ยุคทอง ‘อาเซียน’ กองทุนไหลเข้า ‘หุ้น-บอนด์’ ไทย รับดอกเบี้ยขาลง

ยุคทอง ‘อาเซียน’ กองทุนไหลเข้า ‘หุ้น-บอนด์’ ไทย รับดอกเบี้ยขาลง

ยุคทอง ‘อาเซียน’ กองทุนเทเงินไหลเข้า ‘หุ้น-บอนด์’ ไทย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ รับดอกเบี้ยขาลง คาดสกุลเงินกลุ่มอาเซียนมีโอกาส 'แข็งค่า'

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า นักลงทุนทั่วโลกหันมาให้ความสนใจกับตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ “อาเซียน” มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะปรับลด “ดอกเบี้ย” ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยทำให้ต้นทุนทางการเงินลดลง และดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น เช่น หุ้น และพันธบัตรในภูมิภาคอาเซียน

ยุคทอง ‘อาเซียน’ กองทุนไหลเข้า ‘หุ้น-บอนด์’ ไทย รับดอกเบี้ยขาลง อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์สูงกว่าประเทศอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกันอย่างมีนัยสำคัญ

ประเทศไทย, อินโดนีเซีย และมาเลเซีย กำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลกอย่างมากในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา และซื้อสุทธิหุ้นของอินโดนีเซีย, มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ติดต่อกัน 3 เดือน การตัดสินใจเข้ามาลงทุนของนักลงทุนสถาบันรายใหญ่ ทำให้เงินทุนไหลเข้าสู่ภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สกุลเงิน และตลาดหุ้นของประเทศในอาเซียนมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่

ธนาคารกลางในกลุ่มประเทศอาเซียนกำลังเดินหน้าปรับลดอัตราดอกเบี้ย นำโดยฟิลิปปินส์ได้ลดดอกเบี้ยไปในเดือนส.ค.ที่ผ่านมา นอกจากนี้นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าอินโดนีเซียจะปรับลดดอกเบี้ยตามในสัปดาห์นี้

โจวิน เตียว ชิน-เคอร์ จาก Amundi Singapore มองว่าตลาดพันธบัตร และสกุลเงินในอาเซียนยังมีโอกาสเติบโตในระยะกลาง โดยเฉพาะในประเทศที่มีผลตอบแทนสูง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงในภูมิภาคยังสูงอยู่ การที่ธนาคารกลางมีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง จะส่งผลดีต่อตลาดพันธบัตร ทำให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้น

‘ยุคทอง’ อาเซียน

หนึ่งในกองทุนที่ให้ความสนใจอาเซียนคือ “แบล็กร็อก” (BlackRock) กำลังมองหาโอกาสในการซื้อพันธบัตรรัฐบาลของฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนสูงในเดือนนี้ BlackRock เชื่อว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐและธนาคารกลางในภูมิภาค จะช่วยหนุนราคาพันธบัตร และทำให้เกิดผลตอบแทนที่ดี

นีราช เซธ หัวหน้าฝ่ายตราสารหนี้พื้นฐานแห่งเอเชียจาก BlackRock ในสิงคโปร์ กล่าวว่า “นี่คือยุคทองของตราสารหนี้เอเชีย โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย” 

ดัชนี MSCI Asean เพิ่มขึ้น 15% ในไตรมาสนี้ ในขณะที่ดัชนีหุ้นตลาดเกิดใหม่โดยรวมแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง

นักลงทุนสนใจ 'อาเซียน' 

ข้อมูลจาก Bloomberg ระบุว่าสกุลเงินในอาเซียนยังคงถูกประเมินค่าต่ำกว่าความเป็นจริง โดยอัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงของภูมิภาคต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีถึง 1.8% ขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ เช่น ละตินอเมริกา และยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา มีอัตราแลกเปลี่ยนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 2.2% และ 4.8% ตามลำดับ ซึ่งหมายความว่าสกุลเงินในภูมิภาคของเรายังมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้อีก

ยุคทอง ‘อาเซียน’ กองทุนไหลเข้า ‘หุ้น-บอนด์’ ไทย รับดอกเบี้ยขาลง สกุลเงินของกลุ่มประเทศอาเซียนกำลังมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ทั่วโลกในช่วงระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา

ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนยิ่งทำให้นักลงทุนสนใจอาเซียนมากขึ้น จากแนวคิด 'friend-shoring' หรือการเลือกลงทุนในประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการเมืองที่ดีกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

สเตฟานี โฮลต์เซ-เจน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Deutsche Bank AG ในสิงคโปร์มองว่า อาเซียนมีศักยภาพในการเติบโตสูงขึ้น เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกกำลังมองหาที่จะกระจายฐานการผลิตออกจากจีน ซึ่งอาเซียนมีความได้เปรียบทั้งในแง่ของทำเลที่ตั้งที่อยู่ใกล้จีน และอินเดีย 

อ้างอิง Bloomberg

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์