แบงก์ชาติ ทบทวน 4 การบ้าน ‘เศรษฐา’ ลดผ่อนขั้นต่ำบัตรเครดิต 5% ชัดเจน ส.ค.นี้
ธปท.รับอยู่ระหว่างทบทวน “การบ้าน” นายกฯ เศรษฐา 4 ข้อ รับเร่งพิจารณาลดมาตรการ การผ่อนขั้นต่ำบัตรเครดิตเหลือ 5% ช่วยลูกหนี้ คาดสรุป ส.ค.นี้ ย้ำ “แอลทีวี” เหมาะสม
ก่อนหน้านี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความกังวลในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) โดยเฉพาะการขอธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดอัตราการชำระคืนขั้นต่ำบัตรเครดิต (Minimum Pay) กลับมาที่ 5% หลังจากที่ตั้งแต่ปี 2567 ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 8% เพราะมีบัตรเครดิต 24 ล้านใบ ค้างชำระเกิน 90 วัน หรือเป็นหนี้เสีย 1.1 ล้านใบ และกำลังเป็นหนี้เสียอีก 2 แสนใบ
นอกจากนี้ มีหลายประเด็นที่นายกฯ ฝากการบ้านให้ ธปท.เช่น การยกเลิกการผ่อนเกณฑ์ LTV (Loan to Value) เพื่อช่วยผู้ประกอบการ และเอื้อให้คนเข้าบ้านมากขึ้น รวมถึงการแก้เกณฑ์เพื่อลดเวลาการถูกเก็บประวัติการชำระหนี้ไว้ที่เครดิตบูโรที่กำหนดไว้ 8 ปี สำหรับลูกหนี้หนี้เสีย เพื่อให้ลูกหนี้เข้าสู่ระบบการเงินได้เร็วขึ้น สุดท้ายการปรับกรอบเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นให้เหมาะภาวะเศรษฐกิจมากขึ้น
นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษก ธปท.กล่าวว่า ธปท.เร่งพิจารณา “การบ้าน” นายกฯ โดยเฉพาะการปรับอัตราผ่อนขั้นต่ำบัตรเครดิตลงเหลือ 5% จาก 8% ที่พิจารณาเป็นการเร่งด่วน ดังนั้น คาดว่าจะชัดเจนในเดือนส.ค.นี้ ล่าสุดได้ทยอยหารือผู้ให้บริการบัตรเครดิตทั้งแบงก์ และนอนแบงก์ เพื่อรับทราบสถานการณ์ก่อนตัดสินใจดำเนินมาตรการ
ทั้งนี้ มีหลายประเด็นที่ ธปท.ต้องพิจารณาทั้งลดวงเงินขั้นต่ำบัตรเครดิตหรือปรับวงเงินการผ่อนบัตรเพิ่มขึ้น ล้วนมีผลผู้ได้ประโยชน์ และผู้ได้รับผลกระทบ รวมถึงอัตราที่จะปรับลดหรือเพิ่ม และผลข้างเคียงจากมาตรการจึงมีหลายข้อที่ ธปท.ต้องพิจารณาใกล้ชิดขึ้น
สำหรับกรณีที่เรียกร้องให้ผ่อนคลายเกณฑ์ LTV ที่ผ่านมา ธปท.ทบทวนมาต่อเนื่องว่ามีความเหมาะสมกับสถานการณ์หรือไม่ แต่พบว่า จากความกังวล ธปท.ล่าสุดคือ ผู้กู้บ้านที่ราคาต่ำกว่า 1-3 ล้านบาท มีปัญหามากขึ้น และเข้าไม่ถึงสินเชื่อมาจากรายได้ผู้กู้ที่เปลี่ยนไป ดังนั้น การผ่อนเกณฑ์ LTV อาจไม่ตอบโจทย์ให้เข้าถึงบ้าน โดยเฉพาะระดับ 1-3 ล้านบาท
“เราไม่ได้ปิดประตูแต่ต้องให้มั่นใจว่าจะไม่สร้างผลกระทบข้างเคียงเพิ่ม ที่ผ่านมาคนเข้าไม่ถึงบ้านมากขึ้นจากค่าใช้จ่ายมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม 1-3 ล้านบาท ดังนั้น ปัญหาวันนี้ต้องดูว่าแก้ตรงจุดหรือไม่ ซึ่ง ธปท.มองยังไม่จำเป็นผ่อนคลายเกณฑ์หรือยกเลิกเกณฑ์ แต่หากมีข้อมูลใหม่ก็พร้อมพิจารณาต่อเนื่อง”
ส่วนการขอให้ปรับกรอบเงินเฟ้อ และการพิจารณาลดระยะเวลาการออกจาก “เครดิตบูโร” เร็วขึ้น เชื่อว่าเรื่องเหล่านี้ยังเป็นเรื่องที่มีระยะเวลาในการพิจารณาในระยะข้างหน้า
"ส่งออก-ท่องเที่ยว"ฉุดเศรษฐกิจ มิ.ย.ดิ่ง
ส่วนการส่งออกเดือนมิ.ย.2567 ชะลอลงไม่ได้ต่างที่ ธปท.ประเมินไว้ โดยส่งออกจะทยอยฟื้นตัวดีขึ้นได้ตั้งแต่ปลายปีก่อน แต่ปัญหาเชิงโครงสร้าง และวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์มีผลกระทบต่อส่งออกไทยให้ฟื้นตัวช้า ดังนั้นแม้เศรษฐกิจโลก และการค้าโลกดีขึ้น แต่ผลบวกต่อส่งออกไทยอาจไม่ได้มาก
ทั้งนี้ การส่งออกชะลอตัวลงมีผลให้เศรษฐกิจเดือนมิ.ย.ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า โดยมาจากส่งออก และการท่องเที่ยวชะลอตัว ขณะที่การบริโภคยังทรงตัว ส่วนการลงทุน และการใช้จ่ายภาครัฐดีขึ้น
สำหรับทั้งไตรมาส 2 เศรษฐกิจไทยขยายตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า มาจากภาคการท่องเที่ยวที่ส่งผลต่อภาคบริการ การจ้างงาน และการส่งออกสินค้าดีขึ้น ซึ่งสอดรับอุตสาหกรรมการผลิต และการใช้จ่ายการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวดีขึ้น
“คลัง” กระทุ้งแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาพิเศษวาระการสถาปนา 75 ปี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวข้อ “พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยในยุคโลกเดือด” ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.5% ไม่ได้อยู่ระดับสูงเกินไป แต่ไม่สามารถส่งสัญญาณลบได้ ทั้งนี้ เงินทุนต่างชาติไหลเข้าเพราะดอกเบี้ยสูงทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ส่วนนี้เป็นเรื่องที่ ธปท.ต้องพิจารณา
“หลังโควิดได้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย หากปรับให้สอดคล้องดอกเบี้ยนโยบายต่างประเทศจะเป็นการส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยลงเหมือนชาวโลก ยอมรับว่าไทยเป็นประเทศเล็ก ฉะนั้นต้องสอดส่องสถานการณ์โลกมากกว่าสถานการณ์ในไทย จะต้องถ่วงน้ำหนัก”
นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2.5% นำไปสู่การคำนวณส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยต้นทุนเงินฝาก และเงินกู้ (NIM) โดยต้นทุนสถาบันการเงินปล่อยกู้รายใหญ่ 3% ต้นทุนแบงก์เพียง 1% เศษ ขณะที่การปล่อยกู้รายย่อยอัตราคิดเบี้ย MLR อยู่ที่ 6-7% ฉะนั้น มี NIM ทั้ง 2 ส่วนผสมในสถาบันการเงิน โดย NIM คำนวณจากต้นทุนของแบงก์ รวมด้วยการตั้งสำรองหนี้สูญ หากแบงก์สำรองสูงต้นทุนจะแพง ซึ่งสถาบันการเงินยังเข้มแข็งแต่รายย่อยเข้าถึงเงินกู้อัตราดอกเบี้ยสูง
‘บีโอเจ’ ขึ้นดอกเบี้ย 0.25%
หลังจบการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) วันที่ 31 ก.ค.2567 มีมติขึ้นดอกเบี้ยเป็น 0.25% ตามความคาดหมาย ซึ่งปรับขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา รวมทั้งลดปริมาณซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นรายเดือนลงสู่ระดับ 3 ล้านล้านเยน (ราว 7 แสนล้านบาท) ภายในไตรมาส 1 ปี 2569 ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของการถอนนโยบายผ่อนคลายทางการเงินขนานใหญ่ที่บีโอเจดำเนินการมา 10 ปี
นายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการบีโอเจแถลงว่า แม้การปรับตัวขึ้นของเงินเฟ้ออาจกระทบการอุปโภคบริโภคแต่ยังอยู่ทิศทางแข็งแกร่ง ส่วนข้อมูลค่าจ้างเห็นว่าการจ่ายค่าจ้างปรับตัวสูงขึ้น โดยผลการสำรวจบ่งชี้ว่าค่าจ้างปรับตัวขึ้นเป็นวงกว้างในหมู่บริษัทขนาดเล็ก และแม้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว แต่อัตราดอกเบี้ยแท้จริงยังอยู่ระดับต่ำ และการดำเนินการของบีโอเจจะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจมากนัก
