แบงก์ปรับพอร์ต รับเศรษฐกิจทรุด รายใหญ่ชะลอขอกู้-ลงทุน ครึ่งปีหลัง
แบงก์พาณิชย์” รับความเสี่ยงครึ่งหลังปี 67 พุ่ง ยกการ์ดสูง เข้มปล่อยสินเชื่อ ปรับพอร์ตเน้นระมัดระวัง เหตุเศรษฐกิจยังชะลอ “กสิกรไทย” เน้นปล่อยกู้ลูกค้าระดับท็อป-คุมความเสี่ยง “กรุงศรี” ชี้ “รายใหญ่”ชะลอลงทุน-ขอสินเชื่อใหม่
ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ "ชะลอตัว” ต่อเนื่อง ตอกย้ำด้วย “หนี้ครัวเรือน” ระดับสูงเกินกว่า 90% ของจีดีพีเป็นปัจจัยฉุดรั้งการเติบโตทั้ง “การบริโภค-จับจ่ายใช้สอย-ชำระหนี้คืน” อย่างมีนัยสำคัญ เป็นความท้าทายมากขึ้นต่อ “ภาคธุรกิจ-สถาบันการเงิน-ลูกหนี้” ที่อาจต้องเผชิญความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหลังจากนี้
ความเสี่ยงที่มากขึ้น ทำให้สถาบันการเงินไทยออกมา “ตั้งการ์ด” คุมเข้มปล่อยสินเชื่ออย่างเข้มงวด ตั้งแต่ครึ่งปีแรกที่ผ่านมา และยังส่งสัญญาณต่อไปว่าการเข้มงวดดังกล่าวยังมีต่อเนื่องในครึ่งหลังปี 2567 นี้
“กสิกรไทย” ตั้งการ์ดระวังปล่อยกู้
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ หรือสงครามการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จะส่งผลให้ความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นกับลูกค้าทุกกลุ่ม ธนาคารดำเนินการด้วยความระมัดระวังมาตลอด ในกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ธนาคารจะเลือกลูกค้าที่ติดอันดับท็อป เป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่ำเพื่อคุมคุณภาพหนี้ทำให้หนี้เอ็นพีแอลของธนาคารอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ โดยธนาคารยังคงเป้าปล่อยสินเชื่อในระดับเท่าเดิม
“ท่ามกลางสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งใน และต่างประเทศสร้างความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น ธนาคารต้องติดตามปัจจัยต่างๆ ต่อไป แต่ลูกค้ารายใหญ่หลักๆ เป็นระดับใหญ่ต้นๆ ของอุตสาหกรรมยังไม่มีปัญหา กลุ่มที่ต้องระวังเป็นกลุ่มธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว สิ่งที่ธุรกิจต้องระวังต่อไป คือ เงินทุน หรือสภาพคล่องธุรกิจที่ต้องพยายามบริหารจัดการอย่างลำบากขึ้น”
ถอยปล่อยกู้“เช่าซื้อ-บ้านต่ำ5 ล้าน”
นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า ภายใต้ความเสี่ยงในครึ่งหลังปี 2567 ที่สูงขึ้น การปล่อยสินเชื่อของธนาคารคงต้อง “ถอย” และออกมาตั้งรับสำหรับหลายผลิตภัณฑ์สินเชื่อ โดยหลายธุรกิจที่ธนาคารมองว่าเสี่ยง เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อเช่าซื้อต่างๆ ต้อง “ลดพอร์ต” และต้องปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง
โดยเฉพาะสินเชื่อบ้าน เดิมธนาคารมองว่า กลุ่มที่มีรายได้ และความสามารถซื้อบ้านระดับ 5 ล้านบาท ยังเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ แต่ปัจจุบันพบว่า เมื่อยื่นขอกู้สินเชื่อเข้ามากลับไม่ผ่านพิจารณามากขึ้น ดังนั้น เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ธนาคารต้องเพิ่มความระมัดระวังปล่อยสินเชื่อมากขึ้นหลังจากนี้
ขณะที่ กลุ่มที่ยังเติบโต เช่น ธุรกิจบรรษัท ธุรกิจรายใหญ่ ก็พบว่าแข่งขันกันค่อนข้างสูง ทุกแบงก์หันมาเล่นในกลุ่มที่มีศักยภาพมากขึ้น ดังนั้น การสร้างผลตอบแทน หรืออัตราดอกเบี้ยอาจไม่ได้ดีมากนัก
สำหรับการเติบโตของสินเชื่อธนาคารปีนี้มองว่า มีโอกาสปรับตัวลดลง เพราะหลายกลุ่มเติบโตลดลง และทุกธนาคารต้องระวังสินเชื่อทุกพอร์ตมากขึ้น
“ปีนี้เราไม่สนใจเรื่องการเติบโตอยู่แล้ว เพราะพบว่ากลุ่มที่เคยเติบโตในอดีต วันนี้เติบโตลดลง ยอดปล่อยสินเชื่อรถ สินเชื่อบ้านก็ลดลง ดังนั้นคงไม่มีใครโตเรื่องบ้านเรื่องรถ หลายพอร์ตต้องระวังมากขึ้น ล่าสุดเราปรับเป้าการเติบโตลงมา”
“กรุงศรี”ชี้ศก.ทรุด“รายใหญ่”ชะลอกู้
นายประกอบ เพียรเจริญ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ยอมรับว่า ปัจจุบันทุกพอร์ตสินเชื่อเสี่ยงมากขึ้น ไม่เว้นแต่ธุรกิจรายใหญ่ ที่เคยเป็นกลุ่มที่แข็งแกร่ง มาวันนี้เผชิญความเสี่ยงทั้งจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ซึมลึกและยาวนาน รวมถึงประเด็นใหม่ ที่เข้ามากระทบต่อธุรกิจมากขึ้น ธุรกิจที่ยังไปได้ส่วนใหญ่ อยู่ในภาคที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก
ในส่วนของธนาคารสำหรับลูกค้ารายใหญ่ มุ่งไปที่ลูกค้าที่มีความมั่นคงมากขึ้น แต่หากดูการเติบโตสินเชื่อ และแนวโน้มขอสินเชื่อของธุรกิจรายใหญ่ไม่เพิ่มขึ้นนัก ไม่เห็นดีมานด์ หรือความต้องการลงทุนใหม่ ส่วนใหญ่ชะลอลงทุน ชะลอขยายกิจการใหม่เพื่อรอความชัดเจนเศรษฐกิจระยะข้างหน้า
“เราอยากปล่อยกู้ แต่ภาวะแบบนี้รายใหญ่ไม่ลงทุน เพราะมีความเสี่ยงทั้งในธุรกิจรถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ ผลกระทบจากดิสรัปชัน การเข้ามาแข่งขันของจีน ปีนี้คงเป็นปีแห่งการประคับประคองตัว”
สำหรับตลาดทุนเป็นอีกตลาดที่ท้าทายมากขึ้น ทั้งกฎเกณฑ์ กติกาต่างๆ รวมถึงเรื่องธรรมาภิบาลอาจกระทบต่อการดำเนินธุรกิจบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ดังนั้นหลายธุรกิจต้องปรับตัว ธนาคารจึงมองความเสี่ยงที่มีต่อพอร์ตลูกค้าธนาคาร และลูกค้าโดยรวมมากขึ้นทั้งจากปัจจัยภายใน และภายนอก
หากดูด้านภาพรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ หนี้เสีย ยังไม่เห็นมากนักในกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ แต่เห็นมากขึ้นในเอสเอ็มอี ทั้งธุรกิจขนาดกลาง หลังจากนี้นอกจากระมัดระวัง และประคับประคองพอร์ตลูกค้า ธนาคารต้องพิจารณาสำรองให้เพียงพอครอบคลุมความเสี่ยงมากขึ้น
“เอสซีบี”ระวังความเสี่ยงมากกว่าเน้นเติบโต
นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ ยอมรับว่า ปัจจุบันความเสี่ยงและความไม่แน่นอนมีสูงขึ้น โดยเฉพาะที่กระทบต่อพอร์ตลูกค้าธนาคาร ที่อาจเผชิญความเสี่ยงเพิ่ม ธนาคารเองต้องระมัดระวังและพิจารณารอบคอบว่าเซกเตอร์ไหนยังไปได้ เช่น สินเชื่อบ้านกลุ่มราคาบ้านเกิน 5 ล้านขึ้นไป ยังคงเป็นกลุ่มหลักของธนาคาร
สำหรับกลยุทธ์ครึ่งปีหลังคงต้องหันมามองความเสี่ยงเป็นหลัก ทั้งจากพอร์ตสินเชื่อเดิมที่ยังคงมีอยู่ และการปล่อยสินเชื่อใหม่ ธนาคารจะมองความเสี่ยงในการมองพอร์ตสินเชื่อมากขึ้น ภายใต้หลักการระมัดระวัง มากกว่ามุ่งเน้นการเติบโต
“ปีนี้เราคงต้องปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ มองความเสี่ยงเป็นหลัก วันนี้เรามีทั้งพอร์ตลูกค้าเก่าและมีของใหม่เติมเข้ามา การเลือกลูกค้าใหม่ต้องระมัดระวัง ส่วนลูกค้าเดิมจะทำอย่างไรให้เขาอยู่รอดได้”
สำหรับโจทย์ธนาคารปีนี้ไม่เน้นการเติบโตสินเชื่อ แต่โจทย์ใหญ่ คือ สร้างอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น (ROE) ให้เป็นเลขสองหลัก ดังนั้น ปีนี้การดำเนินธุรกิจคงเน้นไปที่ธุรกิจที่มีความเสี่ยงไม่มากและพยายามทำให้ ROE ได้ตามเป้า
“เป้าหมายเรา คือระวังความเสี่ยง และปรับกลยุทธ์ผ่องถ่ายไปสู่ดิจิทัล เน้นโตในเซกเมนต์ที่เชื่อว่าไปได้ ขณะที่การปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีก็ทรงตัว โจทย์ของเรา คือ แค่รักษาฐานอย่างระมัดระวัง”
“แบงก์กรุงเทพ” ย้ำสำรองครึ่งปีหลังยังสูง
นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวว่า มองเห็นความเสี่ยง และความผันผวนที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ดังนั้น ธนาคารยังคงอยู่ภายใต้ความระมัดระวังควบคู่กับช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจในการเสริมสภาพคล่อง และการลงทุน เพื่อให้เกิดการสร้างขีดความสามารถแข่งขันใหม่ๆ การเติบโตด้านสินเชื่อ ธนาคารยังตั้งเป้าโตใกล้เคียงเดิมที่ 3-5% แต่ยอมรับว่าเป้าดังกล่าว ถือเป็นเป้าที่ท้าทายมากขึ้น
ส่วนความเสี่ยงที่สูงขึ้น กลุ่มลูกค้าธนาคารมีการปรับตัวต่อเนื่องเช่นเดียวกับธนาคารที่ปรับตัวเพื่อรับความเสี่ยงทั้งในและต่างประเทศ โดยธนาคารมองว่า ยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ แต่ต้องติดตามใกล้ชิด ส่วนการตั้งสำรองหนี้สูญ ครึ่งปีหลังน่าจะคงระดับสูง และใกล้เคียงกับครึ่งปีแรกที่ผ่านมา