เปิดข้อควรระวังคิดจะเบี้ยวหนี้แบงก์ ถึงศาลเสี่ยง เงินเดือน-โบนัส เกลี้ยง!

เปิดข้อควรระวังคิดจะเบี้ยวหนี้แบงก์ ถึงศาลเสี่ยง เงินเดือน-โบนัส เกลี้ยง!

หากพูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่เข้ามากดดัน “เศรษฐกิจไทย” จนกระทั่งทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมนั้น ต่ำกว่าศักยภาพคงประกอบด้วยหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นสังคมสูงวัย จำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยลง ปัญหาความเหลื่อมล่ำ ปัจจัยจากการที่ภาคการผลิตไทยผลิตสินค้าที่โลกลืม

ทว่าก็มีหนึ่งปัจจัยที่กดดันเศรษฐกิจไทยไม่แพ้กันและทำให้ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนลดน้อยลงนั้นก็คือ “หนี้ครัวเรือน” ที่ปัจจุบันอยู่ในระดับ 90.8% ต่อตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) 

ถ้าจะให้กล่าวถึงความรุนแรงของปัญหาดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมาก็คือข้อมูลซึ่งรวบรวมโดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เปิดเผยว่า ในปี 2565 คนไทย 37% หรือประมาณ​ 1 ใน 3 มีหนี้เป็นของตัวเอง ซึ่งแต่เดิมในปี 2560 อยู่ที่เพียง 30% และที่สำคัญหนี้สินส่วนใหญ่ของคนไทยเป็นหนี้ที่ไม่สร้างรายได้ หรือ เอ็นพีแอล เช่น หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งในปัจจุบันการขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์เพื่อมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหรือการดำเนินธุรกิจอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด เนื่องจากธนาคารจำเป็นต้องพิจารณาสินเชื่อตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าซึ่งจะต้องมีแนวโน้มชำระคืนหนี้ได้อย่างสม่ำเสมอ นอกเหนือจากการคำนึงถึงเงินรายได้คงเหลือหลังหักภาระผ่อนชำระหนี้ทั้งหมด (Residual Income) ที่ต้องเพียงพอต่อการดำรงชีพ 

ที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดคือ แหล่งข่าววงการการเงิน กล่าวว่า จากข้อมูลบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ล่าสุด พบว่า นับตั้งแต่ 1 ม.ค. ยอดการเข้าถึงและการอนุมัติสินเชื่อใหม่โดยรวมของคนไทยน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งในส่วนของสินเชื่อบ้านที่ชะลอลงมาอยู่ที่ 8,927 บัญชี ในเดือนเม.ย. ลดลง จากที่เคยมียอดการอนุมัติต่อเดือนเกิน 1 หมื่นสัญญา 

ต่อมาคือ สินเชื่อรถยนต์ ที่มียอดบัญชีสินเชื่อปล่อยใหม่ ลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 50,351 สัญญา ณ เดือนเม.ย. 2567 ขณะที่ยอดอนุมัติบัตรเครดิตใหม่ของเดือน เม.ย. ลดลงมาอยู่ที่ 93,212 สัญญา เทียบกับสิ้นปี 2566 ที่ยอดปล่อยสินเชื่อประเภทนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 1 แสนสัญญา

ดังนั้น นักวิชาการส่วนหนึ่งเสนอแนะว่า ในฐานะประชาชนคนทั่วไปที่อยากเข้าถึงสินเชื่อได้ในสภาวะแบบเศรษฐกิจเช่นนี้อาจจำเป็นต้อง “รักษาวินัยทางการเงิน” สร้างประวัติการชำระหนี้ที่ดีต่อผู้ปล่อยสินเชื่อซึ่งเป็นข้อมูลในระบบของเครดิตบูโร และหากรู้ตัวว่าในอนาคตอันใกล้ความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ให้กับธนาคารพาณิชย์อาจน้อยลงมีและความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้เนื่องจากไม่สามารถผ่อนหนี้ต่อไม่ไหวด้วยอัตราเดิม ก็ให้รีบเข้าไปสื่อสารปัญหากับเจ้าหนี้เพื่อหาทางแก้ไขและปรับโครงสร้างหนี้ต่อไป 

ทั้งนี้ หากท้ายที่สุดผู้ขอสินเชื่อมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถจ่ายคืนหนี้ได้ตามอัตราเดิมและไม่เข้ามาเจรจากับผู้ปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ผ่านมามีกระแสในสื่อสังคมออนไลน์ในทางที่ไม่ถูกต้องมากนักเกี่ยวกับการจ่ายคืนหนี้ เช่นเป็นหนี้แล้วไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยและปล่อยให้ธนาคารฟ้องแล้วจะได้ดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าอัตราปกติ 