นอกจากนี้ยังส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต โดยหากเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อเคลื่อนไหวสอดคล้องการคาดการณ์ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจะภายในปีนี้หรือไม่ เพราะขึ้นอยู่ข้อมูลทางเศรษฐกิจเป็นหลัก
ภายหลังการประกาศของบีโอเจ ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นมากกว่า 1% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ไปอยู่ที่ระดับ 150.61 เยนต่อดอลลาร์ในการซื้อขายเมื่อช่วงเช้าวันที่ 31 ก.ค.67 ซึ่งเป็นระดับแข็งค่าที่สุดในรอบ 4 เดือนนับตั้งแต่เดือนมี.ค. ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ นักลงทุนจับตาการประชุมในครั้งนี้ใกล้ชิด เพื่อประเมินว่าจะลดโครงการซื้อพันธบัตรรัฐบาลอย่างไร หลังเคยระบุเดือนมิ.ย.ว่าลดจำนวนการซื้อพันธบัตร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าตลาดการเงินจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยระยะยาวได้เป็นอิสระขึ้น
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่น เป็น 0.25% อาจส่งผลดีต่อธนาคารพาณิชย์ในญี่ปุ่น โดยเฉพาะแง่กำไรเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นจะเก็บดอกเบี้ยจากเงินกู้ได้มากขึ้น ส่งผลให้รายได้จากดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น
ตลาดหุ้นเอเชียสดใส ‘จีน’ บวกแรงสุดรอบ 3 เดือน
ดัชนีนิกเคอิ 225 ตลาดหุ้นโตเกียว ปิดตลาดวันที่ 31 ก.ค.67 บวก 575.87 จุด หรือ 1.49% ปิดที่ระดับ 39,101.82 จุด ขณะที่ดัชนี Topix ปิดบวก1.45% อยู่ที่ 2,794.26 จุด
การฟื้นตัวของตลาดหุ้นญี่ปุ่นได้รับแรงหนุนจากบีโอเจที่ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นเป็น 0.25% และลดวงเงินการซื้อพันธบัตรรัฐบาลลงรวมกับปัจจัยข้อมูลยอดขายปลีกที่แข็งแกร่ง โดยเพิ่มขึ้น 3.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน
ด้านดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกง ปิดที่ระดับ 17,344.60 จุด เพิ่มขึ้น 341.69 จุด หรือบวก 2.01% ขณะที่ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีน ปิดที่ 2,938.75 จุด เพิ่มขึ้น 59.45 จุด หรือบวก 2.06%
แรงบวกในตลาดหุ้นจีน และฮ่องกงมีขึ้นหลังจากที่จีนเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตหดตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ซึ่งทำให้ตลาดคาดการณ์ว่ารัฐบาลจีนอาจจะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
ขณะที่ดัชนีคอมโพสิตของเกาหลีใต้ปิดที่ 2,770.69 จุด เพิ่มขึ้น 1.19% โดยหุ้นของบริษัทซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นหุ้นขนาดใหญ่ของเกาหลีใต้ พุ่งขึ้น 3.58% หลังจากรายงานผลประกอบการไตรมาสสองที่แข็งแกร่งมากโดยมีกำไรเติบโต 1,458% อยู่ที่ 10.44 ล้านล้านวอน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์