ผู้ประกันตน ม.33 หลังเกษียณแล้ว ถ้าอยากใช้สิทธิประกันสังคมต่อ ทำได้หรือไม่

ผู้ประกันตน ม.33 หลังเกษียณแล้ว ถ้าอยากใช้สิทธิประกันสังคมต่อ ทำได้หรือไม่

มนุษย์เงินเดือนเตรียมเกษียณ ต้องรู้! เป็นผู้ประกันตน ม.33 เมื่อเกษียณอายุแล้ว ยังอยากใช้สิทธิประกันสังคมต่อ แต่กลัวเสียสิทธิเงินบำนาญ มีวิธีง่ายๆ ดังนี้

อย่างที่ทราบกันดีว่าพนักงานเงินเดือนจะต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน ม.33 กับ ประกันสังคม และเมื่อส่งเงินสมทบประกันสังคมครบ 180 เดือน (15 ปี) มีอายุครบ 55 ปี และออกจากการเป็นผู้ประกันตน ม.33 จึงจะสามารถรับ "เงินบำนาญ" ได้

​ทว่าในทางกลับกัน ยังมีผู้ประกันตนอยู่จำนวนมากที่เมื่ออายุครบ 55 ปี แต่มีความจำเป็นหรือต้องการใช้สิทธิประกันสังคมอยู่ เนื่องจากหลายๆ สาเหตุ อย่างเช่นมีโรคประจำตัวที่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และใช้สิทธิประกันสังคมในการรักษาฟรี

​ดังนั้น วันนี้เรามาเตรียมพร้อมวางแผนวัยเกษียณของมนุษย์เงินเดือน เกี่ยวกับการเป็นผู้ประกันตนหลังเกษียณ และสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ ว่าสามารถทำอย่างไรได้บ้างในกรณีต่างๆ ดังนี้

"มนุษย์เงินเดือน" หลังเกษียณ ยังได้รับสิทธิประกันสังคมหรือไม่​​

​เมื่อผู้ประกันตนเข้าสู่วัยเกษียณ อายุ 55 ปีบริบูรณ์ และออกจากงานประจำ ก็เท่ากับว่าสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน ซึ่งในกรณีนี้จะเกิดสิทธิ 3 อย่าง ดังนี้

​1.ได้รับสิทธิคุ้มครอง ม.33 ต่ออีก 6 เดือน นับตั้งแต่ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลงตาม มาตรา 38 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533

​2.หลังเกษียณอายุแล้ว สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตน ม.39 ได้ เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองจากประกันสังคมต่อตามสิทธิที่จะได้รับของ ม.39 โดยจะต้องสมัครภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลงตามมาตรา 39  วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533

​3.หลังเกษียณอายุ 55 ปีบริบูรณ์แล้ว สามารถขอรับ "เงินชราภาพ" ได้ โดยหากผู้ประกันตนส่งเงินสมทบไม่ถึง 180 เดือน (นับตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ.2541) สามารถขอรับเป็น "เงินบำเหน็จ" ได้

แต่ถ้าส่งเงินสมทบเกิน 180 เดือน หรือมากกว่านี้ (นับตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ.2541) จะได้รับเป็น "เงินบำนาญ"

โดยต้องยื่นคำขอรับเงินชราภาพภายใน 2 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิรับเงินชราภาพ แต่หากยื่นคำขอไม่ทันตามเวลา กฎหมายอนุโลมให้ผู้ประกันตน/ผู้มีสิทธิ สามารถยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนได้ พร้อมแสดงเหตุผลที่ไม่สามารถยื่นเรื่องภายในระยะเวลาที่กำหนดได้

แนวทางปฏิบัติเมื่อรับเงินบำนาญแล้ว แต่ยังอยากใช้สิทธิประกันสังคมต่อ

อย่างที่กล่าวไปแล้วในหัวข้อก่อนหน้านี้ว่า ผู้ประกันตนที่เกษียณ อายุ 55 ปีบริบูรณ์แล้ว มีความประสงค์ใช้ประโยชน์จากประกันสังคมต่อ สามารถขอขึ้นเป็นผู้ประกันตน ม.39 แทน ม.33 ได้ แต่ต้องยื่นภายใน 6 เดือน หลังจากสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน

