ธปท. ชี้กลุ่มบ้านราคา5ล้าน -รายได้เกิน 3หมื่น ยอดปฎิเสธสินเชื่อพุ่ง

ธปท. ชี้กลุ่มบ้านราคา5ล้าน -รายได้เกิน 3หมื่น ยอดปฎิเสธสินเชื่อพุ่ง

ธปท. เผย “หนี้เสีย” ไตรมาส 2 ของระบบธนาคารพาณิชย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ห่วง “เอสเอ็มอี-รายย่อย” หนี้เสียพุ่ง โดยเฉพาะรายเล็กยอดขายไม่เกิน 50 ล้านบาท ยอดค้างหนี้พุ่ง รับความเสี่ยงลามกระทบกลุ่มรายได้เกิน 3 หมื่นบาท พบลูกค้าบ้านราคา 5 ล้านบาท พบ “แบงก์” ปฏิเสธสินเชื่อ

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า คุณภาพหนี้โดยรวม หรือ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล ของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2 ปี 2567 พบว่า หนี้เสียอยู่ที่ 2.62% ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า

แต่หากแยกดูคุณภาพหนี้รายสินเชื่อ พบว่า สินเชื่อธุรกิจ หนี้เสีย หรือ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.84% หรือ 5.40 แสนล้านบาท จาก 2.80% ส่วนหนี้เสียจากสินเชื่ออุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.13% จาก 2.95%

 

โดยเฉพาะสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่พบว่า “ด้อยลง” ทุกพอร์ตสินเชื่อ ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้เปราะบาง ที่เคยได้รับการช่วยเหลือมาก่อนแล้วในช่วงโควิด-19

และปัจจุบันยังไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไข รวมถึงกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวที่ทั่วถึง ส่งผลให้รายได้กลับมาช้า และยังพบว่าหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท

ยอดค้างชำระหนี้เพิ่มขึ้นทุกพอร์ตสินเชื่อ

สำหรับ สินเชื่อ Stage2 หรือ กลุ่ม SM ที่ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน เพิ่มขึ้นทุกพอร์ตสินเชื่อ โดยภาพรวม SM อยู่ที่ 6.50% เพิ่มขึ้นจาก 6.38% โดยสินเชื่อธุรกิจเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.80% จาก 5.74% และสินเชื่ออุปโภคบริโภคค้างชำระหนี้เพิ่มขึ้นสูง โดยรวมอยู่ที่ 7.60% จาก 7.34%

การค้างชำระหนี้สำหรับกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ ส่วนใหญ่มาจากการจัดชั้นเชิงคุณภาพ แม้โดยรวมธุรกิจจะยังสามารถชำระหนี้ได้ แต่จากผลประกอบการที่แย่ลง หรือขาดทุน ทำให้ธนาคารปรับความเสี่ยงของลูกหนี้เพิ่มขึ้น และจัดให้อยู่ในกลุ่มที่ต้องจับตามากขึ้น

ส่วน SM ในหนี้อุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้น มาจากลูกหนี้ที่เคยอยู่ในมาตรการช่วยเหลือมาแล้ว แต่จากการปรับดอกเบี้ย หรือเข้าสู่การชำระหนี้ปกติ ทำให้ลูกหนี้บางส่วนไม่สามารถชำระหนี้ได้ จึงถูกจัดชั้นเชิงคุณภาพเช่นเดียวกัน

สำหรับหนี้ค้างชำระในกลุ่ม SM มองว่า กลุ่มนี้อาจไม่ได้ไปเป็นหนี้เสียทั้งหมด โดยหากดูสินเชื่อบ้านพบว่าโอกาสกลับไปเป็นหนี้เสียอยู่ที่ 18% ซึ่งต่ำกว่าในอดีต เช่นเดียวกับสินเชื่อรถ ที่โอกาสการกลับไปเป็นหนี้เสียต่ำลงเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้หากดูทิศทางราคารถในปัจจุบันเริ่มลดลง และทรงตัวได้หากเทียบกับอดีต หรือช่วงกลางปี 2566 ที่ราคารถยนต์มือสองปรับตัวลงแรง ซึ่งเป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้แบงก์เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากหากมีการยึดรถมีโอกาสขาดทุนค่อนข้างสูง และพบว่ากลุ่มที่เป็นหนี้เสียหรือค้างชำระเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทเช่นเดียวกัน

ในส่วนสินเชื่อเอ็มอี ถือเป็นกลุ่มที่ธปท. ห่วง และจับตามากขึ้น โดยเฉพาะเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ที่มียอดขายต่ำกว่า 50 ล้านบาท และรายจิ๋ว ที่ยอดขายต่ำกว่า 5 ล้านบาท ที่การเข้าถึงสินเชื่อจำกัดมากขึ้น ทำให้บางส่วนหันไปใช้สินเชื่ออุปโภคบริโภค เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคลเพื่อสร้างสภาพคล่อง ทำให้ภาพรวมเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะรายจิ๋ว หรือเอสเอ็มอีที่เป็นนิติบุคคลที่เหล่าสายป่านค่อนข้างสั้นและเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้าง

