'เงินเยน' แข็งค่าร้อนแรงแตะ 157 เยน/ดอลลาร์ คาด 'ญี่ปุ่น' แอบแทรกแซงเงียบ

'เงินเยน' แข็งค่าร้อนแรงแตะ 157 เยน/ดอลลาร์ คาด 'ญี่ปุ่น' แอบแทรกแซงเงียบ

‘เยนญี่ปุ่น’แข็งค่าเกือบ 2% แตะระดับ 157 เยน/ดอลลาร์ หลังเงินเฟ้อสหรัฐต่ำกว่าคาดการณ์ ตลาดคาด ‘ญี่ปุ่น’แอบแทรกแซงตลาดพยุงค่าเงิน ด้าน’มาซาโตะ คันดะ‘ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็น

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า “มาซาโตะ คันดะ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังของญี่ปุ่น ปฏิเสธที่จะยืนยันหรือปฏิเสธว่ามีการแทรกแซงตลาดเงินเพื่อพยุงค่าเงินเยนหรือไม่ ซึ่งการปิดบังข้อมูลนี้ขัดแย้งกับรายงานสื่อท้องถิ่นที่อ้างว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลยืนยันการแทรกแซง โดยคันดะอ้างว่าการปิดบังข้อมูลนี้เป็นการป้องกันการค้าข้อมูลภายใน

วันนี้(12 ก.ค.)เงินเยนเคลื่อนไหวที่ระดับ 158.65/ดอลลาร์ สืบเนื่องจากเมื่อเย็นวานนี้ (11 ก.ค.) “ค่าเงินเยน”ของญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้นอย่างร้อนแรงและรวดเร็วเกือบ 2% จากประมาณ 161.58 เยน/ดอลลาร์ เป็น 157.44 เยน/ดอลลาร์ หลังจากข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ ซึ่งสร้างกระแสคาดการณ์ว่าญี่ปุ่นอาจเข้าแทรกแซงตลาดเพื่อเทขายดอลลาร์ 

”ไมนิชิ“หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของญี่ปุ่นรายงานว่ามีการแทรกแซง โดยอ้างถึงเจ้าหน้าที่รัฐบาลที่ไม่เปิดเผยชื่อ ขณะที่นักลงทุนบางรายคาดการณ์ไว้ว่าอาจมีการแทรกแซงหากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐสูงกว่าคาดการณ์และจะส่งผลให้เยนอ่อนค่า แต่ความเป็นไปได้ที่ญี่ปุ่นจะเข้าแทรกแซงหากเยนแข็งค่าขึ้นหลังข้อมูลอ่อนแอไม่ได้อยู่ในความสนใจ

อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังของญี่ปุ่นมีกำหนดรายงานข้อมูลการแทรกแซงเงินเยนประจำเดือนในวันที่ 31 ก.ค.ซึ่งตรงกับวันหมดวาระของคันดะ โดยอัตสึชิ มิมูระ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานบริหารระหว่างประเทศของกระทรวงการคลังจะเข้ารับตำแหน่งแทน

ในวันเดียวกันนั้น ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีกำหนดสรุปการตัดสินใจนโยบายการเงินครั้งล่าสุด โดยนักเศรษฐกิจบางคนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยพร้อมกับประกาศรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการลดการซื้อพันธบัตรของรัฐ

คันดะ พยายามสร้างความคลุมเครือเกี่ยวกับการแทรกแซงค่าเงิน เพื่อให้เกิดความไม่แน่นอนในตลาด ส่งผลต่อการคาดการณ์ของนักเก็งกำไร

ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นใช้งบประมาณ 9.8 ล้านล้านเยน (ราว 2.1 ล้านล้านบาท) เพื่อช่วยพยุงค่าเงินเยนในช่วงปลายเดือนเม.ย.ถึงต้นเดือนพ.ค. หลังจากเงินเยนอ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 34 ปี โดยคันดะเป็นผู้วางแผนการแทรกแซงนี้และตั้งใจให้การเปิดเผยข้อมูลล่าช้าออกไปประมาณหนึ่งเดือน

ย้อนไปในเดือนต.ค.66 หลังจากเงินเยนแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว คันดะก็ปฏิเสธที่จะยืนยันว่ามีการแซงแทรงเงินจากทางการ โดยสาเหตุที่แท้จริงของการแข็งค่าของเงินเยนน่าจะมาจากความผันผวนของตลาด ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นช่วยสร้างความไม่ประมาทให้กับนักเก็งกำไร

คันดะ พยายามหลีกเลี่ยงการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับค่าเงินเยนบ่อยครั้ง เพื่อไม่ให้สัญญาณใดๆ แก่ผู้เล่นในตลาดเกี่ยวกับการแทรกแซงของโตเกียว

อย่างไรก็ตาม หากการเคลื่อนไหวล่าสุดเป็นการแทรกแซงจริง จะเป็นการดำเนินการรูปแบบใหม่ ด้วยการอาศัยจังหวะที่เงินเยนแข็งค่าขึ้นแล้วเข้าไปพยุงต่อเนื่อง แม้กลวิธีนี้จะช่วยให้โตเกียวสามารพยุงค่าเงินเยนได้ง่ายขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าปกติ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 4 เยน แต่ก็เสี่ยงที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประเทศสำคัญอื่นๆ รวมถึงสหรัฐด้วย