จ้างทำเว็บไซต์ ใครต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย และหักเท่าไหร่
อยากมีเว็บไซต์เป็นของตนเอง กรณีที่มีการจ้างทำเว็บไซต์ นอกจากภาษีพื้นฐานที่ต้องเสียแล้ว ทราบหรือไม่ว่า "นิติบุคคล" มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย จากผู้รับจ้างทำเว็บไซต์ และต้องหักเท่าไหร่กันแน่
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าถึงจะผ่านไปกี่ยุคสมัย เว็บไซต์ ยังคงมีบทบาทกับทุกคนเสมอ แม้ว่าจะมีโซเชียลแพลตฟอร์มอื่นๆ เข้ามามากมายก็ตาม เนื่องจากเว็บไซต์เป็นหน้าต่างบานแรกเมื่อหาข้อมูลจากกูเกิ้ล ที่จะทำให้ผู้คนเห็นและเข้าถึงแหล่งข้อมูลนั้นๆ ได้ก่อน
ดังนั้น หากใครที่อยากมีเว็บไซต์เป็นของตนเอง ไม่ว่าจะเพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการสื่อสาร บอกเล่าเรื่องราว ตัวตน ผลงาน หรือเสนอสินค้า ค้าขายต่างๆ ของตนเองก็สามารถทำได้ แต่ในส่วนของภาษีกรณีที่มีการจ้างทำเว็บไซต์ นอกจากภาษีพื้นฐานที่ต้องเสียแล้ว ทราบหรือไม่ว่า "นิติบุคคล" เท่านั้นที่มีหน้าที่ต้อง หักภาษี ณ ที่จ่าย จากผู้รับจ้างทำเว็บไซต์” และต้องหักเท่าไหร่กันแน่ ไปหาคำตอบพร้อมกัน...
จ้างเขียนโปรแกรมมีหลายกรณี ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 3%
เนื่องจากการจัดทำเว็บไซต์มีหลายรูปแบบ ทั้งที่พัฒนาเขียนโปรแกรมขึ้นมาใหม่ เขียนเป็นโปรแกรมสำเร็จรูป เขียนและขายผ่านตัวเทนจำหน่าย รวมถึงวางจำหน่ายทั่วไป โดยนิติบุคคลที่มีการจ้างทำเว็บไซต์จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% ซึ่งมีหลายกรณีที่แตกต่างกันตามการให้บริการเขียนโปรแกรม สามารถรวบรวมได้ดังนี้
- หักภาษี ณ ที่จ่าย ค่าพัฒนา ออกแบบ และเขียนโปรแกรม
การหักภาษี ณ ที่จ่าย ค่าพัฒนา ออกแบบ และเขียนโปรแกรม เป็นกรณีที่ผู้รับจ้างพัฒนา ออกแบบ และเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้กับนิติบุคคลโดยเฉพาะ เพื่อใช้ในกิจการของผู้จ้างเขียนโปรแกรม หากลิขสิทธิ์ในงานที่ออกแบบ พัฒนา เป็นของผู้ว่าจ้าง เงินค่าตอบแทนที่นิติบุคคลผู้ว่าจ้างจ่ายให้ ผู้ว่าจ้างจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ก่อนส่งมอบค่าตอบแทนให้กับผู้รับจ้างเขียนโปรแกรมในอัตรา 3%
- หักภาษี ณ ที่จ่าย ค่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป
การหักภาษี ณ ที่จ่าย ค่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป เป็นกรณีที่นิติบุคคลได้มีการจ้างทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป เมื่องานเสร็จเรียบร้อย ผู้รับจ้างได้ค่าตอบแทนจากการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ค่าตอบแทนการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือค่าตอบแทนจากการซื้อโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ขายโดยทั่วไป ถือเป็นการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 3 หรือมาตรา 40(3) ผู้ว่าจ้างเขียนโปรแกรมในนามนิติบุคคล ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายผู้รับจ้างในอัตรา 3%
- หักภาษี ณ ที่จ่าย ค่าโปรแกรมสำเร็จรูป โดยวางขายผ่านตัวแทนจำหน่าย
การหักภาษี ณ ที่จ่าย ค่าโปรแกรมสำเร็จรูป โดยวางขายผ่านตัวแทนจำหน่าย เป็นกรณีผู้รับจ้างเขียนโปรแกรม ได้มีการเขียนโปรแกรมสำเร็จรูปขึ้น และขายให้กับตัวแทนจำหน่ายทั่วไป ขายให้กับผู้ซื้อรายอื่นที่เป็นนิติบุคคล แล้วตัวแทนจำหน่ายได้นำโปรแกรมบัญชีสำเร็จรูปที่ซื้อจากกิจการผู้รับเขียนโปรแกรม ไปขายให้แก่ผู้ซื้อที่เป็นนิติบุคคล
ค่าบริการที่กิจการรับจ้างเขียนโปรแกรมและตัวแทนจำหน่ายได้รับ ถือเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 3 หรือมาตรา 40(3) ผู้จ้างในนามนนิติบุคคลต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตรา 3%
ซื้อโปรแกรมจากต่างประเทศ หัก ณ ที่จ่าย 5%
ในกรณีที่นิติบุคคลซึ่งอยู่ในประเทศไทย ได้มีการซื้อโปรแกรมจากผู้ขายที่อยู่ต่างประเทศ ค่าโปรแกรมลักษณะนี้จัดอยู่เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 3 หรือมาตรา 40(3) คือค่าลิขสิทธิ์ นิติบุคคลในไทยผู้ซื้อโปรแกรมมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย
แต่จะแตกต่างกันตามประเทศที่ซื้อโปรแกรมอย่างเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ค่าจ้างเขียนโปรแกรมหัก ณ ที่จ่าย 5% เนื่องจากมีการจดอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย และนิติบุคคลผู้หักภาษี ณ ที่จ่ายต้องนําส่งแบบ ภ.ง.ด.54 พร้อมเงินภาษีให้แก่กรมสรรพากรด้วย
การหักภาษี ณ ที่จ่าย ในมุมของผู้รับจ้างเขียนโปรแกรม
นอกจากนิติบุคคลที่เป็นผู้จ้างเขียนโปรแกรม มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว นิติบุคคลที่เป็นผู้รับจ้างเขียนโปรแกรม ก็มีหน้าที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย เมื่อมีการจ่ายค่าจ้างหรือบริการอัตราภาษีตามประเภทเงินที่จ่ายที่กฎหมายกำหนดด้วยเช่นกัน ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้
- ค่าจ้างและเงินเดือน หากเงินได้สุทธิของพนักงานไม่เกิน 150,000 บาท ได้ยกเว้นไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือต่ำสุด 0% หรือหักในอัตราภาษีก้าวหน้า
- จ้างทำงานหรือบริการ เช่น นายหน้าขายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ได้ส่วนแบ่งค่าคอม ใช้วิธีคำนวณเหมือนค่าจ้างและเงินเดือน
- จ้างบริการวิชาชีพอิสระ กิจการผู้ว่าจ้างจะต้องทำการหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% สำหรับ 6 กลุ่มวิชาชีพ คือ
1) โรคศิลปะ เช่น กลุ่มเวชกรรม เภสัชกรรม ทันตกรรม
2) ประณีตศิลป์
3) สถาปนิก
4) วิศวกร
5) นักบัญชี
6) ทนายความ
- จ้างรับเหมาหรือบริการ หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 3%
- ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 5% ของเงินค่าเช่า
- ค่าโฆษณา หักภาษี ณ ที่จ่าย 2%
- ค่าขนส่ง หักภาษี ณ ที่จ่าย 1%
สรุป... นิติบุคคลมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย และส่งสรรพากร
ผู้จ้างเขียนโปรแกรมที่จดบริษัท ประกอบกิจการในนามนิติบุคคล มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา 3% หรือ 5% ขึ้นอยู่กับประเภทการจ้าง พร้อมกับผู้จ่ายเงินที่หักภาษี ณ ที่จ่ายไป ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.3, ภ.ง.ด.53 และ ภ.ง.ด.54 และเงินภาษีให้แก่กรมสรรพากร ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป หรือยื่นออนไลน์ได้ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป โดยหากยื่นข้อมูลแก่สรรพากรไม่ตรงตามความเป็นจริง ถือว่ามีความผิดทางกฎหมาย และยังต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มอีกด้วย
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting