‘กับดัก’ การมองสั้น หนุน ศก.โตเกินตัว บั่นทอนเสถียรภาพระยะยาว

‘กับดัก’ การมองสั้น หนุน ศก.โตเกินตัว บั่นทอนเสถียรภาพระยะยาว

'พงศ์ศักดิ์' จุฬาฯ ชี้ต้นเหตุการมองแต่ระยะสั้น อาจขาดเสถียรภาพในระยะยาว จากการคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำเกินไป เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อาจหนุนให้เกิดการใช้จ่ายที่เกินตัว ในที่สุดเศรษฐกิจก็อาจโตเกินศักยภาพ กระทุ้งเกิดภาวะเงินเฟ้อ เป็นต้นเหตุก่อวิกฤติ

ความอิสระของธนาคารกลาง” มักถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงที่มี “แรงกดดัน” จากทางการเมือง เพื่อให้ปรับการดำเนินนโยบายการเงินที่ต้องการเห็นการ “ลดดอกเบี้ย” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากขึ้น ทำให้การทำหน้าที่ของธนาคารกลางถูกตั้งคำถามว่า ควรจะ “ยืนหยัด” ในการเป็น “อิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน” หรือควรจะปล่อยให้การเมืองแทรกแซง เพื่อลดความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

งานสัมมนาวิชาการภายใต้ BOT SYMPOSIUM The Economics of Balancing Today and Tomorrow มีหัวข้อที่น่าสนใจ ภายใต้การปาฐกถาพิเศษ “เหลียวหลัง-แลหน้า” อิสรภาพของธนาคารกลางกับพันธกิจของการมองไกล โดย “พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม” จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พงศ์ศักดิ์” กล่าวในหลายมิติ ในเรื่องของ “ความอิสระของธนาคารกลาง” และพันธกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเริ่มต้นที่เรื่องของการมองสั้น ซึ่งเขามองว่ามีหลายมิติ ในมิติของนโยบายการเงิน “กับดัก” ของการมองสั้น ส่งผลกระทบอย่างไรต่อการดำเนินนโยบายการเงิน? 

สิ่งสำคัญของการรักษาความสมดุล ระหว่างเป้าหมายระยะสั้น และเป้าหมายระยะยาว ถือเป็นปัญหาที่ยากที่สุดในการดำเนินนโยบายการเงิน เนื่องจากการกำหนดอัตราดอกเบี้ย มีผลทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้น และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว

‘กับดัก’ การมองสั้น หนุน ศก.โตเกินตัว บั่นทอนเสถียรภาพระยะยาว ความท้าทายที่สำคัญคือ จะรักษาสมดุลนี้อย่างไร เมื่อวัตถุประสงค์ทั้งสองอาจจะขัดแย้งกัน หากผู้กำหนดนโยบาย เลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับที่ต่ำเกินไป เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ก็อาจจะนำไปสู่การใช้จ่ายที่เกินตัว ในที่สุดเศรษฐกิจก็อาจโตเกินศักยภาพ จะเกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้นมาได้

นอกจากนี้การสะสมหนี้ “เกินตัว” ไม่ว่าจะเป็นหนี้ครัวเรือน หนี้ภาคเอกชน หนี้ภาครัฐ ก็อาจนำไปสู่ปัญหาวิกฤติทางการเงินได้ ดังที่เราเจอมาแล้ว วิกฤติต้มยำกุ้งในอดีต หรือแม้กระทั่งประสบการณ์วิกฤติการเงินโลกในปี 2008

