การจัดการ 'ภาษี' สำหรับธุรกิจโรงแรมในนามบุคคลธรรมดา
สรุปเรื่องภาษีที่ควรรู้เมื่อ "บุคคลธรรมดา" อยากทำธุรกิจโรงแรม วางแผนภาษีและทำให้ถูกต้องเสียแต่เนิ่นๆ ก่อนถูกตรวจสอบ หรือโดนปรับย้อนหลัง
รัฐบาลได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นล่าสุด "มาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ" โดยบุคคลธรรมดาสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยวเมืองรองที่จ่ายให้แก่ ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว ค่าที่พักในโรงแรม ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทย ค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่ใช่โรงแรม นำมาลดหย่อนภาษีได้ตามจริงไม่เกิน 15,000 บาท โดยผู้ประกอบการโรงแรม จะต้องออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax invoice) ให้กับผู้เข้าพัก
ดังนั้น ผู้ประกอบการไม่ว่าจะทำในนามบุคคลธรรมดาหรือจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จะต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และจัดทำบัญชีภาษีซื้อ-ภาษีขายส่งให้กับสรรพากรด้วยนั่นเอง
นอกจากนี้ธุรกิจโรงแรมยังมีภาษีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะบุคคลธรรมดา หากทำธุรกิจโรงแรมอย่าลืม ให้ความสำคัญกับเรื่องของภาษีที่ค่อนข้างซับซ้อนและยุ่งยากพอสมควร โดยสามารถอธิบายได้ดังนี้
บุคคลธรรมดาทำธุรกิจโรงแรม มีรายรับ-รายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับภาษี
ธุรกิจโรงแรมไม่ได้ถูกจำกัดให้เฉพาะผู้ประกอบการที่จดทะเบียนเป็นนติบุคคลเท่านั้นที่สามารถทำได้ แต่บุคคลธรรมดาก็สามารถประกอบธุรกิจโรงแรมได้เช่นกัน
แต่การทำโรงแรมถือเป็นธุรกิจในเชิงการค้าที่มีความซับซ้อนในเรื่องของรายรับและรายจ่าย เนื่องจากมีรายรับรายจ่ายจากหลายช่องทาง เช่น ที่พักอาศัย อาหาร และบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพักอาศัยและเดินทาง เพื่อความสะดวกของผู้ที่มาพัก
ดังนั้น ค่าบริการที่ได้รับและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงกับโรงแรม จะต้องนำมาเป็นหลักฐานในการคำนวณภาษี ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี้
1.รายได้ของกิจการโรงแรม เช่น รายได้ค่าบริการห้องพัก ค่าอาหารและเครื่องดื่ม ค่าซักรีด ค่าเช่าสถานที่ รายได้จากการจำหน่ายสินค้าต่างๆ รายได้ค่าโทรศัพท์ โทรสาร ให้บริการอินเตอร์เน็ต รายได้ค่าบริการพื้นที่จอดรถ ค่าบริการสมาชิกสระว่ายน้ำ ค่าบริการใช้สระว่ายน้ำ รายได้จากการนำเที่ยว รายได้จากการโฆษณา รายได้จากค่านายหน้า เช่น ขายตั๋วทัวร์ ส่งลูกค้าให้โรงแรมอื่น รวมถึงกำไรจากการรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นต้น
2.รายจ่ายของกิจการโรงแรม เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง สวัสดิการ ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่าอาหารและเครื่องดื่ม ค่าวัสดุสิ้นเปลืองที่ใช้ในห้องพัก เช่น สบู่ แชมพู กระดาษชำระ ค่าบริหารจัดการ ค่าบริการที่ปรึกษา ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่น ค่าเช่า ค่าจ้างทำของ ค่าส่งเสริมการขาย ค่าโฆษณา ค่าใช้จ่ายด้านการตลาด ค่าซ่อมแซม บำรุงรักษา ค่าประกันภัย ค่าเสื่อมราคาทรัพย์สิน ค่านายหน้า เป็นต้น
ภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโรงแรม
-
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
บุคคลธรรมดาที่ทำธุรกิจโรงแรม หมายถึงบุคคลที่ทำธุรกิจแบบไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ดังนั้น ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยรายรับจากค่าบริการที่พักในโรงแรม จัดอยู่เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 หรือมาตรา 40(8) รวมถึงถ้าหากมีรายได้อื่นๆ ในโรงแรมร่วมด้วย เช่น มีภัตตาคาร ร้านอาหารและเครื่องดื่ม จัดอยู่เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 หรือมาตรา 40(8) เช่นกัน
วิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับธุรกิจโรงแรม มีดังนี้
(รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี
= ภาษีที่ต้องจ่าย
โดยเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ 2 แบบ คือหักแบบเหมา 60% และเลือกหักตามจริง และสามารถหักลดหย่อนที่มี เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว คู่สมรส บุตร อุปการะเลี้ยงดูบิดา มารดา อุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ เบี้ยประกันสุขภาพบาดามารดา ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัย เงินสมทบกองทุนประกันสังคม เป็นต้น
ทั้งนี้ ธุรกิจโรงแรมมีหน้าที่ต้องยื่นภาษี 2 ครั้ง ประกอบด้วย
ครั้งที่ 1 ภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) คำนวณรายได้ตั้งแต่เดือนมกราคม - มิถุนายน ของปีภาษีนั้น ยื่นภาษีช่วงเดือนกรกฎาคม - กันยายน ของปีที่มีเงินได้ หรือยื่นผ่านอินเตอร์เน็ตได้ภายในวันที่ 8 ตุลาคมของทุกปี
ครั้งที่ 2 ภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.90) คำนวณรายได้ช่วงเดือนมกราคม - ธันวาคม ของปีภาษี ยื่นภาษีตั้งแต่เดือนมกราคม - มีนาคม ของปีภาษีถัดไป หรือยื่นผ่านอินเตอร์เน็ตภายในวันที่ 8 เมษายนของปีถัดไป
-
ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ในกรณีที่เจ้าของธุรกิจโรงแรมมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องรีบไปขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภายใน 30 วันหลังจากที่รายได้เกิน และเริ่มเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% กับผู้ใช้บริการ และออกใบกำกับภาษีให้ทุกครั้งที่มีรายรับเข้ามา พร้อมกับยื่นแบบ ภ.พ.30 ทุก เดือนแม้ว่าในเดือนนั้นจะไม่มีรายรับก็ตาม ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
-
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ในมุมของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สำหรับธุรกิจโรงแรม ถือเป็นการนำที่ดินมาใช้ในเชิงการค้า จึงจัดอยู่ในกลุ่มพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม กล่าวคือ เป็นการนำที่ดินมาใช้ประโยชน์ด้านพาณิชยกรรม ผู้ประกอบการจึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ทั้งนี้ จัดเก็บภาษีโดยท้องถิ่น ได้แก่ เทศบาล อบต. กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ในอัตราภาษีคือ 0.3-0.7% โดยเริ่มเสียภาษีเมื่อเจ้าของธุรกิจโรงแรมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ธุรกิจโรงแรมตั้งอยู่ ซึ่งจะมีจดหมายแจ้งประเมินราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ส่งไปให้เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทุกปี จากนั้นให้นำไปจ่ายกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามที่ตั้งของที่ดินนั้นๆ
-
ภาษีศุลกากร
ทั้งนี้ กรณีที่โรงแรมมีบริการอาหารในโรงแรมด้วย และต้องมีการนำเข้าวัตถุดิบ สินค้า หรือเครื่องจักรที่อยู่ในรายการภาษีนำเข้า เจ้าของธุรกิจโรงแรมจะต้องจ่ายภาษีศุลกากร ซึ่งอัตราภาษีของสินค้าและวัตถุดิบนำเข้าแต่ละประเภทจะแตกต่างกัน (ข้อมูลเพิ่มเติมที่กรมศุลกากร)
-
อากรแสตมป์
ในกรณีที่ธุรกิจโรงแรมมีการกู้ยืมเงิน หากเป็นผู้ให้กู้มีหน้าที่ต้องชำระอากรแสตมป์อัตรา 1 บาท ต่อจำนวนเงิน 2,000 บาท ยื่นกับเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ โดยแนบตราสารที่ขอเสียอากรไปยื่นต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา
สรุป
อาจสรุปได้ว่าบุคคลธรรมดาที่ทำธุรกิจโรงแรม มีภาระเรื่องภาษีไม่ต่างจากนิติบุคคลมากนัก ซึ่งนอกจากนี้ยังมีค่าธรรมเนียมผู้เข้าพักในโรงแรมด้วย หมายถึงเงินที่โรงแรมจะต้องเก็บจากผู้เข้าพักในโรงแรม เพื่อนำส่งและจ่ายปีละ 40 บาท/ห้องพัก ให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด ของแต่ละแห่งที่โรงแรมนั้นตั้งอยู่
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting