‘ชาติศิริ‘ นำแบงก์ทรานส์ฟอร์ม ‘ดิจิทัล’ ลุ้นร่วม ’บีทีเอส’ตั้ง Virtual Bank

‘ชาติศิริ‘ นำแบงก์ทรานส์ฟอร์ม ‘ดิจิทัล’ ลุ้นร่วม ’บีทีเอส’ตั้ง Virtual Bank

‘ชาติศิริ’ พร้อมทรานส์ฟอร์ม นำ ‘แบงก์กรุงเทพ’ สู่ดิจิทัล ลุ้นร่วมวง ‘บีทีเอส‘ ยื่นขอไลเซนส์ ตั้ง Virtual bank ก.ย.นี้

ใกล้ถึงเวลาเต็มที่ สำหรับการปิด การยื่นขอใบอนุญาต หรือไลเซนส์ ตั้งธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank อย่างมากเป็นทาง หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดให้บริษัทต่างๆ ยื่นขอไลเซนส์ได้ตั้งแต่ 20 มี.ค. - 19 ก.ย.2567 นี้

ล่าสุดวงในจาก ธปท. ออกมาแย้มแล้วว่า มีภาคธุรกิจสนใจในการจัดตั้ง Virtual bank หลายราย โดยมีทั้งที่ยื่นเอกสารขอไลเซนส์มาแล้ว และอยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูลเตรียมความพร้อมในการยื่นไลเซนส์ก่อนที่จะถึงกำหนดในวันที่ 19 ก.ย.67 นี้

โดยเบื้องต้น ธปท. มีการกำหนดผู้ที่จะได้รับไลเซนส์ตั้ง Virtual Bank ไว้ที่ 3 รายช่วงแรก แม้จะมีเสียงเรียกร้องฟากกระทรวงการคลัง ที่อยากให้เปิดการให้ใบอนุญาตมากขึ้น เพื่อให้เกิดการแข่งขันในภาคการเงิน เพื่อหวังว่าจะเอื้อให้ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น

แต่ธนาคารมองว่า การให้ไลเซนส์เพียง 3 รายนั้น ถือเป็นสิ่งที่เหมาะสม เนื่องจาก Virtual Bank ถือเป็นเรื่องใหม่อย่างมากต่อประเทศไทย ต่อภาคธุรกิจไทย และการกำกับดูแลของ ธปท.นั้นต้องเข้มงวดขึ้นสำหรับการกำกับ Virtual Bank ในการติดตามการทำธุรกรรม การให้บริการ ที่มากกว่าการติดตามดูแลธนาคารพาณิชย์

ดังนั้น หากเปิดให้มีผู้ให้บริการหลายราย การให้บริการอาจไม่ทั่วถึง และอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงตามมาได้ เพราะจุดประสงค์ในการให้ใบอนุญาต Virtual Bank ก็เพื่อให้เกิดบริการทางการเงิน เกิดผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ในระบบการเงิน เพื่อหวังจะพัฒนาการให้บริการ และตอบโจทย์กลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน หรือตอบโจทย์กลุ่มผู้มีรายได้น้อยได้มากขึ้น

ไม่ใช่เอื้อให้เกิดการ “ผูกขาด” หรือการช่วงชิงตลาดของธุรกิจรายใหญ่ ดังนั้น ทุกย่างก้าวในการติดตามการดำเนินธุรกิจของ Virtual Bank จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และหากพบว่า ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ธปท.ตั้งไว้ หรือผิดเกณฑ์ที่กำหนด ธปท. ก็พร้อมที่จะ “เพิกถอน” ใบอนุญาตของผู้ให้บริการทันที !

 

หากดูจาก ผู้ให้บริการที่ประกาศตัวเข้าชิงไลเซนส์ Virtual Bank เวลานี้ ก็นับได้ 4 รายไปแล้ว ซึ่งเกินกว่า ไลเซนส์ที่ ธปท. กำหนดว่าจะให้เพียง 3 ไลเซนส์เท่านั้น

4 ผู้ให้บริการที่สนใจเข้ามาแย่งชิง Virtual Bank มีใครกันบ้าง? ที่สร้างความแตกตื่นระลอกใหม่กับตลาดการเงินคงหนีไม่พ้นกลุ่ม “บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง” หรือ BTS ที่ประกาศจับมือกับพันธมิตรยื่นขอไลเซนส์ Virtual Bank

โดยให้บริษัทลูก คือ บริษัท วีจีไอ หรือ VGI เป็นหัวหอกในการหาแหล่งเงินทุน โดยการเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) ถึง 4 กองทุนรวมมูลค่ากว่า 1.3 หมื่นล้านบาท เพื่อลุยธุรกิจใหม่

ด้วยประสบการณ์ในการทำ “ธุรกิจการเงิน” ของ “บีทีเอส” หรือบริษัทในเครือถือว่ายังไม่ได้มากนัก หากเทียบกับบรรดาแบงก์ใหญ่ๆ ที่ออกมาประกาศตัวทำธุรกิจ Virtual Bank ไปแล้ว

ดังนั้น ก้าวสำคัญหลังจากนี้คือ การเดินหน้าหาพันธมิตรให้กับกลุ่มธุรกิจ เพื่อสานต่อพันธกิจในการลุย Virtual Bank ตามแผน

หนึ่งในนั้นที่ถูกจับตาอย่างมากคือ “ธนาคารกรุงเทพ” หรือ BBL ที่หลายคนคาดการณ์ว่า อาจเป็น “ตัวเต็ง” ที่จะผนึกกำลังกับ “บีทีเอส” ในการเข้ามาลุย Virtual Bank ครั้งนี้ ด้วยความสัมพันธ์อันเหนียวแน่นของสองธุรกิจที่มีมานมนาน จากการจับมือร่วมกันในการให้บริการทางการเงินผ่านบัตรเดบิต เครดิต รวมถึงการชำระเงินผ่าน RABBIT เพื่อใช้ชำระค่าโดยสาร BTS และชำระค่าบริการในการจับจ่ายใช้สอยต่างๆ

แม้หลายคนก็มองว่า “ยาก” ที่จะเป็นไปได้ เพราะธนาคารกรุงเทพถือเป็นแบงก์ที่ดำเนินธุรกิจภายใต้การ “ระมัดระวัง” หรือ conservative มาโดยตลอด และการให้บริการส่วนใหญ่บนดิจิทัลยังถือว่า “ก้าวช้า” กว่าแบงก์ใหญ่อื่นๆ ที่นำหน้าเรื่อง “ดิจิทัล” ไปหลายขุมแล้ว

แต่ระยะหลังๆ เริ่มเห็นว่า ธนาคารกรุงเทพพยายามถีบตัวเองให้พ้นจาก “แบงก์ดั้งเดิม” มาสู่แบงก์รูปแบบใหม่ ที่ให้บริการที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น นั่นรวมไปถึงการหันมารุก “ดิจิทัลแบงกิ้ง” มากขึ้น โดยเฉพาะผ่านโมบายแอปพลิเคชัน ที่เริ่มเห็นว่ามีบริการทางการเงินใหม่ๆ บนดิจิทัลที่เปิดให้บริการใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง เทียบเท่ากับแบงก์ใหญ่อื่นๆ ไปแล้ว เช่น การให้สินเชื่อบน การซื้อกองทุน การซื้อประกัน หรือการชำระเงินบนดิจิทัลในต่างประเทศที่เริ่มเห็นพัฒนาการด้านเหล่านี้เร็วขึ้น

ดังนั้น ก็อาจไม่แปลกหาก “แบงก์กรุงเทพ” จะลงมาเล่น หรือลงมาให้บริการ “บนดิจิทัล” 100% ร่วมกับ BTS 

ล่าสุด ได้มีโอกาสเจอ “ชาติศิริ โสภณพนิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จากการสอบถามเรื่องดังกล่าว แม้หัวเรือใหญ่ BBL จะยังไม่ยอมรับว่าจะร่วมลงเรือลำเดียวกับบีทีเอส ในการตั้ง Virtual Bank แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธ 100%

โดยชาติศิริ ตอบว่า ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะร่วมกับทำ Virtual Bank หรือไม่ และแบงก์ไม่ได้บอกว่าจะทำหรือไม่ และยังไม่ทราบรายละเอียดต่างๆ แต่สำหรับตัวธนาคารเอง เขามองว่าจำเป็นที่ต้องปรับตัวและ “เปลี่ยนแปลง” เพื่อมุ่งไปสู่ “ดิจิทัล” มากขึ้น ซึ่งเป็นการตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่ทุกวันนี้มุ่งไปสู่ทางนี้เป็นหลักดังนั้นถึงเวลาที่ธนาคารต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนภายในองค์กรธนาคาร

นอกจากนี้มองว่า digitalization กลายมาเป็น “หัวใจสำคัญ” ของชีวิตทางการเงินของเราทุกคนไปแล้วในวันนี้

“ผมยังไม่ทราบเรื่อง และไม่ได้บอกว่าเราจะทำหรือไม่ แต่เราก็พร้อมปรับปรุง และเปลี่ยนแปลง และเราต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนภายในองค์กร เพราะทุกวันนี้ digitalization กลายเป็นหัวใจสำคัญของชีวิตประจำวันของคนไทยไปแล้ว สภาพตลาดก็มุ่งไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น”

