ค่าเงินบาทวันนี้ 23 ก.ย.67 “แข็งค่า” สูงสุดรอบ 19 เดือน หลังเฟดเร่งลดดอกเบี้ย
ค่าเงินบาทวันนี้ 23 ก.ย.67 เปิดตลาด “แข็งค่า” แตะระดับสูงสุดรอบ 19 เดือน ที่ 32.93 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้ตามการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด แรงซื้อสินทรัพย์ไทย และโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ มองกรอบเงินบาทวันนี้ 32.80-33.00 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้" ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.93 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” ซึ่งเป็นระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 19 เดือน เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ 06 บาทต่อดอลลาร์
มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 32.60-33.30 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.80-33.00 บาทต่อดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานดัชนี PMI ของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก)
สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทสามารถแข็งค่าขึ้นทะลุแนวรับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราประเมิน ตามการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด แรงซื้อสินทรัพย์ไทย และโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ
โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น จนทะลุโซนแนวรับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราประเมินไว้ได้สำเร็จ (แกว่งตัวในกรอบ 32.90-33.15 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ (All-Time High) ได้
โดยราคาทองคำยังพอได้แรงหนุนจากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังคงร้อนแรงอยู่ ขณะเดียวกันผู้เล่นในตลาดต่างคงคาดหวังว่าเฟดจะสามารถเร่งลดดอกเบี้ยได้มากกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด
แนวโน้มค่าเงินบาท
สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินบาทนั้นยังมีอยู่ แต่เราเริ่มเห็นโอกาสที่เงินบาทอาจชะลอการแข็งค่าขึ้น หากเงินดอลลาร์รีบาวด์ขึ้นจริง รวมถึงนักลงทุนต่างชาติก็เริ่มทยอยขายทำกำไรสถานะถือครองสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทย
ส่วนราคาทองคำก็อาจไม่ได้ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง หากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางไม่ได้ร้อนแรงขึ้นชัดเจน อีกทั้ง ในเชิง valuation เงินบาทเริ่มเข้าสู่โซน Slightly Overvalued
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจรีบาวด์ขึ้นบ้าง หากรายงานดัชนี PMI ของสหรัฐ ออกมาดีกว่าข้อมูลจากประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆ หรือ ในกรณีที่บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างประเมินภาพเศรษฐกิจสหรัฐ ไม่ได้เลวร้ายนัก พร้อมย้ำจุดยืนทยอยลดดอกเบี้ยในลักษณะที่ใกล้เคียงหรือสอดคล้องกับคาดการณ์ดอกเบี้ยนโยบายล่าสุด (Dot Plot) โดยเน้นประเมินสถานการณ์แต่ละการประชุม (Data Dependent) ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินให้เหมาะสม
เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward
สำหรับสัปดาห์นี้ ควรติดตาม ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด และ ECB พร้อมรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจของบรรดาเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรม และภาคการบริการ
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ ฝั่งสหรัฐ – ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐ ทั้ง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม และภาคการบริการ (S&P Global Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนกันยายน รวมถึงอัตราเงินเฟ้อ PCE เดือนสิงหาคม นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งล่าสุดจาก CME FedWatch Tool ผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังว่า เฟดอาจเร่งลดดอกเบี้ย -50bps ได้ในการประชุมเดือนพฤศจิกายน
▪ ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิต และภาคการบริการ คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ (Inflation Expectations) และดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (IFO Business Climate) รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิต และภาคการบริการของอังกฤษด้วยเช่นกัน เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษ และทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE)
▪ ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่น ผ่านรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ อัตราเงินเฟ้อ CPI ของกรุงโตเกียว รวมถึงรอลุ้นผลการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค Liberal Democratic Party (LDP) คนใหม่ ซึ่งจะกลายมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่นด้วย ในส่วนของนโยบายการเงินนั้น ตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4.35% จนกว่าจะมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอลงกลับเข้าสู่เป้าหมาย 2%-3% ได้สำเร็จ
▪ ฝั่งไทย – ควรรอลุ้นรายงานยอดการค้าระหว่างประเทศ (Exports & Imports) เดือนสิงหาคม และจับตาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ หลังดัชนี SET เริ่มมีความเสี่ยงอาจย่อตัวลงได้บ้างในระยะสั้น อนึ่ง เงินบาทได้แข็งค่าหลุดโซน 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ตามที่เรากังวลไว้ในสัปดาห์ก่อน เปิดโอกาสให้เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นต่อทดสอบโซน 32.50-32.75 บาทต่อดอลลาร์ แต่เราคงมุมมองเดิมว่า ในเชิง Valuation การแข็งค่าของเงินบาทมากกว่าโซน 33 บาทต่อดอลลาร์นั้น ถือว่า เป็นระดับที่ Slightly Overvalued (Z-Score ของดัชนีค่าเงินบาท REER เกินระดับ +0.5) ซึ่งหากปัจจัยพื้นฐานไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เงินบาทก็ไม่ควรแข็งค่าเกินระดับดังกล่าวไปมากนัก ทำให้ผู้ประกอบการอย่างฝั่งผู้นำเข้าควรเตรียมพร้อมปิดความ จากอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือ เช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์