ต่างชาติมอง ’เงินบาท’ พุ่งแข็งค่าแรงสุดในรอบ 26 ปี ฉุด ’ท่องเที่ยว-ส่งออก‘ ไทย
ต่างชาติมอง ‘เงินบาทแข็งค่า’ แรงสุดในรอบ 26 ปี กระทบภาคส่งออกไทยแข่งขันยาก ฉุดยอดนักท่องเที่ยวไม่เข้าเป้า ชาเลนจ์ใหม่นายกและธปท. รักษาเสถียรภาพค่าเงิน
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า “ค่าเงินบาท” กำลังแข็งค่าขึ้น อย่างรวดเร็วที่สุดในรอบ 26 ปี นับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจเอเชียในปี 2541 ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทย ที่กำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆ
ขณะที่ค่าเงิน “ดอลลาร์” แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 10% เมื่อเทียบกับเงินบาทนับตั้งแต่สิ้นเดือนมิ.ย.ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 20 ปี ทำให้ผู้ประกอบการเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาดำเนินมาตรการควบคุมสถานการณ์นี้
กระทบ ‘ท่องเที่ยว-ส่งออก’
แม้การแข็งค่าของเงินบาทครั้งนี้จะเป็นผลพวงมาจากการที่ดอลลาร์อ่อนค่าลงก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะปรับลดดอกเบี้ย แต่การแข็งค่าที่เกินความคาดหมายเมื่อเทียบกับสกุลเงินของคู่ค้าสำคัญ ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยลดลง ผู้ซื้อต่างชาติอาจหันไปหาสินค้าจากประเทศอื่นที่มีราคาถูกกว่า ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการส่งออกและภาคอุตสาหกรรม
ล่าสุด ทั้งพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้ออกมาเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เข้ามาดูแลและดำเนินมาตรการเพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินดอลลาร์และลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าการส่งออกของไทยคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 60% ของ GDP การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วยิ่งทำให้ภาคเอกชนประสบปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากจีนจำนวนมาก
“ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้ผู้ส่งออกได้รับผลกระทบอย่างหนัก บริษัทต่างๆดำเนินธุรกิจยากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นสิ่งที่เราต้องการคือค่าเงินบาทที่มั่นคงและความช่วยเหลือในการจัดการกับต้นทุนทางการเงินที่สูง” เกรียงไกรกล่าว
เผ่าภูมิกล่าวว่า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบกว้าง ทำให้ผู้ส่งออกทำธุรกิจได้ยากขึ้น จึงควรมีการดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าค่าเงินบาท "ไม่อ่อนหรือแข็งเกินไป และที่สำคัญที่สุดคือ ไม่ผันผวนเกินไป"
แม้ภาคการท่องเที่ยวจะยังคงเติบโต แต่การแข็งค่าของเงินบาทก็อาจส่งผลให้กำลังซื้อของนักท่องเที่ยวลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการจับจ่ายใช้สอยและการเข้าพักโรงแรม
สุรวัช อัครวรมาศ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยว่าแม้การแข็งค่าของเงินบาทจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในทันที แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ เนื่องจากการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกว่าสินค้าและบริการในประเทศไทยมีราคาสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อแรงจูงใจในการจับจ่ายใช้สอยได้
นอกจากนี้ เงินบาทแข็งค่ายังกระทบต่อเป้าหมายนักท่องเที่ยวไทยในปีนี้ โดย ศึกษิต สุวรรณดิษฐกุล นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยระบุว่า หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป อาจส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย เนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นจะทำให้นักท่องเที่ยวต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
ประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวน 36.7 ล้านคน และคาดว่าจะมีรายได้ 2 ล้านล้านบาทในปีนี้ ซึ่งขณะนี้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาแล้วเกือบ 25 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 31% อย่างไรก็ตาม หากค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง อาจเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
บาทแข็งค่าชาเลนจ์ 'นายก-ธปท.‘
สื่อต่างประเทศมองว่า เงินบาทแข็งค่าถือเป็นความท้าทายล่าสุด สำหรับนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจและลดค่าครองชีพ ท่ามกลางการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวช้ากว่ากลุ่มประเทศอาเซียน อย่างอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ซึ่งการท่องเที่ยวและการส่งออกนับว่าเป็นเสาหลักสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาแสดงความกังวลต่อความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่รุนแรงในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา โดยค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ปรับตัวขึ้นถึง 9.14% ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดในรอบหลายเดือน และสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งปีที่ 7.96% ได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจส่งออกเป็นอย่างมาก ธปท. ยืนยันว่าจะเข้ามาดูแลและรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาท เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม
กองทุนต่างชาติทุ่มเงินราว 2.6 พันล้านดอลลาร์ไหลเข้าสู่ตลาดพันธบัตรและหุ้นไทยในไตรมาสนี้ ซึ่งช่วยหนุนค่าเงินและดัชนีหุ้นหลักได้
ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา จะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ธปท. จะต้องนำมาพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในวันที่ 16 ต.ค.นี้
คริสตัล แทน นักเศรษฐศาสตร์จาก Australia & New Zealand Banking Group มองว่าธปท.จะมีความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพสินทรัพย์และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แต่โอกาสที่ธปท. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายปีนี้ก็ยังเป็นไปได้ เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมีแนวโน้มลดลงในระยะสั้น
อย่างไรก็ดี นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้" (20 ก.ย.) ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.13 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.09 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.85-33.30 บาทต่อดอลลาร์
อ้างอิง Bloomberg