ดังนั้น หากดูจากการให้สัมภาษณ์ก็มีความเป็นไปได้ที่แบงก์กรุงเทพอาจเข้ามา “ร่วมวง” บีทีเอสในการยื่นใบสมัครชิงไลเซนส์ Virtual Bank ก็เป็นได้ ด้วยความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น และประสบการณ์ในการให้บริการทางการเงินของธนาคารกรุงเทพ ก็เชื่อว่าคงไม่เป็นรองใครในการขึ้นมาให้บริการบน “ดิจิทัล” ในอนาคต

หากดูผู้ที่ประกาศตัวในการชิงไลเซนส์ Virtual Bank แล้วที่ผ่านมา ยังมาจาก 3 กลุ่มทุนใหญ่คือ กลุ่มแรก “เอสซีบี เอกซ์” ที่เดินหน้าลุย Virtual bank เต็มสูบ และล่าสุดได้เปิดตัวพันธมิตรทางธุรกิจรายที่ 3 คือ “WeBank” ธนาคารดิจิทัลชั้นนำในจีน หลังก่อนหน้านี้ ประกาศจับมือกับ ธนาคารยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ KakaoBank ไปแล้วเมื่อกลางปี 2566 ที่ผ่านมา

เอสซีบี เอกซ์” นอกจากจะเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศไทย ยังพ่วงมาด้วยพันธมิตรที่มีความรู้ความสามารถอย่างมากในด้านเทคโนโลยี ที่ “เอสซีบี เอกซ์”มองว่าจะเป็นแต้มต่อในการเข้ามาช่วยเจาะฐานลูกค้าที่เข้าถึงบริการทางการเงินน้อย หรือที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น ดังนั้นการมี “ฐานลูกค้า” มากๆ อาจไม่ได้สำคัญมากนัก เพราะหากระบบมีความแข็งแกร่ง มีเทคโนโลยี และมีผู้เชี่ยวชาญประสบการณ์ในการทำ Virtual Bank มาก่อนอย่าง WeBank สนามรบนี้ของ เอสซีบี เอกซ์ ก็ถือว่าแข่งขันได้สบายๆ

ถัดมา กลุ่มทุนจาก ที่ผนึกกันระหว่าง “กรุงไทย-เอไอเอส-กลุ่มกัลฟ์” จากที่ผ่านมา ธนาคารกรุงไทย และ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF และ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ได้มีการลงนามความร่วมมือทางธุรกิจกันไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปลายปี 2566 ที่ผ่านมาเพื่อเตรียมพร้อมตั้ง Virtual bank

จุดเด่นของกลุ่มทุนนี้คือ “ฐานลูกค้า” ที่มีจำนวนมาก และแข็งแกร่ง ทั้งฐานลูกค้าผ่านกรุงไทย ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง ที่มีลูกค้าใช้งานกว่า 40 ล้านราย หรือถุงเงินอีก 1.8 ล้านราย รวมไปถึงฐานลูกค้าภายใต้ OR ที่มีฐานสมาชิกกว่า 8 ล้านคน หรือแม้แต่พันธมิตรจากเอไอเอส ที่มีฐานลูกค้ากว่า 50 ล้านราย ซึ่งเฉพาะภายใต้กลุ่มนี้ปาไปแล้วเฉียด 100 ล้านคน

สุดท้ายคือ กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ที่อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในการจัดตั้ง Virtual bank เช่นเดียวกัน โดยแย้มว่าอยู่ระหว่างการเตรียมพร้อมในการยื่นไลเซนส์เช่นเดียวกัน โดยจะร่วมกับพันธมิตรในเครือที่มีความแข็งแกร่งอย่างมาก ทั้งประสบการณ์ และฐานลูกค้าจำนวนมาก ไม่แพ้คู่แข่งรายอื่นๆ

หากดูพันธมิตรในกลุ่ม “ซีพี” ก็ถือว่ามีไม่น้อย ทั้งจากบริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน “ทรูมันนี่” ซึ่งมีผู้ใช้งานไม่ต่ำกว่า 27 ล้านคน หรือ Ant Financial Services Group ในเครือ Alibaba ที่เป็นผู้ให้บริการทางการเงินที่มีความเชี่ยวชาญระดับโลก

สุดท้ายแล้วเชื่อว่า การแข่งขันในสมรภูมิ “Virtual Bank” จะเผชิญการแข่งขันที่ดุเดือดไม่น้อย เพราะดูจากผู้ให้บริการที่ประกาศตัวลงมาแข่งชิงไลเซนส์ ถือเป็นระดับบิ๊กๆ แนวหน้าของเมืองไทยทั้งสิ้นที่เต็มไปด้วย ศักยภาพ คุณภาพ ฐานลูกค้าอย่างมาก ที่มีความพร้อมในการให้บริการ Virtual Bank ทั้งสิ้น !!

 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์