​นอกจากนี้ ก่อนสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน ม.39 ให้ผู้เกษียณอายุยื่นขอรับเงินบำนาญชราภาพก่อน เพื่อให้ได้รับเงินบำนาญชราภาพรายเดือนจำนวนมากกว่า เนื่องจากจะคำนวณเงินสมทบที่ 750 บาท แทนเงินสมทบ 432 บาท ของ ม.39

จากนั้นเมื่อสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน ม.39 แล้ว ทางประกันสังคมจะหยุดจ่ายเงินบำนาญชราภาพ แต่จะได้รับสิทธิความคุ้มครองตาม ม.39 แทน โดยไม่จำกัดอายุจนกว่าผู้เกษียณอายุจะสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน ก็จะได้รับเงินบำนาญชราภาพในอัตราที่คำนวณไว้ตอนขอรับสิทธิครั้งแรกนั่นเอง

สิทธิประกันสังคม ม.39 มีอะไรบ้าง และหลักการสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน ม.39

หลังจากผู้เกษียณอายุขอรับเงินบำนาญเรียบร้อย และสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน ม.39 จะได้รับสิทธิความคุ้มครอง 6 กรณีหลักๆ ซึ่งประกอบด้วย

1) ได้รับอันตรายหรือเจ็บป่วย
2) ทุพพลภาพ
3) ตาย
4) คลอดบุตร
5) สงเคราะห์บุตร
6) ชราภาพ​

โดยจำเป็นต้องเคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาก่อน และออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน นับจากวันที่ลาออกจากงาน และต้องไม่เป็นผู้รับประโยชน์ทดแทน กรณีทุพพลภาพจากกองทุนประกันสังคม

สามาถยื่นสมัครได้ 2 วิธี คือ

1.ยื่นสมัคร ม.39 ด้วยตนเอง ด้วยแบบคำขอเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (แบบ สปส. 1-20) พร้อมบัตรประจำตัวประชาชน/บัตรอื่นที่มีรูปถ่ายซึ่งราชการออกให้พร้อมสำเนา ยื่นเอกสารที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัด และสาขาทั่วประเทศ

2.ยื่นใบสมัครออนไลน์  โดยดาวน์โหลดแบบคำขอเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (แบบ สปส. 1-20) ออนไลน์ พร้อมกับกรอกข้อมูล แนบหลักฐานบัตรประจำตัวประชาชน/บัตรอื่นที่มีรูปถ่ายซึ่งราชการออกให้ สมัครออนไลน์ผ่าน E-mail/LINE และเก็บหลักฐานการส่งเพื่อตรวจสอบต่อไป โดยอย่าลืมติดตามผลการสมัคร ม.39 เป็นระยะจนกว่าจะสมัครสำเร็จ

ช่องทางการส่งเงินสมทบ ม.39​

หากทราบผลว่าตนเองสมัคร ม.39 สำเร็จแล้ว ผู้ประกันตนมีหน้าที่ต้องส่งเงินสมทบ 432 บาท/เดือน ภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน โดยจ่ายผ่านช่องทางเหล่านี้ได้

​- สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัด/สาขาที่สะดวก
​- เคาน์เตอร์ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารธนชาติ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคาร
​- ให้ธนาคารหักจากบัญชีออมทรัพย์ของผู้ประกันตน แต่วิธีการนี้จะมีค่าธรรมเนียมในการหักบัญชีไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทหารไทย​
​- ธนาณัติหรือจ่ายผ่านไปรษณีย์ทั่วประเทศ
- เคาน์เตอร์เซอร์วิส
​- CenPay

สรุป

ผู้ประกันตน ม.33 ที่เกษียณอายุ 55 ปีบริบูรณ์ หากมีความจำเป็นต้องใช้สิทธิประโยชน์ความคุ้มครองจากประกันสังคมต่อ แนะนำว่า! อย่าลืมไปขอเงินบำนาญชราภาพก่อน แล้วค่อยสมัครขึ้นเป็นผู้ประกันตน ม.39 เพื่อให้หลังจากที่สิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน ม.39 ก็จะได้รับเงินบำนาญในแต่ละเดือนมากกว่ายื่นขอเงินบำนาญหลังจากสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน ม.39 แล้ว

 

 

อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting