'เงินบาท' แข็งค่าแตะ 32.91 ต่อดอลลาร์ เผย 5 เดือน แข็งพรวด 11.6%

'เงินบาท' แข็งค่าแตะ 32.91 ต่อดอลลาร์ เผย 5 เดือน แข็งพรวด 11.6%

'เงินบาท' แข็งค่าแตะ 32.91 ต่อดอลลาร์ เผย 5 เดือน แข็งพรวด 11.6% ฉุดท่องเที่ยวและการส่งออกไทย หลัง 'เฟด' ลดดอกเบี้ย ทำ 'ดอลลาร์' อ่อนค่ากระทบค่าเงินเอเชีย

เงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ล่าสุดช่วงค่ำคืนที่ผ่านมา(20ก.ย.) แข็งค่าหลุดระดับ 33 บาท มาเคลื่อนไหวที่บริเวณ 32.91 บาทต่อดอลลาร์ เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งเป็นระดับการแข็งค่าสุดในรอบ 20 เดือน นับจากสิ้นเดือนม.ค.2566

\'เงินบาท\' แข็งค่าแตะ 32.91 ต่อดอลลาร์ เผย 5 เดือน แข็งพรวด 11.6%

การแข็งค่าของเงินบาทนับเป็นเรื่องน่ากังวล เพราะแข็งค่าอย่างรวดเร็ว แม้ว่าตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นเพียง 3.7% แต่หากนับจากจุดที่เงินบาททำสถิติอ่อนค่าสุดในปีนี้ที่ระดับ 37.25 บาทต่อดอลลาร์ (วันที่ 29 เม.ย.2567) จะพบว่า เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาแล้วถึง 11.6% ในเวลาไม่ถึง 5 เดือน จึงเป็นเรื่องยากในการบริหารค่าเงินของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและส่งออก

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า เงินบาทกำลังแข็งอย่างรวดเร็วที่สุดในรอบ 26 ปี นับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจเอเชียในปี 2541 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทยที่กำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆ 

ขณะที่เงินดอลลาร์ก็แข็งค่าอย่างรวดเร็วถึง 10% เมื่อเทียบกับเงินบาทนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 20 ปี ทำให้ผู้ประกอบการเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาดูแลสถานการณ์ดังกล่าว

ล่าสุด ทั้งพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้ออกมาเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เข้ามาดูแลและดำเนินมาตรการเพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินดอลลาร์และลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน


ด้าน เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า กรณีที่เฟดลดดอกเบี้ย ผลที่มีผลต่อตลาดเงิน ที่เห็นคือ การอ่อนค่าของดอลลาร์ ซึ่งอ่อนค่าไปพอสมควร ทำให้เงินบาท และค่าเงินในภูมิภาคแข็งค่ามากขึ้น  

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ซ้ำเติม ค่าเงินบาทให้แข็งค่ากว่าค่าเงินในภูมิภาค มาจากราคาทองคำในตลาดโลก ที่ทำระดับสูงสุดหรือออลล์ไทม์ไฮ ซึ่งส่วนใหญ่ค่าเงินบาทเป็นสกุลเงินที่เคลื่อนไหวกับทองคำมากกว่าค่าเงินภูมิภาค ทำให้เงินบาทแข็งค่ากว่าหลายประเทศ 

ทั้งนี้ สิ่งที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ไม่อยากเห็นคือ การผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่สูงมาก และยอมรับว่า ช่วงหลัง ค่าเงินบาทแข็งค่าค่อนข้างเร็ว โดยเฉพาะช่วงหลังตามการคาดการณ์การลดดอกเบี้ยของเฟด ทำให้ตั้งแต่ต้นปี จนถึงปัจจุบันเงินบาทแข็งค่าขึ้นแล้ว 3.1% 

สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ สาเหตุของการแข็งค่า หากมาจากเชิงปัจจัยโครงสร้าง มาจากปัจจัยเชิงพื้นฐาน หรือกรณีนี้ที่เงินบาทแข็งค่ามาจากการที่ดอลลาร์อ่อนค่า จากการที่เฟดลดดอกเบี้ย ก็ถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดแต่สิ่งที่ไม่อยากเห็นคือ การแข็งค่าขึ้นเร็ว และไม่ได้มาจากปัจจัยเชิงพื้นฐาน จากเงินร้อน(ฮอตมันนี่) หรือการเข้ามาเก็งกำไรระยะสั้น ที่ทำให้เกิดความผันผวนเกิดขึ้น ซึ่งไม่สะท้อนปัจจัยพื้นฐาน พวกนี้จะเซนซิทีฟมากกว่า แต่ปัจจุบันยังไม่เห็นสัญญาณดังกล่าว แต่ก็ต้องติดตามใกล้ชิด