ลดคาร์บอน : เป้าหมายที่ไกลเกินฝันของ SME?
การปรับตัวเพื่อความยั่งยืนสำหรับ SME ไทย ไม่เพียงแต่จะช่วยลดผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ SME ในตลาดโลก โดยเฉพาะที่เขาเรียกว่า “Carbon Competitiveness” หรือความสามารถในการแข่งขันด้านการลดการปล่อยคาร์บอน เมื่อผนวกความมุ่งมั่นนี้เข้ากับการสนับสนุนที่เหมาะสม SME ไทยจะสามารถสร้างผลกำไรเพื่อต่อยอดธุรกิจ ยกระดับตนเองสู่ความยั่งยืน และนำพาเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของไทยไปสู่อนาคตสีเขียวได้
สวัสดีครับ
การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นตัวการของภาวะโลกร้อน ได้กลายเป็นวาระสำคัญระดับโลกที่ทุกธุรกิจต้องให้ความสนใจ แต่สำหรับภาคธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ที่คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35 ของ GDP ไทย รวมถึงสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศกว่า 6.1 ล้านล้านบาท ต้องเรียนตามตรงว่าในปัจจุบันลำพังการ “ประคอง” ธุรกิจให้อยู่รอดเพียงอย่างเดียวนับว่าสาหัสอยู่แล้ว ดังนั้น ในมุมของ SME การเปลี่ยนจาก “น้ำตาล” ไป “เขียว” ดูเหมือนจะเป็นเรื่องรองลงไปครับ
สาเหตุหลักที่ SME ไม่สามารถให้ความสำคัญกับความยั่งยืนได้อย่างเต็มที่เนื่องจากส่วนใหญ่ต้องมุ่งเน้นผลกำไรเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้เป็นหลัก สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้รายงานข้อมูลหนี้สินกิจการของ SME ในไตรมาส 1 ปี 2567 โดยผู้ประกอบการ SME ถึงร้อยละ 63.9 บอกว่า ธุรกิจของตนนั้นมีภาระหนี้สินเพิ่มสูงขึ้น ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการค้าและภาคการผลิต ตัวเลขนี้จึงสะท้อนว่า SME จำนวนไม่น้อยต้องแบกภาระถึงสองอย่าง หนึ่งคือต้องรอด และสองคือต้องหาเงินเพื่อชำระหนี้ ดังนั้น การลงทุนเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนแทบจะไม่อยู่ในสมการการเติบโตเลย
อย่างไรก็ตาม ด้วยแนวโน้มโลกสีเขียวที่มาแรงขึ้นเรื่อยๆ เราจะเริ่มเห็น SME บางส่วนให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของบริษัทขนาดใหญ่ เนื่องจากบริษัทยักษ์ใหญ่มักมีนโยบายด้านความยั่งยืนที่เข้มงวด และคาดหวังให้ซัพพลายเออร์ของตนปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้ SME ในกลุ่มนี้จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรักษาความสัมพันธ์ทางธุรกิจ รวมถึงโอกาสในการเติบโต
อย่างกรณีศึกษาในต่างประเทศ อิเกีย (IKEA) บริษัทจัดจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ระดับโลกที่คนไทยรู้จักกันดี เป็นตัวอย่างที่ดีในการช่วยธุรกิจ SME ปรับตัวเพื่อความยั่งยืน โดยบริษัทได้สนับสนุนให้ซัพพลายเออร์เข้าถึงและใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน ยิ่งไปกว่านั้น ซัพพลายเออร์ของ IKEA ต้องยอมรับในหลักการ IWAY หรือแนวทางของ IKEA ในการจัดหาผลิตภัณฑ์ บริการ วัสดุ และส่วนประกอบอย่างรับผิดชอบซึ่งหลักการนี้ได้กำหนดความคาดหวังที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อม สังคม และสภาพการทำงานไว้อย่างชัดเจน แนวทางนี้ไม่เพียงแต่จะมีส่วนช่วยให้ IKEA ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2022 ได้ถึงร้อยละ 5 เท่านั้น แต่ยังช่วยให้ซัพพลายเออร์ปรับตัวสู่การใช้แนวปฏิบัติด้าน ESG ได้อย่างราบรื่นอีกด้วย
ขณะเดียวกัน SME ไทย อาจสามารถเริ่มต้นง่ายๆ กับแนวทางการดำเนินธุรกิจสีเขียวเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์กับบริษัทขนาดใหญ่ผ่านแนวคิด 4 ข้อ ได้แก่
1. ใช้แนวทางประหยัดพลังงาน ปรับเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน เช่น หลอดไฟ LED ระบบปรับอากาศที่ประหยัดพลังงาน หรือเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพสูง รวมถึง ใช้ระบบจัดการพลังงานที่ดีเพื่อลดต้นทุนการดำเนินงานและลดการปล่อยคาร์บอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. ใช้พลังงานหมุนเวียน หันมาใช้แผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาอาคารหรือโรงงาน เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งปัจจุบันมีสถาบันการเงินในประเทศที่พร้อมให้การสนับสนุนด้านเงินทุนในด้านนี้อยู่แล้ว อาทิ SME Transition Loan หรือสินเชื่อเพื่อการเปลี่ยนผ่านเพื่อความยั่งยืน ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เป็นต้น
3. ลดของเสียและรีไซเคิล นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ในธุรกิจสามารถช่วยลดการใช้ทรัพยากรและลดปริมาณของเสียได้ SME สามารถเริ่มจากการวิเคราะห์กระบวนการผลิตเพื่อลดการสูญเสียวัตถุดิบ นำของเสียกลับมาใช้ใหม่ หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้
4. สร้างนวัตกรรมและปรับโมเดลธุรกิจ SME บางแห่งได้เริ่มศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจของตนเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน เช่น เปลี่ยนการขนส่งสินค้าจากการใช้ยานยนต์สันดาป (ICE) ไปเป็น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่สามารถช่วยลดทั้งต้นทุนการขนส่งและการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ รวมถึงการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการบริหารจัดการเส้นทางการขนส่งสินค้า (Route Optimization) เป็นต้น
แม้ในระยะสั้น การปรับตัวเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนอาจเป็นความท้าทายสำหรับ SME ไทย แต่ในระยะยาว การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสถาบันการเงินได้หันมาให้ความสำคัญกับการปล่อยสินเชื่อสีเขียวมากขึ้น และพร้อมยื่นมือเข้าช่วย SME เพื่อเปลี่ยนผ่านอย่างเต็มที่ ผ่านทั้งการให้ความรู้ การสนับสนุนทางการเงิน และการสร้างแรงจูงใจต่างๆ
การปรับตัวเพื่อความยั่งยืนสำหรับ SME ไทย ไม่เพียงแต่จะช่วยลดผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ SME ในตลาดโลก โดยเฉพาะที่เขาเรียกว่า “Carbon Competitiveness” หรือความสามารถในการแข่งขันด้านการลดการปล่อยคาร์บอน เมื่อผนวกความมุ่งมั่นนี้เข้ากับการสนับสนุนที่เหมาะสม SME ไทยจะสามารถสร้างผลกำไรเพื่อต่อยอดธุรกิจ ยกระดับตนเองสู่ความยั่งยืน และนำพาเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของไทยไปสู่อนาคตสีเขียวได้ ท้ายนี้อยากขอฝากไว้ว่า แม้การเริ่มจะ “ยาก” แต่ทุกอย่าง “เป็นไปได้” ครับ