“การค้างชำระหนี้ ทั้งเอสเอ็มอี และรายใหญ่ ส่วนใหญ่มาจากลูกหนี้ที่เครดิตหรือความเสี่ยงมากขึ้น อาจไม่ค้างชำระ แต่แบงก์มองว่ามีความเสี่ยงมากขึ้นจึงจัดชั้นกับลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจริงๆ ซึ่งไม่ใช่รายเดียว ที่เป็นรายใหญ่ที่ปัญหานี้ ก็มีหลายแห่งที่แบงก์จัดให้อยู่ในกลุ่ม SM”

รับความเสี่ยงลามกระทบบ้านราคา 5 ล้านบาท

สำหรับสินเชื่อบ้านเริ่มเห็นสัญญาณผิดนัดชำระหนี้ และขอสินเชื่อไม่ผ่านมากขึ้น จากเดิมที่กลุ่มที่มีปัญหาการชำระหนี้ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มที่มีรายได้น้อยกว่า 3 หมื่นบาท แต่ปัจจุบันเริ่มเห็นว่าขยับขึ้นไปกลุ่มที่มีรายได้มากกว่า 3 หมื่นบาท หรือราคาบ้านไม่เกิน 5 ล้านบาท

“เราขยับความเป็นห่วงมากขึ้นในกลุ่มรายได้เกิน 3 หมื่นบาทหรือบ้านราคา 5 ล้านบาท ปกติแบงก์รัฐกับแบงก์เอกชนจะเลือกเจาะกลุ่มเป้าหมายต่างกันอยู่แล้ว เอกชนก็เจาะรายได้เกิน 3 หมื่นดังนั้นปัญหาช่วงต้นมาจากกลุ่มผู้มีรายได้น้อย แต่ตอนนี้ปัญหาเริ่มขยับเพิ่มขึ้นมาอีกนิดหนึ่งในสินเชื่อบ้าน และพบว่าบางแห่งมีการปรับเครดิตก่อนในการอนุมัติสินเชื่อบ้านเพิ่มขึ้นกับคนที่มีรายได้สูงเกิน 3 หมื่นบาท”

สำหรับแนวโน้มหนี้เสีย มองว่าวันนี้มีหลุมรายใหญ่ หรือภูเขาหนี้ค่อนข้างมาก จากการฟื้นตัวไม่เท่าเทียม รายได้ไม่เพียงพอรายจ่าย มีรายได้ไม่เท่ากับภาระหนี้ที่ต้องจ่าย ดังนั้นมองไปข้างหน้าหนี้เสียยังมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่ายังสามารถบริหารจัดการได้ และไม่เกิดการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด (NPL Cliff)

เอสเอ็มอี-รายย่อยสินเชื่อหดตัวแรง

สำหรับ ภาพรวมสินเชื่อโดยรวม ชะลอตัวลงที่ 0.3% จากไตรมาสก่อนหน้าที่ 1.3% หลักๆ มาจากสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่หดตัวลง โดยขยายตัวเพียง 0.74% จากความเสี่ยงด้านเครดิตที่ชะลอตัวลง ขณะที่ภาคธุรกิจสินเชื่อหดตัวที่ 0.5% จาก 0.4%ไตรมาสก่อนหน้า โดยภาคที่สินเชื่อชะลอตัวค่อนข้างมากคือ ภาคอุตสาหกรรม ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ 

ส่วนสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ ที่มีวงเงินเกิน 500 ล้านบาท ยังขยายตัวได้ที่ 2% ซึ่งลดลงจาก 3.4% จากบริษัทในกลุ่มโฮลดิ้งทียังเติบโตได้ และภาคบริการที่พักแรม สื่อสาร อสังหาฯ ที่ยังขยายตัวได้ ส่วนสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีหดตัวลงมาอยู่ที่ 5.4% จาก 5.3% จากธุรกิจค้าส่งค้าปลีก อุตสาหกรรมยานยนต์

ด้านสินเชื่อรายย่อย ชะลอตัวชัดเจน โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อ หดตัว 4.8% จาก 1.5% และสินเชื่อส่วนบุคคลชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 5.8% จาก 7.3% สินเชื่อบัตรเครดิต หดตัว 0.2% จาก 1.4% และสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ลดลงมาอยู่ที่ 0.8% จาก 1.0%

โดยสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่หดตัวลงมาคือ สินเชื่อเช่าซื้อรถ และสินเชื่อบ้าน ทั้งจากพฤติกรรมที่เน้นเช่ารถแทนการซื้อมากขึ้น และสินเชื่อที่หดตัวในกลุ่มสินเชื่อบ้าน โดยเฉพาะบ้านแนวราบต่ำกว่า 5 ล้านบาท โดยยังคงเห็นสถาบันการเงินเข้มงวดมากขึ้นในการอนุมัติสินเชื่อ จากความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงขึ้น

นักลงทุนชะลอลงทุนตราสารหนี้

สำหรับภาพรวมตลาดตราสารหนี้ โดยรวมหดตัว -0.5% โดยพบว่าในประเภทธุรกิจ มีการชะลอระดมทุนผ่านตราสารหนี้ จากก่อนหน้าที่เร่งระดมทุนไปแล้ว บวกกับการที่นักลงทุนมีการชะลอการลงทุนจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น จากหุ้นกู้บางบริษัทที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่ยังเห็นตราสารหนี้ยังขยายตัวในบางกลุ่ม อาทิ กลุ่มสาธารณูปโภค อุตสาหกรรม อสังหาฯที่ยังขยายตัวได้

ส่วนข้อเสนอของสภาพัฒน์ ในการให้แฮร์คัทหนี้ เฉพาะกลุ่มนั้นส่วนนี้ ต้องดูรายละเอียดอีกครั้งเมื่อเรื่องดังกล่าวมีความชัดเจน ทั้งนี้มองว่า หลักการของการแก้หนี้ครัวเรือนสิ่งที่ ธปท. กังวลคือ การทำมาตรการต่างๆ ต้องสามารถป้องกัน Moral Hazard หรือการจงใจผิดนัดชำระหนี้ และทำให้คนที่เป็นหนี้ดีกลายเป็นหนี้เสีย และมองว่าการทำมาตรการต่างๆ ต้องไม่ไปลดโอกาสของลูกหนี้ที่จะเข้าถึงสินเชื่อในอนาคต

‘ส.อ.ท.’ชี้หนี้เสียรถยนต์ 2.5 แสนล้าน

ด้านนายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าการผลิตรถยนต์เดือน ก.ค. 2567 มีทั้งสิ้น 124,829 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อน 16.62% จากการผลิตขายในประเทศลดลง 40.85% ตามยอดขายในประเทศที่ลดลงจากการเข้มงวดสินเชื่อ

เพราะหนี้ครัวเรือนสูงและเศรษฐกิจอ่อนแอ แต่เพิ่มขึ้นจากเดือน มิ.ย. ปีเดียวกัน  7.34% ขณะที่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เดือน ก.ค. 552 คัน เพิ่มขึ้น 18,300% 

ยอดผลิตสะสม 7 เดือน 886,069 คัน ลดลง 17.28% 

การผลิตเพื่อส่งออกเดือน ก.ค. 87,538 คัน เท่ากับ 70.13% ของยอดผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้น 1.01% ส่วนยอดสะสม 7 เดือน 603,721 คัน เท่ากับ 68.13% ของการผลิตทั้งหมด ลดลง 2.20%

สำหรับการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเดือนก.ค. 37,291 คัน ลดลงจากเดือน 40.85%  สะสม 7 เดือน 282,348 คัน ลดลง 37.80% ยอดขายในประเทศเดือน ก.ค. 46,394 คัน ลดลง 20.58% และหากเทียบกับเดือน มิ.ย.ปีนี้ ลดลง 2.66% ซึ่งเกิดจากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อโดยเฉพาะรถกระบะและรถบรรทุกจากความกังวลเรื่องหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 91% ของ GDP และเศรษฐกิจที่เติบโตต่ำในอัตรา 1.5% ในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 จากงบประมาณรายจ่ายปีที่ล่าช้า

สำหรับมูลค่าการส่งออกรถยนต์เดือน ก.ค. 56,397.87 ล้านบาท ลดลงจากเดือน ก.ค. 2566 ที่ 16.56%

หวังรัฐบาลฟอร์มทีมใหม่โดยเร็วฟื้นเศรษฐกิจ

“ยอมรับว่าตอนนี้ยังกังวลในเรื่องของการปล่อยสินเชื่อมากที่สุด เพราะสถาบันทางการเงิน ยังคงมีความเข้มงวดในเรื่องของหนี้เสีย โดยหนี้เสียสะสมกลุ่มยานยนต์ ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2567 อยู่ที่ 2.5 แสนล้านบาท ถือว่าโตกว่าปีที่ผ่านมา 29.7% ที่มียอดสะสมที่ 1.9 แสนล้านบาท แม้ว่ายอดการเป็นหนี้ลดลง เพราะมาจากการปล่อยสินเชื่อที่ลดลง”

ทั้งนี้ หวังว่ารัฐบาลใหม่จะสามารถจัดตั้งได้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อเร่งบริหารจัดการงบประมาณปี 2567-2568 ได้ทันในเดือน ต.ค. 2567 นี้ เพื่อให้เกิดการลงทุนมากขึ้น กระตุ้นเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงาน เพิ่มกำลังซื้อ มีเงินหมุนเวียนมากขึ้น โดย ส.อ.ท. กลุ่มยานยนต์ยังคงจับตานโยบายที่รัฐบาลใหม่ โดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะแถลงภายหลังจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) สำเร็จ

“อีกปัจจัยรองจากการปล่อยสินเชื่อ คือ สถานการณ์น้ำท่วมว่าจะนานแค่ไหน อีกทั้งข้อมูลการท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 2567 นี้ น่าจะเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี รวมถึงภาคอุตสาหกรรมที่มีการเติบโต แม้จะโตระดับ 2% แต่ยังอยู่ในระดับต่ำ” นายสุรพงษ์ กล่าว