ลงทุนอย่างไร เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยง Recession

ลงทุนอย่างไร เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยง Recession

หัวใจสำคัญที่สุดของการลงทุนคือการกระจายความเสี่ยง สำหรับเงินลงทุนส่วนใหญ่ยังคงแนะนำลงทุนในกองทุนผสมที่ลงทุนในหลายสินทรัพย์ โดยเฉพาะกองทุนที่จัดสรรเงินลงทุนแบบขึ้นอยู่กับความเสี่ยง ทำให้ผู้จัดการกองทุนมีความยืดหยุ่นในการจัดสัดส่วนการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์

เปิดเดือนสิงหาคมมาด้วยข่าวร้ายที่ปกคลุมภาพรวมการลงทุน โดยเฉพาะตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่ได้สร้างความตื่นตระหนกอย่างมาก โดยดิ่งลงในหนึ่งวันถึง -12% จากความกังวลว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง สวนทางกับสหรัฐฯ ที่จะเริ่มลดดอกเบี้ย ส่งผลให้มีการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงปริมาณมหาศาลเพื่อไปแลกคืนเป็นเงินเยนจากที่ก่อนหน้านี้ได้กู้ยืมเป็นเงินเยนเพื่อนำไปลงทุน นอกจากนั้นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่กดดันตลาดหุ้นทั่วโลก ก็คือความกังวลเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ หลังตัวเลขเศรษฐกิจอ่อนแอลง

โดยการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนกรกฏาคมเพิ่มขึ้นในระดับต่ำสุดตั้งแต่ช่วงวิกฤตโควิดปี 2020 ด้านอัตราการว่างงานปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.3% และ Sahm Rule หนึ่งในเครื่องบ่งชี้การเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่นำอัตราการว่างงานมาคำนวณ ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 0.53 ซึ่งถ้าหากตัวเลขสูงกว่า 0.5 มักหมายถึงการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้ตลาดคาดว่า FED จะลดดอกเบี้ยในอัตราที่มากขึ้นและเร็วขึ้น โดยจาก FED Fund Futures (ณ 8 ส.ค.) ประเมินว่า FED มีโอกาสลดดอกเบี้ยทั้งหมดถึง 1.00-1.25% ในปีนี้ และมีบางส่วนคาดว่า FED จะจัดการประชุมฉุกเฉินเพื่อลดดอกเบี้ยด้วย

ทั้งนี้เราประเมินว่าตลาดค่อนข้างตื่นตระหนกจากตัวเลขข้างต้น เพราะตัวเลขจ้างงานที่อ่อนแอส่วนหนึ่งเป็นผลจากกำลังแรงงานที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับเป็นช่วงที่พายุเฮอริเคน Beryl ถล่มรัฐ Texas และเครื่องชี้เพียงตัวเดียวยังไม่ใช่การฟันธงว่าเศรษฐกิจจะต้องเข้าสู่ภาวะถดถอย ด้านกิจกรรมภาคบริการของสหรัฐฯ ยังคงเติบโตได้ดี โดยตัวเลข ISM Service PMI ล่าสุดอยู่ในเกณฑ์ขยายตัวและยอดค้าปลีกเดือนมิถุนายนออกมาดีกว่าคาด สะท้อนการบริโภคที่ยังแข็งแกร่ง ด้านตลาดหุ้นญี่ปุ่นก็รีบาวด์ขึ้นมาแล้วกว่า 10% (ณ 8 ส.ค.) หลังธนาคารกลางญี่ปุ่นส่งสัญญาณว่าจะไม่รีบขึ้นดอกเบี้ยหากตลาดการเงินยังคงผันผวน

ดังนั้น ในภาวะเช่นนี้ มองว่าเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนระยะยาวที่สามารถรับความเสี่ยงได้ ที่จะใช้จังหวะตลาดปรับฐานในการทยอยเข้าลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งในราคาที่ถูกลง เนื่องจากเรายังคงประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวแบบ Soft landing มีโอกาสไม่สูงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย และ FED จะเดินหน้าลดดอกเบี้ย ทำให้เป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนในหุ้น

สำหรับหุ้นสหรัฐฯ แนะนำกระจายลงทุนในหลายอุตสาหกรรมโดยยังคงเน้นในหุ้นที่เติบโตสูง เช่น กลุ่มเทคโนโลยี และกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย โดยไม่ได้กระจุกตัวแค่ในหุ้นขนาดใหญ่ เนื่องจากผลการดำเนินงานยังคงออกมาแข็งแกร่ง หนุนจากความต้องการที่ยังอยู่ในระดับสูง นอกจากนั้นแนะนำกระจายลงทุนในหุ้นกลุ่มการเงิน ที่จะช่วยป้องกันพอร์ตหุ้นโดยรวมหาก FED ลดดอกเบี้ยน้อยกว่าคาด และได้ประโยชน์จากนโยบายผ่อนคลายข้อบังคับหากคุณทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดี อีกทั้งรายได้และกำไรของธนาคารในสหรัฐฯ ยังเติบโตได้ดี 

สำหรับหุ้นนอกสหรัฐฯ ที่เรามองเห็นโอกาสในการเข้าลงทุน ก็คือหุ้นเอเชีย ที่ภาพรวมเศรษฐกิจแข็งแกร่งกว่าตลาดเกิดใหม่ภูมิภาคอื่นๆ เงินเฟ้อปรับลดลงอยู่ในระดับต่ำแล้ว ทำให้ธนาคารกลางในเอเชียมีความพร้อมที่จะลดดอกเบี้ย โดยเฉพาะเกาหลีใต้ ที่ปรับตัวลงแรงตามตลาดหุ้นในภูมิภาค แต่ยังมีปัจจัยหนุนหลายด้าน ทั้งจากความต้องการ Semiconductors ที่หนุนหุ้นเทคฯ ขนาดใหญ่อย่างบริษัท Samsung Electronics และ SK Hynix รวมถึงนักวิเคราะห์ยังคาดการณ์ว่าธนาคารกลางเกาหลีใต้จะลดดอกเบี้ยในปีนี้ ซึ่งจะช่วยหนุนการบริโภคในประเทศด้วย นอกจากนั้นด้านระดับราคา (Valuation) ซื้อขายที่ระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต และถูกกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคอย่างไต้หวันอย่างมีนัยสำคัญ

สุดท้ายนี้...หัวใจสำคัญที่สุดของการลงทุนก็คือการกระจายความเสี่ยง สำหรับเงินลงทุนส่วนใหญ่ยังคงแนะนำลงทุนในกองทุนผสมที่ลงทุนในหลายสินทรัพย์ โดยเฉพาะกองทุนที่จัดสรรเงินลงทุนแบบขึ้นอยู่กับความเสี่ยง (Risk based allocation) ทำให้ผู้จัดการกองทุนมีความยืดหยุ่นในการจัดสัดส่วนการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ เช่น ในช่วงนี้กองทุนจะสามารถลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นลงและเพิ่มการลงทุนในกลุ่มตราสารหนี้ที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้โดดเด่น เพราะจะได้ประโยชน์โดยตรงเมื่อดอกเบี้ยเป็นขาลงหลัง FED เริ่มลดดอกเบี้ย นอกจากนี้กองทุนยังมีการลงทุนในดัชนีความผันผวน (VIX Index) ทำให้ได้ผลตอบแทนมื่อตลาดหุ้นมีความผันผวนเพิ่มขึ้นด้วย