ถ้าเราหันมามองดูการตัดสินใจระหว่างระยะสั้นกับระยะยาว เป็นธรรมดาที่ผลกระทบระยะสั้น มักจะมองเห็นได้ รู้สึกได้ทันที ทำให้มีโอกาส ถูกดึงดูดให้ติดกับดักการมองสั้น ขณะที่ผลกระทบระยะยาว แม้จะกว้างขวาง รุนแรง ก็มีโอกาสถูกมองข้าม หากธนาคารกลางได้รับแรงกดดันให้ต้องถูกมองสั้นอยู่เรื่อยไป ส่งผลต่อปัญหาความไม่สอดคล้อง ระหว่างเวลาที่อาจทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะคนเริ่มไม่แน่ใจว่าธนาคารกลางว่ากำลังให้ความสนใจกับเป้าหมายระยะยาวมากน้อยแค่ไหน ในที่สุดก็จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง และในที่สุดประสิทธิผลของนโยบายก็จะลดลง

แรงกดดันในระยะสั้นส่วนใหญ่ มักมาจากรัฐบาล ซึ่งอาจให้ความสำคัญกับการหวังผลทางการเมืองที่มีหมุดหมายที่ชัยชนะของการเลือกตั้งในครั้งหน้า นี่อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่การสร้าง “ความอิสระ” ของธนาคารกลางมีความสำคัญ! เพื่อให้ธนาคารกลางมุ่งเน้นในเรื่องของเสถียรภาพในระยะยาว

งานศึกษาที่พัฒนาของ Finn E. Kydland ร่วมกับ ศาสตราจารย์ Edward C. Prescott ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ใน ค.ศ.2004 ศึกษาปัญหาความไม่สอดคล้องระหว่างเวลา โดยใจความสรุปว่า “ความน่าเชื่อถือของนโยบายการเงินจะเกิดขึ้นได้ เมื่อรัฐบาล และธนาคารกลางสามารถหารือ ตกลงร่วมกันถึงเป้าหมายในระยะยาว

ธนาคารกลางก็ควรจะมี “อิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ความอิสระถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ในการที่ทำให้ธนาคารกลางสามารถรักษาความเชื่อมั่น และดำเนินภารกิจในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หากดูด้านความอิสระในเชิงปฏิบัติหรือเชิงพฤตินัย ในอดีตย้อนหลังไปกว่า 200 ปี ช่วงสงครามโลก ครั้งที่  2  ไทยถูกบังคับให้พิมพ์ธนบัตร โดยกองทัพญี่ปุ่น ทำให้ธนาคารกลางยุคนั้นต้องเผชิญกับ “ภาวะเงินเฟ้อ” ที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยเกิดอัตราเงินเฟ้อสูงที่สุดในรอบ 200 ปี เงินเฟ้อขณะนั้นเฉลี่ยที่ 60% แม้สูงแต่ควบคุมได้ ขณะที่เพื่อนบ้านเงินเฟ้อสูงถึง 500% แสดงให้เห็นถึง ความสำคัญการควบคุมเท่าที่กำลังจะมีในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจช่วงเวลาที่เพิ่งจะเปิดดำเนินการ

และหากดูเงินเฟ้อก่อนที่ ธปท.จะตั้ง และหลังจัดตั้ง ที่ชัดเจนมากว่า การมีสถาบันที่มีพันธกิจดูแลเสถียรภาพระยะยาวเป็นสิ่งที่สำคัญมาก การที่นโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย เน้นความระมัดระวัง ช่วยให้สามารถป้องกันเงินเฟ้อที่รุนแรงอย่างที่เคยเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ได้ และสามารถรักษาความผันผวนของเงินเฟ้อได้เป็นอย่างดี

จากบทเรียนทางประวัติศาสตร์จะได้เห็นว่าการ “ควบคุมเงินเฟ้อ” ไม่ใช่เพียงแค่การจัดการตัวเลขระยะสั้น แต่เป็นพื้นฐานสำคัญอย่างมาก ในความมั่นคงทางเศรษฐกิจระยะยาว 

การรักษาความผันผวนของเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างมั่นคง ส่งผลให้รายได้ต่อหัวประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การรักษาเสถียรภาพทางการเงินในระยะยาว เป็นพื้นฐานอันสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์