนี้นอกระบบ 504 คดี วงเงินรวม 1.44 แสนล้านบาท