‘เครดิตบูโร‘ ชี้เอสเอ็มอีรายเล็กส่อไม่รอด 7 หมื่นธุรกิจ ดันหนี้เสียพุ่ง
“เครดิตบูโร” เปิดภาพรวม “ธุรกิจเอสเอ็มอี” พบรายเล็กที่เป็น “เอสเอ็มอีนิติบุคคล” มีปัญหาชำระหนี้พุ่ง ชี้ไตรมาส 2 กลายเป็น “หนี้เสีย” 3.1 หมื่นธุรกิจ และ “ค้างชำระหนี้” อีก 3.4 หมื่นราย รวมทั้งสองกลุ่มเกือบ “7 หมื่นธุรกิจ” ที่มีธุรกิจจ่อไปไม่รอด
KEY
POINTS
key points
- เครดิตบูโร เปิดภาพรวมสินเชื่อเอสเอ็มอีนิติบุคคลไตรมาส 2 พบปล่อยกู้ติดลบ 8.5% เหตุแบงก์เข้มปล่อยกู้ ธุรกิจเข้าไม่ถึงสินเชื่อเพียบ
- ชี้ ธุรกิจเอสเอ็มอีนิติบุคคลน่าห่วง! เป็นหนี้เสียแล้ว 3.1หมื่นราย วงเงินหนี้รวม 3 แสนล้านบาท คิดเป็น 10.8% จากสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อทั้งหมดที่ 2.83 แสนราย บนยอดสินเชื่อคงค้างที่ 3.7 ล้านล้านบาท
- ขณะที่ เอสเอ็มอีนิติบุคคลยังมีหนี้ ค้างชำระ หรืออยู่ในกลุ่ม SM อีก3.4 หมื่นธุรกิจ ที่มีปัญหาชำระหนี้ จากเศรษฐกิจทรุด ยอดขายตกต่ำ
- รวมทั้งสองกลุ่ม ที่เป็นหนี้เสียแล้ว และค้างชำระเกือบเฉียด 7 หมื่นธุรกิจ ที่ส่อการไปไม่รอด สอดคล้องยอดปิดโรงงาน-ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้พุ่ง
- พบหนี้บัตรเครดิตค้างชำระหนี้พุ่ง ปัจจุบันมีบัตรเปิดใช้งานอยู่ที่ 24.1 ล้านสัญญาหรือล้านใบ แต่มีบัญชีที่ตกเป็นหนี้เสียแล้ว 1.08 ล้านสัญญาหรือล้านใบ เติบโตขึ้นถึง 15% หากเทียบกับปีที่ผ่านมา
ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจ “ซบเซา” และ “ชะลอตัว” ต่อเนื่อง การทำธุรกิจต่างเผชิญความท้าทายมากขึ้น โดยเฉพาะ “ธุรกิจเอสเอ็มอี” ที่ถูกกระทบทั้งจากการเข้ามาแย่งชิงตลาดของจีน ความสามารถในการแข่งขันต่ำลง และโอกาสเข้าถึงสภาพคล่อง หรือสินเชื่อยังยากขึ้น ท่ามกลางความเข้มงวดของระบบธนาคารที่มากขึ้น
สารพัดปัญหาล้วนมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจมากขึ้น ดังนั้น ปัญหาขณะนี้ไม่เฉพาะภาคครัวเรือนเท่านั้นที่เผชิญปัญหาหนี้ แต่หากดูภาคธุรกิจ ที่ถือเป็นภาคส่วนสำคัญเศรษฐกิจไทย และมีการจ้างงานสูงกลับเป็นภาคส่วนที่ “น่าห่วง” อย่างมากเช่นเดียวกัน
ล่าสุดในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยยอดปิดโรงงานอุตสาหกรรมให้เห็นมากขึ้น โดยอยู่ที่ 111 แห่งต่อเดือน และมียอดปิดโรงงานแล้วในครึ่งปีแรกที่ 667 แห่ง
ขณะที่ ในตลาดทุนก็เห็นการประสบปัญหาด้านสภาพคล่องมากขึ้นของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) โดยเฉพาะตลาดหุ้นกู้ ที่พบว่า มีบริษัทผิดนัดชำระหุ้นกู้ให้เห็นมากขึ้น โดยจากการเปิดเผยข้อมูลของ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) พบว่า ไตรมาสแรกที่ผ่านมามีธุรกิจเอกชนออกหุ้นกู้ที่ 2 แสนล้านบาท ลดลง 24% แต่หากดูหุ้นกู้ที่ผิดนัดชำระหนี้ พบว่ามีสูงขึ้น โดยกลุ่มที่มีปัญหาผิดนัดชำระหนี้ และอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ถึง 4.8 หมื่นล้านบาท (ไม่รวมกลุ่มที่อยู่ระหว่างฟื้นฟูกิจการ)
เหล่านี้สอดคล้องกับข้อมูลของ “เครดิตบูโร” หรือ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ มีการเปิดเผยตัวเลขภาพรวมสินเชื่อที่นำเสนอกับคณะกรรมการธนาคารพาณิชย์ (บอร์ด) แห่งหนึ่ง โดยมองว่าปัจจุบันทั้งครัวเรือนไทย และเอสเอ็มอี นายจ้าง เผชิญกับปัญหาหนี้มากขึ้น
ความเปราะบางดังกล่าวยังไม่หยุดอยู่แค่ครัวเรือนไทย แต่ยังพบว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีก็เจอปัญหา “หนี้” ไม่ต่างกันจากเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวต่อเนื่อง
ขณะที่ ธนาคารอยู่ในโหมดระมัดระวังปล่อยกู้ และส่งสัญญาณระมัดระวัง และเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อต่อเนื่อง ส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อโดยรวมปรับตัวลดลง โดยเฉพาะที่ปล่อยให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี และเอสเอ็มอีที่เป็นนิติบุคคล โดยล่าสุด ณ สิ้นไตรมาส 2 ล่าสุด สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีติดลบที่ 8.5% มาอยู่ที่ 3.7 ล้านล้านบาท หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
ตัวที่สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของลูกหนี้ “เอสเอ็มอี” และเอสเอ็มอีที่เป็นนิติบุคคล ที่สะท้อนให้เห็นผ่าน “หนี้เสีย” หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ “เอ็นพีแอล” และหนี้ค้างชำระที่ไม่เกิน 90 วัน ที่พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
“เอสเอ็มอีนิติบุคคล” อ่วม “หนี้เสีย-มีปัญหา”
โดยปัจจุบันพบว่า เอสเอ็มอีนิติบุคคล ได้รับการอนุมัติสินเชื่อแล้ว 2.83 แสนราย บนการปล่อยสินเชื่อรวมที่ 3.7 ล้านล้านบาท ในนี้ เป็นหนี้เสียแล้ว 3.1 หมื่นราย คิดเป็นหนี้เสียราว 10.8% หากเทียบกับลูกหนี้เอสเอ็มอีนิติบุคคลทั้งระบบ และหากคิดเป็นยอดหนี้เสียทั้งหมดพบว่า อยู่ที่ 3 แสนล้านบาท คิดเป็นราว 8.1% ซึ่งเพิ่มขั้นต่อเนื่อง หากเทียบกับปีที่ผ่านมา
ไม่เพียงเท่านั้น ในด้านการค้างชำระหนี้ แต่ไม่เกิน 90 วัน หรืออยู่ในกลุ่ม SM พบว่า มียอดค้างชำระถึง 1.62 แสนล้านบาท จาก 3.7 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 4.4% ของสินเชื่อทั้งหมด
ดังนั้น หากดูเป็นรายธุรกิจที่ค้างชำระหนี้ และมีปัญหาชำระหนี้แล้วพบว่า มีถึง 3.4 หมื่นบริษัท ดังนั้น หากรวมทั้งสองกลุ่ม ที่กลายเป็นหนี้เสียแล้ว และมีปัญหาค้างชำระหนี้พบว่า มีถึง 6.5 หมื่นธุรกิจที่มีปัญหาชำระหนี้ และต้องเร่งเข้าไปช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนแล้ว
หากดูธุรกิจที่มีปัญหาพบว่า อยู่ใน 5 อุตสาหกรรมหลัก โดยเอสเอ็มอีที่เป็นนิติบุคคล และเป็นหนี้เสียพบมากที่สุดคือ ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก อุตสาหกรรมการผลิต ก่อสร้าง และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับภาคอสังหาริมทรัพย์
เช่นเดียวกัน “หนี้” ที่เริ่มเห็นการค้างชำระ ที่พบว่า ยังคงเป็นอุตสาหกรรมเดิม เช่น ขายส่งขายปลีก การผลิต ภาคอุตสาหกรรม และที่เกี่ยวเนื่องภาคอสังหาริมทรัพย์ หรือแม้กระทั่งธุรกิจโรงงาน และบริการด้านอาหารที่มียอดค้างชำระสูงขึ้น เหล่านี้สะท้อนผ่านยอดปิดโรงงานอุตสาหกรรม ปิดกิจการของภาคธุรกิจที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง
หนี้ครัวเรือนสัญญาณเปราะบางต่อเนื่อง
หากดูถึงภาพครัวเรือนไทย ที่ก่อนหน้านี้ส่งสัญญาณเปราะบางต่อเนื่อง ล่าสุด ความเปราะบางดังกล่าวยังคงอยู่ และยังคงมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากครัวเรือนไทย ที่ประสบปัญหาจากหนี้ครัวเรือนไทยที่อยู่ระดับสูง จนลามกระทบต่อยอดการชำระหนี้ลดลง จนเกิดหนี้เสีย และหนี้ค้างชำระจำนวนมาก โดยเฉพาะบัตรเครดิตที่พบว่า มีบัตรเปิดใช้งานอยู่ที่ 24.1 ล้านสัญญาหรือล้านใบ แต่มีบัญชีที่ตกเป็นหนี้เสียแล้ว 1.08 ล้านสัญญาหรือล้านใบ เติบโตขึ้นถึง 15% หากเทียบกับปีที่ผ่านมา
โดยมีบัญชีที่มียอดค้างชำระหรืออยู่ในกลุ่ม SM ถึง 1.93 แสนสัญญาหรือล้านใบ เติบโตขึ้น 21% หากเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งหากคิดเป็นยอดหนี้ทั้งหมดของบัตรเครดิตอยู่ที่ 6.8 หมื่นล้านบาท และยอดหนี้ในกลุ่ม SM อีก 1.16 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีจำนวนบัญชีที่เป็นหนี้เสียของสินเชื่อบุคคล หรือ Ploan ยังพบว่ามีอีก 5.07 ล้านบัญชี ส่งผลให้มีลูกหนี้จำนวนมาก ต้องขอเข้าโครงการ “คลินิกแก้หนี้” โดยสิ้นเดือนมิ.ย. มีลูกหนี้เข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ 1.32 แสนบัญชี คิดเป็นกว่า 4.76 หมื่นลูกหนี้ ที่ถูกส่งข้อมูลจากสมาชิกสถาบันการเงินที่ร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้กับ SAM
เหล่านี้สะท้อนหนี้เสียในภาพรวมของทั้งระบบภายใต้ข้อมูลเครดิตบูโรที่กลับมาอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.16 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นหนี้เสียที่ 8.5% และมี SM ทั้งหมดอยู่ที่ 5 แสนล้านบาท หรือ 3.7% ทั้งสองกลุ่มเป็นหนี้เสีย และค้างชำระทั้งสิ้น 12.2%
“กสิกรไทย” รับลูกค้าเอสเอ็มอีอ่วมค้างหนี้พุ่ง
นายชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK กล่าวว่า ยอมรับว่าปัจจุบันลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอีในพอร์ตของธนาคาร มีสัญญาณการค้างชำระหนี้ และเป็นหนี้เสียมากขึ้น ซึ่งใกล้เคียงกับภาพรวมในอุตสาหกรรมที่ออกมา เนื่องจากภาคธุรกิจเอสเอ็มอีเจอทั้งปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว และการแข่งขันที่เปลี่ยนไป ซึ่งกระทบทำให้ยอดขายในการดำเนินธุรกิจปรับลดลง ทำให้หนี้เสียของเอสเอ็มอีโดยรวมยังอยู่สูงกว่า หนี้เสียของแบงก์ที่ระดับ 3%
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธนาคารได้มีการเข้าไปเร่งช่วยเหลือลูกค้าเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเข้าไปช่วยปรับโครงสร้างหนี้ก่อนที่จะเป็นหนี้เสีย และหลังเป็นหนี้เสียไปแล้ว เพื่อให้ลูกค้าสามารถกลับมาฟื้นตัว และสามารถดำเนินธุรกิจต่อได้ในอนาคต
“ธุรกิจที่น่าห่วงตอนนี้เริ่มกระจายตัวทั้งอุตสาหกรรม เวลาเอสเอ็มอีมีปัญหาสภาพคล่องก็ลามไปสู่สินเชื่ออื่นๆ ให้มีปัญหาด้วย เช่น หนี้บัตร หนี้รถต่างๆ และอุตสาหกรรมที่น่าห่วงที่สุดอยู่ในกลุ่มเทรดดิ้ง (ซื้อมาขายไป) ที่เผชิญคู่แข่งค่อนข้างมาก ทำให้ในช่วงที่ผ่านมามีเอสเอ็มอีทีเจอปัญหามากขึ้น แต่ยังมองว่าสินเชื่อโดยรวมของเอสเอ็มอียังโตได้ ส่วนหนึ่งมาจากยอดคงค้างสินเชื่อที่ยังอยู่ระดับสูง เพราะเอสเอ็มอีไม่มีเงินชำระคืนหนี้เหมือนปีก่อนๆ ทำให้ยอดคงค้างหนี้โดยรวมยังเติบโตได้ทั้งจากหนี้เก่า และหนี้ใหม่ที่เข้ามาเติมในพอร์ตต่อเนื่อง”
ระมัดระวังปล่อยกู้เอสเอ็มอีต่อเนื่อง
นายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือ BBL กล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ภาพรวมของลูกหนี้ธุรกิจเอสเอ็มอีของธนาคารก็เจอปัญหามากขึ้น ทั้งจากปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และการเข้ามาแข่งขันตีตลาดของจีนมากขึ้น ทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีแข่งขันยากขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมหนี้เสียของพอร์ตมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้น ในส่วนของธนาคารก็ต้องเร่งเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าต่อเนื่อง และคงมาตรการ การปล่อยสินเชื่อภายใต้หลักระมัดระวังต่อเนื่อง
“ลูกหนี้ที่กลายเป็นหนี้เสีย หรือกลุ่ม SM ส่วนใหญ่ยังเป็นลูกค้าเดิม ที่เคยช่วยเหลือมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ตอนนี้ก็ยังไม่รอด ทำให้วันนี้ก็ยังต้องช่วยกันต่อเนื่อง”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์