CHAYO-BAM รับทรัพย์อื้อ แบงก์แห่ขาย ‘หนี้เสีย‘ทอดตลาดทุบสถิติ 4 แสนล้าน
เอเอ็มซี” รับซื้อหนี้เสีย “คึกคัก” หลัง “ธนาคาร” แห่ขาย “เอ็นพีแอล” ทะลัก ล่าสุด “ชโย”ชี้แบงก์ “ขายหนี้” ทอดตลาดพุ่ง 4 แสนล้าน ทุบสถิติในรอบหลายปี “หนี้บ้าน” ถูกนำมาขายทอดตลาดพุ่ง 50% “บสก.” ล่าสุดซื้อหนี้มาบริหารแล้ว 70% ของเป้าทั้งปี คาดสิ้นปีเข้าเป้า “หมื่นล้าน”
ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว หนี้ครัวเรือนสูงต่อเนื่อง ล่าสุดกว่า 16 ล้านล้านบาทต่อจีดีพี ซึ่งหนี้เสียในระบบปรับตัวเพิ่มต่อเนื่อง ทั้งหนี้รถ หนี้บ้าน หนี้เอสเอ็มอี ที่ถูกดำเนินคดียึดบ้านและรถให้เห็นต่อเนื่อง จนกลายเป็นวาระเร่งด่วนที่รัฐต้องเร่งผลักดันช่วยเหลือระยะข้างหน้า ให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ แก้หนี้ทั้งระบบ เพื่อให้ลูกหนี้หลุดจากบ่วงหนี้ และสามารถฟื้นกลับมาดำเนินชีวิตได้ปกติมากขึ้น
นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป หรือ CHAYO กล่าวว่า ยอมรับว่าปัจจุบัน ภายใต้สถานการณ์ยึดรถ ยึดบ้าน หนี้เสียท่วมตลาดทำให้สถาบันการเงินมีการนำ “หนี้เสีย” หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ออกมาขายทอดตลาดมากขึ้น ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันมีแบงก์ยื่นจดหมายให้บริษัทเข้าประมูลหนี้เสียแล้วกว่า 4 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่วิกฤติในอดีต
เนื่องจาก หนี้ในตลาดที่มีอยู่สูง ทำให้การรับซื้อหนี้ ซื้อได้ถูกลง โดยเฉพาะสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันที่ต้นทุนอยู่ที่ราว 6% หากเทียบกับมูลหนี้ 100 บาท ซึ่งต่ำกว่าอดีตที่เคยซื้ออยู่ที่กว่า 10% ของมูลหนี้ทั้งหมด โดยหนี้ที่แบงก์ลดราคา หรือ Discount เนื่องจากต้องการระบายหนี้ออกจากระบบโดยเร็ว เนื่องจากมีต้นทุนในการบริหารจัดการ และการติดตามหนี้ค่อนข้างสูง
ปัจจุบันมีหนี้ที่ประมูลไปแล้ว 3 แสนล้านบาทในครึ่งปีแรก และมีหนี้ที่อยู่ระหว่างประมูลจนถึงสิ้นปีอีก 8 หมื่นล้านบาท ที่คาดจะทราบผลประมูลปีนี้
ส่วนบริษัทมีการเข้าประมูลหนี้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งปัจจุบันได้ซื้อหนี้มาบริหารแล้วเกือบ 4 พันล้านบาท ดังนั้นคาดหลังจากนี้จะทยอยเห็นการรับซื้อหนี้เข้ามาต่อเนื่อง ตามเป้าหมายของบริษัทที่ต้องการซื้อหนี้มาบริหารที่ 1 หมื่นล้านบาท
“ตอนนี้ซัพพลายเยอะ แต่คนมาซื้อน้อย หนี้ออกมาตอนนี้ 4 แสนล้าน ที่ยื่นให้เราเข้าประมูลสูงมากหากเทียบกับช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะแบงก์ก็ต้องเร่งระบายหนี้เสียออกมา ซึ่งเราก็เข้าไปประมูลต่อเนื่อง แต่เราเน้นสินเชื่อไม่มีหลักประกัน เพราะไม่ต้องใช้เงินเยอะ และกระแสเงินสดเข้ามาได้เร็วกว่า”
สำหรับประเภทหนี้ที่แบงก์มีการนำออกมาประมูล พบใน 4 แสนล้านบาท เป็นหนี้รถราว 20-30% เป็นหนี้บ้านอีก 50% ส่วนที่เหลือเป็นหนี้เครดิตการ์ด สินเชื่อส่วนบุคคลต่างๆ
ซึ่งปัจจุบันมีหนี้ที่อยู่ภายใต้การบริหารกว่า 1 แสนล้านบาท ในนี้เป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน 7.5 หมื่นล้านบาท และหนี้มีหลักประกัน 2.5 หมื่นล้านบาท
นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ หรือ BAM กล่าวว่า ปัจจุบันเห็นแบงก์นำหนี้เสียออกมาขายต่อเนื่อง โดยที่ยื่นหนังสือให้บริษัทเข้าประมูลแล้วราว 1แสนล้านบาท
โดยยอมรับว่ามีบางส่วนที่ไม่ได้นำหนี้เสียออกมาเนื่องจาก หนี้ขายยากมากขึ้น เพราะผู้ซื้อเลือกหนี้มากขึ้น ภายใต้หนี้ที่ออกมาขายท่วมตลาด ซึ่งในส่วนของบริษัทปัจจุบัน ซื้อหนี้เข้ามาบริหารแล้วเกือบ 70% จากเป้าหมายที่ตั้งเป้าเข้าไปซื้อหนี้เสียมาบริหารที่ 1 หมื่นล้านบาท
“ยอมรับว่า ตอนนี้หลายแบงก์ก็กลับไปทบทวนในการขายมากขึ้น ทำให้ในครึ่งปีหลังทรัพย์น้อยลง เพราะคนซื้อเลือกทรัพย์มากขึ้น แบงก์ก็ไม่อยากขายเพราะกลัวกดราคา ในขณะที่เราซื้อหนี้มาบริหารแล้วกว่า 70% ซึ่งปีนี้น่าจะเข้าเป้าที่ตั้งไว้1หมื่นล้านบาท แม้จะมีทรัพย์เข้ามาเยอะ แต่บริษัทก็ซื้อเข้ามาพอประมาณไม่ได้สูงมาก เนื่องจากต้องบริหารจัดการทั้งต้นทุน และการติดตามหนี้ต่างๆด้วย”
สำหรับ กรณีที่ล่าสุด ธนาคารกสิกรไทย ประกาศให้บริษัทลูกคือ กสิกรวิชั่น จำกัด (KVISION) ร่วมทุนกับบริษัทเพื่อจัดตั้งบริษัท JVAMC ในการเข้ามาจัดการบริหารสินทรัพย์ ภายใต้มาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดตั้งบริษัทร่วมกัน ซึ่งธนาคารกสิกรไทยระบุว่า KVISION ถือหุ้น 50% โดยมีทุนจดทะเบียนเบื้องต้น 25,000,000 บาท
โดยคาดว่าจัดตั้งบริษัทจะเสร็จสิ้นได้ภายในปลายปีนี้ ตามกรอบเป้าหมายของธปท. ที่กำหนดให้การจัดตั้ง JVAMC ต้องแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้