ค่าเงินบาทวันนี้ 29 ส.ค.67 ‘อ่อนค่า‘ ตามเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น

ค่าเงินบาทวันนี้ 29 ส.ค.67 ‘อ่อนค่า‘  ตามเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น

ค่าเงินบาทวันนี้ 29 ส.ค.67 เปิดตลาด “อ่อนค่า“ ที่ 34.04 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังบรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงปิดรับความเสี่ยง ก่อนตลาดรับรู้รายงานผลประกอบการของหุ้นเทคฯ ใหญ่ มองกรอบเงินบาทวันนี้ 33.90-34.10 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้" ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  34.04 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.99 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.90-34.10 บาทต่อดอลลาร์  

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงเล็กน้อย ในลักษณะ sideways up (แกว่งตัวในกรอบ 33.98-34.11 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากจังหวะแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ซึ่งในช่วงคืนที่ผ่านมาเงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง หลังบรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ก่อนตลาดรับรู้รายงานผลประกอบการของหุ้นเทคฯ ใหญ่ Nvidia 

ค่าเงินบาทวันนี้ 29 ส.ค.67 ‘อ่อนค่า‘  ตามเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น

นอกจากนี้ เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ในจังหวะย่อตัวลง หลังทั้งราคาทองคำและราคาน้ำมันดิบต่างก็มีจังหวะปรับตัวลดลงในช่วงคืนที่ผ่านมา 

ด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย โดยเงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ตามภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ แต่เงินดอลลาร์ก็ยังขาดปัจจัยหนุนเพิ่มเติมในการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย สู่ระดับ 101 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 100.8-101.2 จุด) อนึ่ง เราประเมินว่า เงินดอลลาร์ก็อาจแกว่งตัวไร้ทิศทางที่ชัดเจน ก่อนที่ตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้า ในส่วนของราคาทองคำ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) เคลื่อนไหวผันผวนไปตามทิศทางเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในช่วงคืนที่ผ่านมา โดยมีจังหวะย่อตัวลงเข้าใกล้ระดับ 2,530 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่ราคาทองคำจะทยอยปรับตัวขึ้นบ้างเข้าใกล้โซน 2,550 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานคาดการณ์ครั้งที่ 2 ของอัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาส 2 รวมถึง รายงานข้อมูลยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB รวมถึง รายงานข้อมูลเศรษฐกิจของยูโรโซน อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) เดือนสิงหาคม และอัตราเงินเฟ้อ CPI ของเยอรมนี ในเดือนสิงหาคม 

แนวโน้มค่าเงินบาท

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทอาจผ่านจุดแข็งค่าสุดในระยะสั้นไปแล้ว อย่างไรก็ดี เงินบาทก็อาจยังคงแกว่งตัว sideways แถวโซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยในช่วงระหว่างวันต้องจับตาว่า ตลาดหุ้นฝั่งเอเชียจะตอบรับกับผลประกอบการของ Nvidia ในช่วงคืนที่ผ่านมาอย่างไร เพราะหากบรรยากาศในตลาดการเงินฝั่งเอเชีย เผชิญแรงกดดันจากแรงขายหุ้นธีม AI/Semiconductor เหมือนในฝั่งสหรัฐฯ ก็อาจส่งผลกระทบต่อบรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชียได้เช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงนี้ ที่ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เงินหยวนจีน (CNY) มีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง อย่างไรก็ดี ในฝั่งตลาดการเงินไทย ก็อาจได้รับผลกระทบจากภาพดังกล่าวไม่มากนัก เนื่องจาก หุ้นธีม AI/Semiconductor มีสัดส่วนไม่มาก ในตลาดหุ้นไทย 

อนึ่ง แม้ว่าเงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าบ้าง แต่เราคงมองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัด จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ซึ่งอาจต้องรอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้า ทำให้เงินบาทอาจติดอยู่แถวโซนแนวต้านแรกแถว 34.05-34.10 บาทต่อดอลลาร์ และจะมีโซนแนวต้านถัดไปแถว 34.20 ขณะที่โซนแนวรับของเงินบาทดูจะอยู่ในช่วง 33.90 บาทต่อดอลลาร์ และมีแนวรับถัดไปแถว 33.75-33.80 บาทต่อดอลลาร์

เรายังคงมองว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ การปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

บรรดาผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าขายบรรดาหุ้นธีม AI/Semiconductor ก่อนที่จะรับรู้รายงานผลประกอบการของ Nvidia -2.1% (ซึ่งก็ออกมาดีกว่าคาด ทว่าคาดการณ์ผลประกอบการอาจไม่ได้ดีกว่าคาดไปมากนัก ทำให้ราคาหุ้น Nvidia ดิ่งลงกว่า -6.9% หลังตลาดรับรู้รายงานผลประกอบการ) อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนบ้าง จากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มการเงินและกลุ่ม Healthcae ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลง -1.12% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.60%  

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.33% โดยตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในช่วงนี้ที่ยังคงออกมาสดใส อีกทั้งหลายบริษัทก็มีการประกาศโครงการซื้อหุ้นคืน อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปถูกกดดันบ้าง จากการปรับตัวลดลงของหุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มเหมืองแร่ หลังราคาน้ำมันดิบและราคาแร่โลหะต่างปรับตัวลดลงในช่วงนี้ 

ในส่วนตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ โดยรวมแกว่งตัวในกรอบ sideways แถวระดับ 3.83% โดยผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตาปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ทั้งรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟด โดยเราย้ำมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจมีทิศทางการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะปรับตัวขึ้นหรือลงจนหลุดกรอบ 3.80%-4.00% หลังตลาดรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะสะท้อนว่า เฟดจำเป็นต้องเร่งลดดอกเบี้ย -50bps ในการประชุมเดือนกันยายน หรือ การประชุมครั้งถัดๆ ไป หรือไม่ ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า จังหวะในการเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวที่ดี คือ เน้นรอ Buy on Dip ในช่วงที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น มากกว่าที่จะไล่ซื้อในช่วงที่บอนด์ยีลด์ได้ปรับตัวลดลง รับรู้มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายไปมากแล้ว