‘เศรษฐพุฒิ’ ชี้ เศรษฐกิจไทยไม่ควรล่า ‘จีดีพี’ ต้องล่าความมั่งคั่งครัวเรือน
“เศรษฐพุฒิ” ผู้ว่าฯ ธปท.ชี้ การเติบโตเศรษฐกิจไทย ไม่ควร “ ล่า ” จีดีพี ” แต่ควรสะท้อนความมั่งคั่งของครัวเรือน ย้ำต้องสร้างการเติบโตจากภายใน ชู “Localism” พลังการเติบโตใหม่ของไทย ย้ำการเติบโตจากท้องถิ่นคือ กุญแจสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา "Big Heart Big Impact สร้างโอกาสคนตัวเล็ก..Power of Partnership จับมือไว้ไปด้วยกัน" ที่จัดโดยสำนักข่าว Thaipublica ในหัวข้อ "สร้างไทยเข้มแข็งด้วยท้องถิ่นนิยม Localism Future of Thailand" ว่า ประเทศไทยจะเติบโตแบบเดิมๆ ไม่ได้อีกต่อไป ต้องหารูปแบบการเติบโตใหม่ๆ ที่ต่างไปจากที่เราเคยเติบโต
ตัวสะท้อนที่เห็นชัด ว่าเราจะเติบโตแบบเดิมไม่ได้ ด้านแรก หากดูในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของจีดีพี ถือว่าไม่ได้สะท้อนเรื่องของความความมั่งคั่งหรือรายได้ของครัวเรือนเท่าที่ควร
โดยเฉพาะหากมองไปข้างหน้า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากปัญหาเชิงโครงสร้าง ดังนั้นแม้ตัวเลขจีดีพีเติบโต แต่ไม่ได้หมายความว่า รายได้หรือความมั่งคั่งของครัวเรือนหรือรายได้ต่างเพิ่มขึ้น
ด้านที่สอง ในมุมของภาคธุรกิจ เห็นการกระจุกตัวค่อนข้างสูง โดยปัจจุบันสัดส่วนรายได้จากธุรกิจขนาดใหญ่ที่อยู่ที่ 5% แต่มีสัดส่วนรายได้สูงถึงเกือบ 90% เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากเทียบกับก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 84-85%
สะท้อนการกระจุกตัวของรายได้ธุรกิจที่เพิ่มขึ้น มิหน่ำซ้ำ หากดูธุรกิจรายเล็กที่เพิ่งเกิดใหม่ และมีการก่อตั้งธุรกิจมาน้อยกว่า 5 ปีหลัก มีอัตราการปิดกิจการ หรือการตายที่เพิ่มสูงขึ้น สะท้อนถึง Dynamic ที่เริ่มลดลง สะท้อนการกระจุกตัวสูงขึ้น
ด้านที่สาม ภายใต้บริบทของโลกที่เปลี่ยนไป ทำให้อานิสงส์ที่ประเทศไทยเคยได้รับ ไม่เหมือนเดิม โดยเฉพาะ การพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศหรือ FDI ที่เข้ามาในประเทศ ที่ไทยหวังพึ่งแบบเดิมไม่ได้เหมือนเดิม หากดูมาร์เก็ตแชร์ของไทยเคยอยู่ที่ 0.57% ซึ่งสูงกว่าเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย เวียดนาม มาก แต่ปัจจุบัน FDI เวียดนามแซงไทยไปมาก
สะท้อนให้เห็นว่าเราทำแบบเดิมไม่ได้อีกต่อไป ไม่เหมือนอดีตที่เรามีเสน่ห์แม้เรานั่งเฉยๆ เขาก็วิ่งมาหาเรา แต่ตอนนี้ไม่ใช่อีกต่อไป ดังนั้นประเทศไทยต้องปรับตัว ต้องออกแรงมากขึ้น จะหวังพึ่งต่างชาติไม่ได้เหมือนเดิม หมายความเราจำเป็นที่ต้องพึ่งความเข้มแข็งภายในของเรามากขึ้น
“เราไม่ควรโตแบบล่าตัวเลขอย่างเดียว ล่าจีดีพี ล่า FDI เพราะการเติบโตที่ผ่านมาก็ไม่ได้สะท้อนไปสู่เรื่องของชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ตัวเลขที่ต้องล่าคือ ชีวิตความเป็นอยู่ของคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายได้คน ความมั่งคั่งของคน ที่เป็นสะท้อนคุณภาพของชีวิตความเป็นอยู่ของคน เช่น ตัวเลขสาธารณสุข การศึกษา และโอกาสต่างๆ เพราะตัวเลขวันนี้ไม่ได้สวยหรูเหมือนเมื่อก่อน”
ดังนั้นการเติบโตอย่างยั่งยืนมากขึ้น เข้มแข็งกว่าเดิม หรือเติบโตบนรูปแบบใหม่ ต้องอาศัยหลายๆ เรื่อง ภายใต้ More Local
ด้านแรก เน้นการเติบโตแบบท้องถิ่นมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันประชากร 80% อยู่นอกพื้นที่ กทม./ปริมณฑล
ซึ่งต้องสร้างความมั่งคั่งนอกพื้นที่ และด้านที่สอง ธุรกิจประมาณ 80% อยู่นอกพื้นที่ กทม./ปริมณฑล ซึ่งหากดูสัดส่วนประชากรเมืองหลวง และเมืองรองมีช่องว่าง (Gap) มหาศาล และด้านที่สาม จากตัวเลข World Bank
สะท้อนว่าการเติบโตจีดีพีสูง แต่การเติบโตของประชากรเพียง 0.22% เท่านั้น
อย่างไรก็ดี การเติบโตแบบท้องถิ่น จะต้องโตแบบแข่งขันได้ และเป็นการแข่งขันกับโลกได้ด้วย ไม่เฉพาะแข่งขันเฉพาะจังหวัดเท่านั้น แต่การเติบโตที่แข่งขันได้ ต้องก้าวข้ามหลายด้าน
ซึ่งสิ่งที่ไม่ควรทำ หรือของที่ไม่ใช่
ด้านแรก การเติบโตโดยโดยอาศัยความหนาแน่นของพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่เริ่มส่งผลกระทบ จากความหนาแน่นเหล่านี้แล้ว ทั้งความแออัด ต้นทุนที่สูงขึ้น ที่เริ่มเห็นจีดีพีต่อหัวของกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ชะลอตัวลง
ด้านที่สอง นโยบายที่เน้นการกระจายความเจริญไปพื้นที่ต่างๆ ที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก เช่น การพยายามไปพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือ Spacial Economic Zone เพื่อดึงดูดความมั่งคั่งการลงทุนต่าง ซึ่งจากการทำมาตั้งแต่ ปี 2558 พบว่ามีมูลค่าลงทุน หากเทียบกับสัดส่วนของมูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในประเทศทั้งหมด ที่พบว่าอยู่เพียง 0.5% หรือไม่ถึง1% ดังนั้นแม้นโยบายเหล่านี้ เป็นเจตนารมณ์ที่ดีของนโยบายรัฐ เพื่อหวังให้เกิดการกระจายความเจริญ แต่หากไม่ได้ศักยภาพต่างๆ นโยบายพวกนี้อาจเป็นนโยบายที่ไม่ใช่
ส่วนสิ่งที่ “ใช่” คือ การสร้างท้องถิ่นสากลให้มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน จุดเด่นแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ทั้งทรัพยากร และประวัติศาสตร์ แต่จะต้องแข่งขันกับโลกได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ แต่มีมูลค่าสูงขึ้น โดยการที่ทำให้ท้องถิ่นสากลได้ ต้องมี 5-6 เรื่อง
1.เชื่อมกับตลาด แต่จากท้องถิ่นที่ไม่หนาแน่น กระจายไม่เยอะ ทำให้ต้นทุนจะต่ำได้น้อยมาก แต่กระแสออนไลน์จะทำให้การเชื่อมกับตลาดได้ง่ายขึ้น
2.สร้างมูลค่าเพิ่มโดยการหาจุดเด่น และเอกลักษณ์
3.ร่วมมือกับพันธมิตร (Partner) จะช่วยได้ โดยตัวเล็กจับมือกับตัวใหญ่ เพื่อสร้างโอกาสที่เป็น Win-Win
4.ทำให้เมืองรองโต ทำให้เกิดการเข้าถึงเมืองรอง สร้างการกระจุกตัวในเมืองใหม่ๆ
5.ให้ท้องถิ่นบริหารจัดการเองได้ เพราะอะไรที่จากส่วนกลางแบบ One size fits all จะไม่เหมาะกับทุกพื้นที่ เช่น ต่างประเทศที่พัฒนาได้ดี อาทิ เกาะเจจู ของเกาหลีที่ให้พื้นที่ออกนโยบายเอง ทำให้รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า จากเดิมอยู่ที่ 1,500 ดอลลาร์
6.สร้างระบบติดตาม ประเทศที่ทำได้ดี คือ เวียดนาม ที่มีการคำนวณความสามารถในการแข่งขันในแต่ละจังหวัด และแต่ละพื้นที่ โดยมีการสำรวจความเห็นนักลงทุนถึงกฎระเบียบการลงทุน และอุปสรรคมีอะไรบ้าง เพื่อพยายามให้เกิดความสามารถในการแข่งขัน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์