เปิดรายละเอียด "รายได้" แต่ละแบบที่ได้รับ ต้องยื่นภาษีมาตราไหน

เปิดรายละเอียด "รายได้" แต่ละแบบที่ได้รับ ต้องยื่นภาษีมาตราไหน

ทำความรู้จัก "รายได้พึงประเมิน" แต่ละประเภท เปิดรายละเอียดรายได้แต่ละแบบ ต้องยื่นภาษีมาตราใดกันแน่ ระวังอย่ายื่นผิด จนถูกตรวจสอบและอาจต้องเสียภาษีย้อนหลัง

เพราะรายได้ที่ได้รับจากการทำงานมีหลายประเภท เช่น รายได้จากเงินเดือนประจำ จากค่าจ้างแรงงานชั่วคราว จากการให้บริการ จากการจำหน่ายสินค้า การจากรับเหมา ฯลฯ ซึ่งรายได้เหล่านี้จะต้องนำมายื่นภาษีแยกตามประเภทของรายได้มาตราต่างๆ

ทว่ารายได้แต่ละประเภทกลับมีความใกล้เคียงกันมาก จนบางครั้งผู้มีรายได้แยกไม่ออกว่าตนเองต้องยื่นภาษีมาตราใดกันแน่ ส่งผลทำให้ยื่นภาษีผิดจนถูกตรวจสอบและอาจต้องเสียภาษีย้อนหลัง ดังนั้น เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับรายได้แต่ละประเภทที่มีความใกล้เคียงกัน ว่าลักษณะใดต้องยื่นภาษีมาตราไหน ไปติดตามพร้อมกันจากบรรทัดต่อจากนี้

ทำความรู้จัก...รายได้พึงประเมินแต่ละประเภท

รายได้ที่ได้รับในนามบุคคลธรรมดา ผู้มีรายได้ต้องนำไปยื่นภาษีแยกตามเงินได้พึงประเมิน 8 ประเภท หรือมาตรา 40(1)-(8) ซึ่งรายได้ที่ได้รับจัดอยู่เงินได้พึงประเมินประเภทไหน เพื่อให้สามารถนำมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ตนเองต้องเสีย สามารถอธิบายได้ดังนี้

เงินได้ประเภทที่ 1 มาตรา 40(1)

เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 หรือมาตรา 40(1) เป็นประเภทรายได้สำหรับบุคคลธรรมดาที่ได้รับค่าจ้างแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนประจำ ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ใดๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชำระ และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ ที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ถือเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1

ทั้งนี้ เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 หรือมาตรา 40(1) เมื่อนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องเสีย จะสามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 50% (รวมหักค่าใช้จ่ายจากเงินประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 แล้ว ต้องไม่เกิน 100,000 บาท)

เงินได้ประเภทที่ 2 มาตรา 40(2)

เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2 หรือมาตรา 40(2) เป็นประเภทรายได้สำหรับบุคคลธรรมดาที่ได้รับค่าจ้างทั่วไปรับงานอิสระ ค่าคอมมิชชั่น หรือค่าตอบแทนจากการทำงาน โดยไม่ได้อยู่ในฐานะเจ้านายลูกน้อง รับทำงานเป็นครั้งคราว โดยจะรับงานเพียงลูกค้ารายเดียว และทำงานผูกมัดกันเป็นระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 2-4 เดือนเท่านั้น แค่จบโปรเจกต์ เช่น ค่าจ้างฟรีแลนซ์ ค่านายหน้า ค่าธรรมเนียม การรับรีวิวสินค้า ค่าคอมมิชชั่น งานเขียนและแปลภาษาออกแบบกราฟิก ค่าตอบแทนของพิธีกร พริตตี้ และ MC เป็นต้น ซึ่งผู้รับเงินมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ตัวอย่างลักษณะงานที่จัดอยู่เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2 เช่น ทำงานเป็นโปรเจกต์ ทำงานประจำอยู่แล้วแต่รับทำงานข้างนอกเป็นครั้งคราว ทำงานมีรายได้หลายทาง หรือหลายอาชีพในวันเดียวกัน เช่น ขายของ รับงานเขียน หรือให้บริการด้านอื่นๆ

ทั้งนี้ เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2 หรือมาตรา 40(2) เมื่อนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องเสีย จะสามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 50% (รวมหักค่าใช้จ่ายจากเงินประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 แล้ว ต้องไม่เกิน 100,000 บาท)

เงินได้ประเภทที่ 3 มาตรา 40(3)

เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 3 หรือมาตรา 40(3) เป็นประเภทรายได้สำหรับบุคคลธรรมดาที่มีรายได้จากค่ากู๊ดวิลล์ หรือเงินได้จากสินทรัพย์ไม่มีตัวตน เช่น ค่าลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น ทรัพย์สินทางปัญญา ค่าสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า ค่าเฟรนไชส์ เงินปีหรือเงินได้มีลักษณะเป็นเงินรายปีอันได้มาจากพินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่น หรือคำพิพากษาของศาล

ทั้งนี้ เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 3 หรือมาตรา 40(3) เมื่อนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องเสีย จะสามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

เงินได้ประเภทที่ 4 มาตรา 40(4)

เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 4 หรือมาตรา 40(4) เป็นประเภทรายได้สำหรับบุคคลธรรมดาที่มีรายได้จากดอกเบี้ย เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไร เงินลดทุน เงินเพิ่มทุน ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้น cryptocurrency ฯลฯ โดยเงินได้ประเภทที่ 4 ในหลายๆ กรณี กฎหมายให้สิทธิที่จะเลือกเสียภาษีโดยวิธีหักภาษี ณ ที่จ่าย แทนการนำไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่นตามหลักทั่วไป ซึ่งจะทำให้ผู้มีเงินได้สามารถประหยัดภาษีได้

ทั้งนี้ เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 4 หรือมาตรา 40(4) เมื่อนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องเสีย จะไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้

เงินได้ประเภทที่ 5 มาตรา 40(5)

เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5 หรือมาตรา 40(5) เป็นประเภทรายได้สำหรับบุคคลธรรมดาที่มีรายได้จากค่าเช่า การให้เช่าทรัพย์สิน เงินหรือประโยชน์อย่างอื่น ที่ได้เนื่องจากการให้เช่าทรัพย์สิน การผิดสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน การผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อนซึ่งผู้ขายได้รับคืนทรัพย์สินที่ซื้อขายนั้นโดยไม่ต้องคืนเงินหรือประโยชน์ที่ได้รับไว้แล้ว

ทั้งนี้ เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5 หรือมาตรา 40(5) เมื่อนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องเสีย สามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 10-30% หรือหักตามจริง

เงินได้ประเภทที่ 6 มาตรา 40(6)

เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 6 หรือมาตรา 40(6) เป็นประเภทรายได้สำหรับบุคคลธรรมดาที่มีรายได้จากวิชาชีพอิสระ ซึ่งมีจำนวนไม่แน่นอน จะขึ้นอยู่กับปริมาณหรือความยากง่าย และต้องเป็นอาชีพที่ได้รับใบประกอบวิชาชีพเฉพาะทาง โดยกำหนดไว้ในกฎหมาย ได้แก่

- แพทย์และพยาบาลประกอบโรคศิลปะ เช่น กลุ่มเวชกรรม เภสัชกรรม ทันตกรรม เภสัชกรรม การพยาบาล การผดุงครรภ์ กายภาพบำบัด เทคนิคการแพทย์

- ประณีตศิลป์ เช่น งานวาด งานหล่อ งานปั้น

- สถาปนิก เช่น งานออกแบบ

- วิศวกร เช่น งานออกแบบ

- ทนายความ เช่น ที่ปรึกษา ว่าความ

- นักบัญชี เช่น ทำบัญชี ตรวจสอบบัญชี

หรือวิชาชีพอื่นซึ่งจะได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดชนิดไว้

ทั้งนี้ เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 6 หรือมาตรา 40(6) เมื่อนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องเสีย สามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 30-60% หรือหักตามจริง

เงินได้ประเภทที่ 7 มาตรา 40(7)

เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 7 หรือมาตรา 40(7) เป็นประเภทรายได้สำหรับบุคคลธรรมดาที่มีรายได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระ ในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ

ทั้งนี้ เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 7 หรือมาตรา 40(7) เมื่อนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องเสีย สามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 60% หรือหักตามจริง

เงินได้ประเภทที่ 8

เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 หรือมาตรา 40(8) เป็นประเภทรายได้สำหรับบุคคลธรรมดาที่มีรายได้จากการประกอบธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง และรายได้อื่นๆ ที่นอกเหนือจากที่ระบุไว้ในมาตรา 40(1) – (7) เช่น รายได้จากการขายของออนไลน์ ร้านอาหาร ฯลฯ

ทั้งนี้ เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 หรือมาตรา 40(8) เมื่อนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องเสีย สามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายตามจริง หรือหักแบบเหมา 40% และ 60% ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ สามารถตรวจสอบได้ที่นี่

ความคล้ายที่แตกต่างของมาตรา 40

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่ารายได้หลายๆ ประเภท มีความคล้ายคลึงกันจนแยกออกจากกันได้ยาก ซึ่งสามารถสรุปความคล้ายที่แตกต่างกันได้ดังนี้

ความแตกต่างระหว่างเงินได้มาตรา 40(1) กับ มาตรา 40(2)

เงินได้มาตรา 40(1) ใช้แรงงาน งานจะเสร็จหรือไม่ก็ได้ แต่ก็ได้รับค่าจ้างแม้งานไม่เสร็จ ความเป็นอิสระไม่มีเนื่องจากต้องอยู่ในบังคับของนายจ้าง โดยนายจ้างต้องร่วมรับผิดเมื่อลูกจ้างทำให้เกิดความเสียหายขึ้น

เงินได้มาตรา 40(2) ต้องการความสำเร็จของงาน งานต้องเสร็จจึงจะได้รับค่าจ้าง แต่เป็นอิสระไม่อยู่ในบังคับของผู้ว่าจ้าง และหากเกิดความเสียหายผู้ว่าจ้างไม่ต้องร่วมรับผิดชอบ

ความแตกต่างระหว่างเงินได้ มาตรา 40(2) กับ มาตรา 40(8)

เงินได้มาตรา 40(2) ลักษณะงานจะใช้แรงงานตนเอง ไม่มีลูกจ้าง ค่าใช้จ่ายและสัมภาระน้อย ไม่ต้องมีที่ตั้งสำนักงาน

เงินได้มาตรา 40(8) ลักษณะงานจะทำในรูปแบบธุรกิจ ต้องมีลูกจ้าง ค่าใช้จ่ายและสัมภาระมาก และต้องมีสำนักงาน หรือสถานที่ติดต่อ

ข้อมูลเฉพาะสำหรับเงินได้มาตรา 40 (2), (6), (7) และ (8)

เงินได้มาตรา 40(2) อาศัยเฉพาะแรงงานในการหาเงินได้ มีค่าใช้จ่ายน้อย

เงินได้มาตรา 40(6) อาศัยความรู้เฉพาะด้าน มีใบประกอบโรคศิลปะ หรือวิชาชีพอิสระ

เงินได้มาตรา 40(7) รายได้จากการรับเหมาทั้งแรงงาน และลงทุนจัดกาสัมภาระที่นอกจากเครื่องมือ

เงินได้มาตรา 40(8) ประกอบกิจการในรูปแบบธุรกิจมุ่งหวังผลกำไร และมีค่าใช้จ่ายสูง

สรุป

ดังนั้น อย่าลืมเช็กดูให้ถี่ถ้วนว่าเงินที่ได้รับมาของคุณ จัดอยู่เงินได้พึงประเมินประเภทใดกันแน่ และยื่นภาษีให้ถูกต้องตรงตามกลุ่มรายได้มาตรานั้นๆ เพื่อป้องกันการนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายผิดพลาด ช่วยป้องกันไม่ให้เสียภาษีมากกว่าความเป็นจริง หรือต้องเสียภาษีย้อนหลังนั่นเอง

 

อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting