แนวทางวิเคราะห์ภาษีจากการรับติดตั้งไฟฟ้า ควรจดบริษัทหรือไม่
รับติดตั้งระบบไฟฟ้า มีหน้าที่ต้องเสียภาษี แต่จะต้องเสียภาษีอย่างไร หรือรูปแบบการรับติดตั้งไฟฟ้าควรต้องจดบริษัทจึงจะถูกต้อง อ่านรายละเอียดได้ที่นี่
เนื่องจากเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการดำรงชีวิตของผู้คน แม้ยามค่ำคืนทุกบ้านเรือนก็ยังต้องใช้แสงสว่าง จึงทำให้ระบบไฟฟ้าภายในบ้านต้องมีการวางระบบอย่างถูกต้อง ปลอดภัย และสวยงามไม่เกะกะรกตา ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละบ้านจึงมีความจำเป็นต้องจ้างช่างมาติดตั้งระบบไฟฟ้า เพื่อให้เกิดความปลอดภัยที่สุด
ดังนั้น ผู้ที่รับติดตั้งระบบไฟฟ้าเหล่านี้ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอย่างแน่นอน แต่จะต้องเสียภาษีอย่างไร หรือรูปแบบการรับติดตั้งไฟฟ้าควรต้องจดบริษัทจึงจะถูกต้อง ไปติดตามพร้อมกัน
รับติดตั้งระบบไฟฟ้าต้องทำในนาม “บุคคลธรรมดา” หรือ “นิติบุคคล”
การรับติดตั้งระบบไฟฟ้า จะครอบคลุมถึงการติดตั้งระบบทุกประเภทของอาคาร บ้านเรือน และงานโครงสร้างด้านวิศวกรรมโยธาด้วย เช่น
- การติดตั้งข้อต่อและการเดินสายไฟ
- ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง
- ระบบรักษาความปลอดภัย
- ระบบเตือนอัคคีภัย
- ไฟถนนและสัญญาณไฟ
- ไฟทางวิ่งของเครื่องบิน
- การเดินสายโทรคมนาคมสร้างเครือข่ายคอมพิวเตอร์และโทรทัศน์ทางสายเคเบิล รวมทั้งเส้นใยนำแสงจานดาวเทียม
- การเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เครื่องไฟฟ้าในครัวเรือน รวมทั้งแผงไฟฟ้าควบคุมความร้อน
ทั้งนี้ การรับติดตั้งระบบไฟฟ้า สามารถทำได้ทั้งในนาม “บุคคลธรรมดา” และในนาม “นิติบุคคล” เพราะกฎหมายไม่ได้บังคับว่าหหากมีการรับติดตั้งระบบไฟฟ้า จะต้องดำเนินธุรกิจในนามนิติบุคคลเท่านั้น แต่เจ้าของธุรกิจควรทำในนามบุคคลธรรมกาหรือทำในนามนิติบุคคล ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยเรื่องการบริหารจัดการและภาษีที่เกิดขึ้นของแต่ละกิจการนั่นเอง
ภาษีที่เกี่ยวข้องเมื่อรับติดตั้งไฟฟ้าแบบบุคคลธรรมดา
การเลือกว่าตนเองเหมาะที่จะดำเนินกิจการรับติดตั้งระบบไฟฟ้าในนามบุคคลธรรมดาดีหรือไม่นั้น สามารถวิเคราะห์ได้จากเงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้
1.ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งแบ่งเป็น 3 ประเภทเงินได้ คือ
1.1 เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2 หรือมาตรา 40(2) ดำเนินงานรับติดตั้งระบบไฟฟ้า โดยปฏิบัติงานเพียงคนเดียว ไม่มีการจ้างพนักงานประจำ และรับแต่ค่าแรง ไม่มีการจัดการวัสดุอุปกรณ์เอง หักค่าใช้จ่ายได้ 100,000 บาท
1.2 เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 7 หรือมาตรา 40(7) รับเหมา ธุรกิจลักษณะนี้จะเหมาทั้งค่าแรง วัสดุอุปกรณ์ในการติดตั้งทั้งหมด
1.3 เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 หรือมาตรา 40(8) หากมีการจ้างงาน มีพนักงาน รับเชิงธุรกิจอย่างจริงจัง มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูง จะจัดอยู่มาตรา 40(8)
2.มาตรา 40(7) และ 40(8) หักค่าใช้จ่ายได้ 2 แบบคือ
