EIC หวั่นเศรษฐกิจไทย เผชิญ Hard Landing ฉุดจีดีพีดิ่งเหลือ 1.9%
‘อีไอซี’ ห่วงเศรษฐกิจไทยโตต่ำต่อเนื่อง ล่าสุดปรับลดศักยภาพเศรษฐกิจไทยเหลือเพียง 2.7% จากเกิน 3% หลังขาดโมเมนตัมหนุนเศรษฐกิจไทย เครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยชะลอตัว จับตาไทยเผชิญกับ Hard Landing จาก 3 ปัจจัย ฉุดจีดีพีดิ่งเหลือ 1.9%
นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) กล่าวว่า EIC กล่าวว่า หากดูภาพเศรษฐกิจไทยปัจจุบันถือว่าฟื้นตัวช้ากว่าในอดีตมาก หากเทียบกับ การขยายตัวของจีดีพีเมื่อ 20 ปีก่อนที่ยังสามารถเติบโตได้ แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยค่อยๆ ชะลอตัวลงต่อเนื่อง ต่ำกว่าการขยายตัวของโลกไปแล้ว
อีกทั้งการขยายตัวต่ำของเศรษฐกิจไทยต่อเนื่อง ยังฉุดรั้ง “ศักยภาพ” เศรษฐกิจไทยในระยะกลางระยะยาวให้เหลือเพียง 2.7% เท่านั้น จากศักยภาพเศรษฐกิจไทยที่เคยอยู่ที่ระดับ 3%
ดังนั้นภาพนี้น่าห่วงมากขึ้นเรื่อยๆ การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ต่ำลง ไม่เฉพาะมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้างเท่านั้น ยังมาจากปัจจัยเชิงวัฏจักรด้วยที่ฉุดรั้งการเติบโตเศรษฐกิจไทยให้หมุนต่ำลงต่อเนื่อง
ทั้งนี้มองว่า เศรษฐกิจไทยมีโอกาสเกิดเผชิญกับการชะลอตัวหนักของเศรษฐกิจไทย หรือ Hard landing ได้ หากเผชิญกับ 3 ปัจจัยสำคัญ
ปัจจัยแรก เศรษฐกิจโลกเจอเศรษฐกิจถดถอย จากนโยบายการเงินลดความตึงตัวได้ช้า ซึ่งส่งผลให้ส่งออก และการลงทุนต่างๆ ไม่กลับมาฟื้นตัว
ปัจจัยที่สอง การเมืองไม่มีเสถียรภาพ แรงกระตุ้นภาคการคลังไม่ต่อเนื่อง ขาดนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ งบประมาณเบิกจ่ายล่าช้า
สุดท้าย ภาคการเงินตึงตัวสูง จากการเข้าถึงสินเชื่อได้ยาก กระทบภาคเศรษฐกิจจริงแรงขึ้นอีก กระทบต่อการบริโภคให้ชะลอตัวลงมาก การลงทุนซบเซา และต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะเห็นการฟื้นตัว
แม้กรณีดังกล่าว EIC มองว่าโอกาสที่เศรษฐกิจจะเผชิญกับ Hard landing จะมีต่ำกว่า 50% แต่หากเกิดขึ้นจะเป็นฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยให้ชะลอตัวรุนแรง เหลือเพียง 1.9% ทำให้มีความจำเป็นที่ต้องลดดอกเบี้ยลงมาเหลือ 1.5% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ทั้งนี้มองว่า ปัญหาเร่งด่วน และต้องเร่งแก้ปัญหาเร่งด่วน ที่น่าห่วงที่สุดคือ ปัญหาหนี้ ที่ปัจจุบันเผชิญกับโจทย์ยากกว่าในอดีตค่อนข้างมาก และอาจต้องใช้เวลากว่า 10 ปีถึงจะแก้ปัญหาหนี้ที่เผชิญในปัจจุบันได้ เพราะปัญหาหนี้วันนี้แตกต่างกับอดีต มีหนี้ที่มาจาก “บุคคล” ของคนจำนวนมากกว่า 1 ล้านคนที่มีปัญหาหนี้
ต่างกับอดีตที่ปัญหาหนี้ที่เผชิญในวิกฤติต้มยำกุ้งมาจากภาคธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ ที่มีจำนวนที่มีปัญหาเพียงหลัก 100 ราย ดังนั้นการแก้ไขปัญหาหนี้ยากกว่าอดีตมาก
ผนวกกับเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัว ยังส่งผลให้เห็นแนวโน้มหนี้เสีย หรือคุณภาพหนี้มีแนวโน้มแย่ลงต่อเนื่อง ทำให้สัญญาณการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท และกลุ่มที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้มากกว่ากลุ่มอื่นๆ ดังนั้นการเข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทย มองว่าที่เร่งด่วนคือ การแก้ปัญหาหนี้ เพื่อให้คนสามารถกลับมาดำรงชีพได้
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์