เปิดข้อควรระวังคิดจะเบี้ยวหนี้แบงก์ ถึงศาลเสี่ยง เงินเดือน-โบนัส เกลี้ยง! หรือกระทั่งความเชื่อที่ว่าแม้มีประวัติในเครดิตบูโรก็ยังขอสินเชื่อได้ หากเชื่อคำแนะนำในสื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้อาจจะทำให้เราตกที่นั่งลำบากมากกว่าการเข้าไปเจรจากับธนาคารโดยตรง เพราะตามกฎหมายแล้วสถาบันการเงินสามารถใช้สิทธิเรียกให้ลูกค้าชำระหนี้ตามจำนวนที่เกิดขึ้นจริง รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของธนาคารและทุกธนาคารจะใช้ประวัติในเครดิตบูโรประกอบการพิจารณาให้สินเชื่อ การมีประวัติหนี้เสียอยู่ในระบบจะมีผลอย่างมากต่อการขอสินเชื่อในอนาคต

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องการไม่จ่ายคืนหนี้แล้วหากคดีไปถึงชั้นเจ้าหนี้จะทำการสืบทรัพย์ตลอดระยะเวลา 10 ปี นั้นหมายความว่าตามกฎหมายแล้วผู้ปล่อยกู้สามารถอายัดเงินเดือน โบนัส เบี้ยขยัน บำเหน็จ เงินทดแทน และสินทรัพย์อีกจำนวนมากของผู้ขอสินเชื่อดังนี้ 

  • กรณีรัฐวิสาหกิจหรือลูกจ้างเอกชน สามารถอายัดเงินเดือนส่วนเกิน 20,000 บาทได้ เช่น เงินเดือน 25,000 บาท อายัดได้เดือนละ 5,000 บาท
  • กรณีมีเงินโบนัส อายัดได้ไม่เกิน 50% เช่น ได้โบนัส 30,000 บาท อายัดได้ 15,000 บาท
  • กรณีมีค่าล่วงเวลา หรือเบี้ยขยัน อายัดได้ไม่เกิน 30% เช่น ได้ค่าล่วงเวลา 1,000 บาท อายัดได้ 300 บาท
  • กรณีได้เงินทดแทนจากการออกจากงาน หรือเงินบำเหน็จ อายัดได้ไม่เกิน 3 แสนบาท
  • กรณีมีค่าเช่ารายได้ สามารถอายัดเงินค่าเช่าไปยังผู้เช่าได้ เช่น มีบ้านให้เช่าเดือนละ 5,000 บาท สามารถอายัดเงินค่าเช่าจำนวนนี้ได้
  • กรณีมีบัญชีเงินฝากธนาคาร อายัดเงินในบัญชีได้ไม่เกินยอดหนี้ที่มี
  • กรณีมีทรัพย์สิน เช่น ที่ดิน บ้าน รถยนต์ คอนโด รถจักรยานยนต์ พันธบัตร หุ้นกู้ หุ้นสามัญ ปืน เรือ เครื่องจักร ฯลฯ สามารถยึด/อายัดเพื่อนำไปขายทอดตลาดได้
  • กรณีข้าราชการ ไม่สามารถอายัดเงินเดือนได้ แต่ถ้ามียอดหนี้เกิน 1 ล้านบาท และถ้าถูกฟ้องล้มละลาย ตามระเบียบข้าราชการฯ จะถูกให้ออกจากราชการ เนื่องจากเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

ท้ายที่สุด สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องทำธุรกิจในสถานการณ์เศรษฐกิจเช่นนี้ หากรู้ตัวว่าอาจจะไม่สามารถจ่ายคืนหนี้สินได้ด้วยอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันสิ่งที่ดีและปลอดภัยมากที่สุดคือการเข้าไปสื่อสารปัญหากับสถาบันการเงินเพื่อหาทางออกที่เหมาะสม 

รวมทั้งหากต้องการสินเชื่อเพื่อดำเนินธุรกิจต่อไปท่ามกลางสถานการณ์ที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังการสร้างประวัติการจ่ายคืนหนี้ที่ดีและอยู่ในระบบต่อไปย่อมดีกว่าการออกไปนอกระบบแน่นอนเพราะการขอสินเชื่อนอกระบบมีความเสี่ยงและต้นทุนดอกเบี้ยที่รุนแรงมากกว่า

อ้างอิง

1. ข้อมูลหนี้ครัวเรือนไทย ศูนย์วิจัยป๋วย https://projects.pier.or.th/household-debt/

2. เครดิตบูโร ยอดปล่อยสินเชื่อ https://www.bangkokbiznews.com/finance/investment/1135315