2.1 หักแบบเหมา 60% ได้ โดยไม่ต้องเก็บเอกสารหลักฐานใดๆ
2.2 หักค่าใช้จ่ายตามจริง ซึ่งจำเป็นต้องมีหลักฐานเอกสาร ใบเสร็จ ใบกำกับภาษีครบ
3.คำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากรายได้ทั้งปี สูตรคือ (รายได้ – ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย
4.นำรายได้หักลบด้วยค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้ว ให้นำรายได้สุทธิที่ได้มาคูณกับอัตราภาษีก้าวหน้าตั้งแต่ 5-35%
5.กิจการในนามบุคคลธรรมดาได้ยกเว้นภาษี 150,000 บาทแรก
6.ไม่ต้องทำบัญชี งบการเงิน และภาษีประจำเดือนส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยกเว้นรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และยื่นแบบ ภ.พ.30 แก่กรมสรรพากรทุกเดือน
ภาษีที่เกี่ยวข้องเมื่อรับติดตั้งไฟฟ้าแบบนิติบุคคล
นอกจากกิจการจะสามารถรับติดตั้งไฟฟ้าในนามบุคคลธรรมดาได้แล้ว ในบางกิจการเมื่อวิเคราะห์ดีๆ แล้ว อาจเหมาะดำเนินการในนามนิติบุคคลมากกว่า ซึ่งสามารถวิเคราะห์ได้ตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
1.ยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคล 2 ครั้ง คือ
1.1 ภ.ง.ด.51 ภาษีเงินได้นิติบุคคล ครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี (6 เดือน)
1.2 ภ.ง.ด.50 ภาษีเงินได้นิติบุคคลสิ้นปี
2.หักค่าใช้จ่ายตามจริง และต้องทำบันทึกรายงานบัญชี พร้อมกับเก็บหลักฐานเอกสาร ใบเสร็จ ใบกำกับภาษีไว้ให้ครบ
3.ต้องดำเนินงานรับติดตั้งไฟฟ้า โดยมีหุ้นส่วนและมีการจ้างพนักงานประจำปฏิบัติงานในกิจการ
4.คำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิ โดยมีสูตรการคำนวณคือ (รายได้ – ค่าใช้จ่าย) = กำไรสุทธิ
5.นำกำไรสุทธิที่ได้มาเปรียบเทียบตามอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ในอัตราภาษี 15-20% (SME)
6.ดำเนินงานรับติดตั้งระบบไฟฟ้าในนามนิติบุคคล จะได้ยกเว้นภาษี 300,000 บาทแรก
7.ต้องจัดทำบัญชี งบการเงิน และภาษีประจำเดือน ประจำปี ตามที่กฎหมายกำหนดส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท ต้องจด VAT พร้อมกับยื่นแบบ ภ.พ.30 แก่กรมสรรพากรทุกเดือน แม้ว่าเดือนนั้นๆ จะไม่มีรายได้ก็ตาม
สรุป...ภาษีมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจจดบริษัทรับติดตั้งไฟฟ้า
เชื่อว่าเมื่อมาถึงตรงนี้ ผู้มีรายได้จำนวนมากที่รับติดตั้งไฟฟ้าแต่ทำในนนามบุคคลธรรมดา อาจจะเริ่มกังวลว่าควรจจะจดบริษัทหรือไม่ หรือจดบริษัทตอนไหนดี ซึ่งหลักๆ แล้วหากกิจการมีความต้องการขยายธุรกิจของตนเองในการรับติดตั้งระบบไฟฟ้า ต้องการสร้างความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้น ทั้งต่อลูกค้าและการหาแหล่งเงินทุนเพิ่ม
รวมถึง ณ ตอนนี้ มีพนักงานปฏิบัติงานในกิจการจำนวนมาก มีรายรับสูงมากทำให้ต้องเสียภาษีสูงตามไปด้วย หรือเมื่อลองคำนวณภาษีแล้ว อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เสียอยู่สูงกว่า 20% ก็อาจต้องพิจารณาจดบริษัททำในนามนิติบุคคลจะดีต่อการดำเนินกิจการของคุณนั่นเอง
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting