ทองคำไปต่อ สิ้นปีลุ้นแตะไฮใหม่ 2,650 ดอลลาร์

ทองคำไปต่อ สิ้นปีลุ้นแตะไฮใหม่ 2,650 ดอลลาร์

YLG มองทองคำไปต่อ สิ้นปีลุ้นแตะไฮใหม่ 2,650 ดอลลาร์ แม้ในเดือนกันยายน ทองคำจะมีสถิติที่ไม่ค่อยดี ด้านทองแท่งในประเทศลุ้นเป้าหมาย 43,000 บาท

วายแอลจีชี้ แม้ในเดือนกันยายน ทองคำจะมีสถิติที่ไม่ค่อยดี แต่ในปีนี้จะมีแรงสนับสนุนที่เพิ่มเข้ามา คือการเริ่มต้นวงจรดอกเบี้ยขาลงของเฟด คาดหากลด 0.50% มีลุ้นเห็นทองคำทำสถิติใหม่อีกครั้ง คาดหากผ่าน 2,550 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ มีโอกาสเห็นพุ่งแตะ 2,650 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ นอกจากนี้ ธนาคารกลางทั่วโลกยังซื้อทองคำต่อเนื่อง ล่าสุดครึ่งปีซื้อ 483 ตัน สูงกว่าครึ่งปีก่อน อีกทั้ง ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์โลกยังน่ากังวลและยืดเยื้อ  ด้านทองไทยมีแรงกดดันจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า มองเป้าหมายปีนี้ที่ 43,000 บาทต่อบาททองคำ

นางสาวฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG) ตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในตลาดล่วงหน้า (ฟิวเจอร์ส)  เปิดเผยว่า จากสถิติแล้วภาพรวมการเคลื่อนไหวของราคาทองคำในเดือนกันยายน ไม่ค่อยสดใสมากนัก โดยหากย้อนดูเดือนกันยายน ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา จะเกิดการปรับฐานโดยเฉลี่ยราว 2-3%  แต่อย่างไรก็ตาม ในปีนี้มีหลายปัจจัยที่อาจทำให้ทองคำปรับฐานลงไปไม่ลึกเท่าสถิติที่ผ่านมา หรือมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ต่อเนื่องจนทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง หากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทำการปรับลดดอกเบี้ยลงถึง 0.50% ซึ่งเป็นปัจจัยที่ยังต้องรอลุ้น  หรือกรณีที่เฟดปรับลดดอกเบี้ยเพียง 0.25% ทองคำก็อาจถูกแรงขายทำกำไรในช่วงสั้นได้ แต่มองยังจำกัด เนื่องจากยังมีปัจจัยสนับสนุนในด้านอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

ราคาทองคำยังคงมีมุมมองเชิงบวกอยู่ โดยมองว่าหากผ่าน 2,550 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ไปได้ ก็จะไปที่เป้าหมายถัดไป 2,650 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ เพราะนอกจากเรื่องดอกเบี้ยนโยบายเฟดแล้ว ยังมีปัจจัยพื้นฐานในด้านอื่นๆ ที่ช่วยสนับสนุนราคา โดยเฉพาะความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงยืดเยื้อ จะยังเป็นปัจจัยที่สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนให้ยังคงต้องการถือครองทองคำไว้ในพอร์ตการลงทุนไว้ อย่างน้อย 5-10% ของพอร์ตการลงทุนรวม หรือพอร์ตที่ความเสี่ยงที่สูงก็ควรถือเพิ่มขึ้นมาได้ถึง 15%  

นอกจากนี้ ในระยะยาวยังมีปัจจัยสนับสนุนจาก การเข้าซื้ออย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางทั่วโลก สะท้อนผ่านข้อมูลจากสภาทองคำโลก ที่ได้รายงานตัวเลขการเข้าซื้อทองคำในครึ่งแรกของปี 2567 อยู่ที่ 483 ตัน ซึ่งถือเป็นปริมาณการเข้าซื้อในครึ่งปีแรกที่สูงที่สุดนับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลมา แสดงให้เห็นว่าทองคำยังมีความต้องการที่แข็งแกร่ง  และรวมไปถึง กองทุน ETF ทองคำ ที่เริ่มเห็นเงินทุนไหลเข้าอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกัน ราคาทองคำในประเทศนั้น ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับราคาทองคำในตลาดโลก แม้ว่าจะปรับขึ้นในอัตราที่น้อยกว่าเนื่องจากได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า  อย่างไรก็ดีมองว่า หากราคาทองคำตลาดโลกปรับตัวขึ้นสู่กรอบเป้าหมาย 2,650 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์  เป้าหมายถัดไปของราคาทองคำแท่งในประเทศจะอยู่ที่ 42,850-43,000 บาทต่อบาททองคำ  (คำนวณด้วยอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ย 1 สัปดาห์ ที่ระดับ 34.10 บาทต่อดอลลาร์)  

ส่วนในระยะสั้นที่ราคาทองคำปรับตัวลดลงเพื่อรอความชัดเจนของเฟดนั้น แนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการเก็งกำไร ให้รอการย่อตัวสร้างฐานแล้วทำการเข้าซื้อเล่นสั้น โดยมีแนวรับที่ 2,484-2,465 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์  ส่วนแนวต้านมองที่ 2,532-2,550 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์  ส่วนทองคำในประเทศมองแนวรับที่ 40,350-40,050 บาทต่อบาททองคำ  ส่วนแนวต้านมองที่ 41,100-41,400 บาทต่อบาททองคำ

นอกจากนี้ วายแอลจีมองว่าการลงทุนสะสมแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน (DCA) เป็นอีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจ เพราะจะทำให้นักลงทุนสามารถสร้างวินัยการออม และเข้าถึงราคาทองได้หลากหลาย อีกทั้งปัจจุบันยังสามารถตั้งเวลาซื้อล่วงหน้าได้อีกด้วย